xs
xsm
sm
md
lg

บุก มรภ.เลย ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาคของ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว. ) นำทีมเยือนมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จัดอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และการประยุกต์ใช้ พร้อมหารือการสร้างความร่วมมือการวิจัยระหว่างสาขาวิชาฟิสิกส์และสถาบันฯ

เลย – สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจัดอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และการประยุกต์ใช้ แก่อาจารย์ นักศึกษาฟิสิกส์ และนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์สาขาการจัดการและสาขาการผลิต ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2565 โดยผสมผสานการอบรมรูปแบบออนไลน์และสถานที่จริง พร้อมกันนี้ยังมีการหารือสร้างความร่วมมือการวิจัยระหว่างสาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย กับสถาบันฯ ด้วย

ดร.ธนะพงษ์ พิมพ์เสน นักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาค สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ทางด้านฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนสู่ภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ และยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยก่อนหน้านี้สถาบันฯ เคยจัดอบรมออนไลน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และได้รับการสนใจจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ซึ่งได้ติดต่อขอความอนุเคราะห์ให้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ จึงเกิดกิจกรรมนี้ขึ้น”

สำหรับการอบรมครั้งนี้เน้นถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน อาทิ เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนและเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV เทคโนโลยีแม่เหล็กสำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เทคโนโลยีสุญญากาศ การพัฒนาทางวิศวกรรมเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

นักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาค กล่าวอีกว่า “คาดหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาหันมาสนใจเทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และได้พัฒนานักศึกษาที่มีศักยภาพมากขึ้น อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าองค์ความรู้จากในห้องเรียนนั้นนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีการหารือความร่วมมือวิจัยกับอาจารย์ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาอาจารย์และอาจจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับแสงซินโครตรอนต่อไปในอนาคต”




























กำลังโหลดความคิดเห็น