“ผ้าหอมภูษาเล” หนึ่งในผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยย้อมผ้าประเภทแร่ ของราชภัฏภูเก็ต ที่ได้นำนวัตกรรมภูมิปัญญาชาวบ้านดิน น้ำทะเล เปลือกมะพร้าว ต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน อ.กะรน จ.ภูเก็ต มาเปลี่ยนเป็นสีย้อมผ้า พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมกลิ่นชา พร้อมต่อยอดเป็นของฝากให้กับนักท่องเที่ยว ตอบโจทย์การสร้างรายเสริมอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน
ดร.ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว หัวหน้าโครงการวิจัยนวัตกรรมผ้าหอม อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ “ผ้าหอมภูษาเล” ว่า ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมดินอำเภอกะรน จังหวัดภูเก็ต เป็นหนึ่งในซีรีย์งานวิจัยในเรื่องย้อมผ้าประเภทแร่ โดยมีอันแรกคือ “ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ” ของ จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากที่ผ่านมาทางอำเภอกะรน จังหวัดภูเก็ต ประสบปัญหาด้านการท่องเที่ยวจากวิกฤตโควิด – 19 ทำให้คนในชุมชนขาดรายได้ จึงได้มีการมาปรึกษาทางมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ในการแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้
ทางโครงการวิจัยจึงได้มีการลงพื้นที่และทำการวิจัย ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวกลุ่มพรชนก อ.กะรน จ.ภูเก็ต เพื่อที่จะตอบโจทย์ให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ จึงได้นำโครงการวิจัยเรื่องผ้ามาตอบโจทย์ในเรื่องนี้ เนื่องจากได้เล็งเห็นว่า ในพื้นที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผ้ามัดย้อม เพราะแต่เดิมนั้นวิสาหกิจชุมชุนของจังหวัดภูเก็ต จะโฟกัสที่งานผ้าบาติกซึ่งเป็นผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของทางภาคใต้ จึงได้มีความคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม ที่มีเอกลักษณ์สื่อถึงความพิเศษในพื้นที่ขึ้น ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากในชื่อ “ผ้าหอมภูษาเล”
เอกลักษณ์ของผ้าหอมภูษาเลนั้นคือ การนำผ้าไปย้อมกับ ดิน น้ำทะเล และ เปลือกมะพร้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในชุมชน ด้วยการนำสำรวจทำให้พบว่าดินแดงภูเขากะรนซึ่งมีแร่ดีบุกผสมอยู่ สามารถนำมาสกัดเป็นสีย้อมผ้าโทนสีส้มที่สวยงามได้ ประกอบกับการนำน้ำทะเลในพื้นที่มาเป็นส่วนผสม ด้วยความเค็มของน้ำทะเลจะทำให้ผ้าที่นำไปย้อมกับดินมีความกระจ่างมากขึ้น และเปลือกมะพร้าวก็จะทำให้ผ้าการดูดซึมสีของผ้าดียิ่งขึ้น ซึ่งก็เข้ากับชื่อของแบรนด์ผ้ามัดย้อม เพราะคำว่า “ภู” มาจากคำว่า “ภูเก็ต” + ภูษา แปลว่า ผ้า + เล มาจากคำว่าทะเล ภูษาเล จึงหมายความว่า งานหัตถกรรมผ้าของดีจากทะเลภูเก็ต
นอกจากสีสันที่ได้จากธรรมชาติแล้ว งายวิจัยก็ยังได้มีการนำ “ชาไทย” มาผสมผสานให้เป็นกลิ่นหอม ซึ่งเข้ากันกับสีของผ้าที่เป็นโทนส้ม ทำให้มีความรู้สึกผ่อนคลาย และทำให้ผ้าดูมีมูลค่าที่สูงขึ้น อีกทั้งยังได้มีการศึกษาเทรนในอนาคต ที่ผู้คนจะใส่ใจในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากยิ่งขึ้น ผ้าหอมภูษาเลก็สามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้
“วัตถุดิบในการย้อมที่ได้ก็ไม่เป็นขยะให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น ดินและเปลือกมะพร้าว เมื่อย้อมเสร็จแล้วก็จะนำมาหมักเป็นปุ๋ยนำไปใช้ในการเกษตร ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะสู่สิ่งแวดล้อม ในทุกขั้นตอนรวมถึงวัตถุดิบที่ได้ก็มาจากธรรมชาติ ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบโจทย์ในเรื่องเทรนรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี”
การนำงานวิจัยถ่ายถอดสู่ชุมชน ทำให้ชุมชนได้นำความรู้ไปใช้ในการสร้างอาชีพ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและมีการจัดจำหน่ายจริง และเมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทางชุมชนก็จะมีสินค้าของฝากให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมกับได้ชูอัตลักษณ์ของที่ได้มาจากทรัพยากรในพื้นที่ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นนอกจากรายได้จากการท่องเที่ยวอีกด้วย