xs
xsm
sm
md
lg

ซินโครตรอนลุยหาโจทย์พัฒนา “ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ คลองไผ่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครราชสีมา - ทีมนักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนฯ สำรวจศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.คลองไผ่) เล็งใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงส่งเสริมการดำเนินงานศูนย์ วางแผนพิสูจน์เอกลักษณ์ “ขนุนไพศาลทักษิณ” ทั้งศึกษา “ต้นแจง” พืชใกล้สูญพันธุ์


ดร.กาญจนา ธรรมนู ผู้จัดการระบบลำเลียงแสงที่ 4.1 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า ได้รับการประสานจากศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ คลองไผ่ ซึ่งดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการนำงานวิจัยที่ใช้แสงซินโครตรอนมาใช้ส่งเสริมพันธกิจของ อพ.สธ.คลองไผ่ ทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ จึงได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ฯ และเก็บข้อมูลสำหรับกำหนดโจทย์วิจัย

ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ คลองไผ่ ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งใน “เควสตาการ์เดน” (Cuesta Garden) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงนิเวศ เชิงวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่หลากหลาย แหล่งท่องเที่ยวนี้อยู่บริเวณขอบที่ราบสูงโคราชที่เรียกว่าเขารูปอีโต้หรือ “เควสตา” ในภาษาสเปน มีลักษณะด้านหนึ่งเป็นผาชันและอีกด้านเป็นด้านลาดทอดตัวออกไปตลอดขอบที่ราบสูงโคราช โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใน ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

อพ.สธ.คลองไผ่ เป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ แห่งเดียวที่มีพื้นที่สำหรับบริหารจัดการเอง ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้เยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับพืชชนิดต่างๆ มีการสกัดสีจากพืชเพี่อนำไปย้อมผ้าไหม มีการแปรรูปชาจากพืชต่างๆ เช่น ชารางจืด ชาหม่อน ชามะรุม และมีรถรางนำเที่ยว พร้อมกิจกรรมสำหรับครอบครัว เช่น การเก็บพืชลงสมุดให้อยู่ได้นานเป็น 100 ปี กิจกรรมดูดาว และมีอุโมงค์ต้นหม่อนสำหรับถ่ายภาพเป็นที่ระลึก




ดร.กาญจนากล่าวต่อว่า เราจะใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนศึกษาข้อมูลเชิงลึกระดับโมเลกุลเพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์พืชของศูนย์ฯ ข้อมูลจากงานวิจัยที่เป็นความร่วมมือ จะนำไปสู่การจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลเชิงลึกของพืช เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์พันธุ์พืช รวมถึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่จะเป็นการส่งเสริมเพิ่มรายได้ให้ชุมชน




“เราเห็นศักยภาพในการศึกษาพืชหลายชนิด เช่น “ต้นแจง” ซึ่งเป็นพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ และแปรรูปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ “ขนุนไพศาลทักษิณ” ที่มีต้นพันธุ์อยู่ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อตรวจสอบความเป็นเอกลักษณ์ของขนุนไพศาลทักษิณที่ปลูกในภูมิศาสตร์ต่างกัน นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ ยังมีแนวคิดที่จะใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุต่างๆ ในหินที่ประดับในสวนหินดึกดำบรรพ์ เพื่อนำไปสู่การค้นหาแหล่งกำเนิดหินด้วย” ดร.กาญจนากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น