xs
xsm
sm
md
lg

โครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ภารกิจ 7 ประการ ในการเดินทางไปเยือนชุมชนอุตสาหกรรม STEAM-อวกาศ ของสหรัฐ ฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA), ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ และ บริษัท ซิกเนเจอร์ มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวที่ห้องแถลงข่าวของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม ถึงเป้าหมาย 7 ประการของคณะทำงานในโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย รุ่นที่ 3 ในการเดินทางไปเยือน ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ และศูนย์ข้อมูลข่าวสารนาซา, มหาวิทยาลัยแอละแบมาแห่งเมืองฮันส์วิลล์, NASA ศูนย์การบินอวกาศนายพล Marshall, และศูนย์ประสานงานวิทยาศาสตร์ในความร่วมมือระหว่าง NASA และ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) โครงการ SERVIR ในระหว่างวันที่ 21 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2565

คณะทำงานของโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย รุ่นที่ 3 ที่จะเดินทางไปยังเมืองฮันส์วิลล์ ของรัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA และ เป็นเมืองที่อุตสาหกรรมหลักคือ การผลิตจรวดทุกประเภท ประกอบไปด้วย นายกฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ ผศ. ดร. เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดีวิทยาลัย อุตสาหกรรม การบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักเรียนทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย 4 คน ได้แก่ นักเรียนนายเรืออากาศ จิรภัทร คำนิล, นางสาวชนิศา พร้อมพัฒนภักดี, นายถิรวัฒน์ บุญสร้าง และ นายกันตพิสิฐ ลิ้มศุภพุฒิกุล อาจารย์สอนด้านฟิสิกส์ จากสถาบันออนดีมานด์ เอ็ดดูเคชั่น 2 ท่าน ได้แก่ อาจารย์ ภัทรพล ไพศาลภาณุมาศ และ อาจารย์สรณภพ เทวปฏิคม ด.ญ. พรปวีณ์ ม้วนหรีด ตัวแทนเยาวชน Artemis Generation (ประเทศไทย); ศิลปิน BNK48 ที่มีพื้นฐานและสนใจด้านวิทยาศาสตร์ 2 คน ได้แก่ นางสาวเฌอปราง อารีย์กุล และ นางสาวกวิสรา สิงห์ปลอด

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า บทบาทของอวกาศในศตวรรษที่ 21 แตกต่างจากศตวรรษที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง ในศตวรรษนี้ ทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วโลกได้สนใจการใช้ประโยชน์คุณค่าจากอวกาศ ขยายเขตแดนธุรกิจอวกาศมากยิ่งขึ้น ความเคลื่อนไหวของทุกภาคส่วน ล้วนเป็นประจักษ์หลักฐานที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขตแดนอวกาศเป็นโอกาสของมวลมนุษยชาติ ที่กำลังขยายและเติบโตอย่างรวดเร็ว อวกาศไม่ใช่แค่การประยุกต์ใช้งานเพียงการนำทางด้วยดาวเทียมนำทางหรือ GNSS การพยากรณ์อากาศ การติดตาม PM2.5 หรือการทำ smart agriculture แต่รวมไปถึง การสร้าง ออกแบบ ผลิตดาวเทียม ผลักดัน พรบ.กิจการอวกาศ การสำรวจ วิจัยทดลองในอวกาศ การสร้างอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียม หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องการกำลังคนแรงงานที่มีความสามารถ เพื่อจะเข้าสู่ธุรกิจอวกาศและจะนำไปสู่ตลาดอาชีพใหม่ และ โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญ อีกโครงการหนึ่งที่มีเป้าหมายสำหรับเตรียมความพร้อมให้คนไทยสามารถสร้างอาชีพใหม่ในอนาคตด้านอวกาศ ตลอดจนนำไปสู่การใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อการพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรม นวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศแบบก้าวกระโดดและจะส่งผลให้อวกาศไม่ได้ไกลอย่างที่คิด แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตลอดจนการกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจสานต่อความฝันให้คนรุ่นใหม่ขยายวงกว้างเข้ามาโลดแล่นในวงการอุตสาหกรรมอวกาศมากยิ่งขึ้น

ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “อวกาศเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวอีกต่อไป” กิจการอวกาศมีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศในระดับโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ของกิจการอวกาศเพื่อรองรับภาคธุรกิจภายในประเทศที่มีการขยายตัวและเกิดธุรกิจภาคเอกชนรวมถึงความร่วมมือกับนานาชาติในวงกว้าง เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ ทั้งเรื่องการสนับสนุน Supply Chain ของอุตสาหกรรมอวกาศ การสร้างความได้เปรียบและการพัฒนากำลังคนบุคลากรด้านอวกาศ GISTDA มีฐานะเป็นองค์กรด้านกิจการอวกาศของประเทศเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ หรือ Space Industry โดย GISTDA มีความพร้อมทุกมิติแบบครบวงจร ด้านนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานกิจการอวกาศของประเทศ

ในส่วนของผู้ริเริ่ม ก่อตั้งและบริหารโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย หรือ Discover Thailand’s Astronauts Scholarship Program (DTAS) นั้น นายกฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนศูนย์ อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ ชี้แจงว่า เป้าหมายหลัก 7 ประการในการเดินทางไปครั้งนี้คือ การแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมจาก NASA, U.S. Space & Rocket Center, University of Alabama in Huntsville และ องค์กรหรือบริษัทด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงของสหรัฐอเมริกาในการศึกษาด้าน : 1. STEAM-Space, 2. การแลกเปลี่ยนบุคลากรชั้นนำ โดยเฉพาะด้าน deep tech, 3. การร่วมจัดนิทรรศการ ด้านวิทยาการและธุรกิจอวกาศ, 4. การสำรวจอวกาศร่วมกัน, 5. การวิจัยและพัฒนา STEAM-Space, 6. ธุรกิจการค้าในสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง และ 7. โครงการสีเขียวผ่านนโยบายจากอวกาศสู่ชาวบ้าน หรือ From Space To Villagers ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมของคนในประเทศร่วมกับมิตรประเทศ ให้คนไทยพร้อมต่อยุคเศรษฐกิจอวกาศใหม่ที่ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะสามารถหนีพ้นไปได้

โครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทยก่อตั้งขึ้นด้วยทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ฯ ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ ทุนในการดำเนินการของรุ่นที่ 3 ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท ออนดีมานด์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA โดยมี บริษัท ซิกเนเจอร์ มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด (ZMT) เป็นผู้บริหารโครงการ ฯ












กำลังโหลดความคิดเห็น