GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 500 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่เกษตร 136 จุด และพบจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุดทางภาคเหนือยังคงเป็น แม่ฮ่องสอน 81 จุด
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 500 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่เกษตร 136 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 133 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 94 จุด พื้นที่เขตสปก. 77 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 55 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 5 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุดทางภาคเหนือยังคงเป็น จ.แม่ฮ่องสอน 81 จุด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะอยู่ที่ จ.สกลนคร 46 จุด และ จ.อุบลราชธานี 38 จุด ตามลำดับ จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนยังคงกระจายตัวอยู่ในบริเวณตอนบนของประเทศ นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งวันนี้พบ 284 จุด และภาคเหนือ156 จุด ตามลำดับ คาดว่าน่าจะเกิดจากการเผาในกิจกรรมการเกษตร และการเผาเพื่อเข้าไปหาของป่า/ล่าสัตว์ ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม – 14 มีนาคม 2565 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อนแล้ว 11,233 จุด ตามด้วยภาคเหนือ 9,353 จุด และภาคกลาง 5,671 จุด ตามลำดับ
ส่วนเช้าวันนี้เวลา 09.00 น. หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อยู่ในระดับที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพไปจนถึงมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอนพบค่าคุณภาพอากาศ 100 Aqi ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในจังหวัดหนองคาย พบค่าคุณภาพอากาศ 113 Aqi ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ
สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ครองแชมป์ต่อเนื่องวันที่ 16 ซึ่งวันนี้พบ 2,896 จุด รองลงมาอันดับ 2 เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 2,114 จุด และอันดับที่ 3 เป็นราชอาณาจักรกัมพูชา จำนวน 820 จุด ตามลำดับ ข้อมูลจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในพื้นที่บริเวณแนวชายแดนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามา ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพและสวมใส่หน้ากากอนามัยกันด้วยนะครับ
ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THOES-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่