สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สนับสนุน วว. นำผลผลิตจากงานวิจัย “การพัฒนาระบบการผลิตพันธุ์เบญจมาศปลอดโรคเชิงพาณิชย์” ร่วมงาน “เบญจมาศบานในม่านหมอก ครั้งที่ 20” เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเบญจมาศให้มั่นคงแก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำผลผลิตจากงานวิจัย “การพัฒนาระบบการผลิตพันธุ์เบญจมาศปลอดโรคเชิงพาณิชย์” ของนักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมงาน “เบญจมาศบานในม่านหมอก ครั้งที่ 20” ที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก วช. เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเบญจมาศให้มั่นคงแก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ณัฐพงค์ จันจุฬา นักวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ดอกเบญจมาศ เป็นไม้ดอกที่เกษตรกรนิยมปลูกและเป็นไม้เศรษฐกิจ มีมูลค่าการผลิตติดอันดับ 1 ใน 4 อันดับแรกของไม้ตัดดอกมียอดการซื้อขายทั่วโลกปีละหลายพันล้านบาท สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เล็งเห็นความสำคัญและปัญหาของเกษตรกรไทย ในการเพาะพันธุ์ไม้ดอกเบญจมาศ ที่มีการใช้ต้นพันธุ์เก่ามาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้นเบญจมาศมีความอ่อนแอต่อโรคและแมลง เมื่อได้มีการปรับปรุงพันธุ์ดอกเบญจมาศให้ปลอดโรค รวมทั้ง ส่งเสริมการปลูกตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ พร้อมส่งต่อให้เกษตรกรนำไปทดลองปลูก พบว่า ดอกเบญจมาศมีความแข็งแรง สามารถลดต้นทุนด้านปุ๋ยและยา และสร้างรายได้ได้มากขึ้น 20 – 70% โดยตลาดไม้ดอกไม้ประดับ เป็นเรื่องของแฟชั่นตามยุคสมัย การปลูกไม้ดอกจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้บริโภคเป็นหลัก
โดยทีมวิจัยได้นำตัวอย่างพันธุ์เบญจมาศมาวิเคราะห์หาสาเหตุตัวก่อโรคในภาคสนาม ที่แปลงปลูกและแม่พันธุ์ ก่อนตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้พันธุ์เบญจมาศที่ปราศจากเชื้อรา แบคทีเรีย และเชื้อไวรัส จากนั้นจึงทำการเพาะเลี้ยงกลีบดอกเบญจมาศในหลอดทดลอง จนกลีบดอกพัฒนาเป็นต้นอ่อน จึงทำการตรวจโรคด้วยเทคนิค RT-PCR เพื่อตั้งแม่พันธุ์ที่ปลอดโรค และขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนในระบบไบโอรีแอคเตอร์จมชั่วคราว พร้อมทั้ง ย้ายต้นพันธุ์ และทำการอนุบาลในระบบ Clean Nursery เกิดเป็นต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ สมบูรณ์แข็งแรง และปราศจากโรค ก่อนมอบให้กับเกษตรกรกว่า 60 ราย ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เลย อุดรธานี อุบลราชธานี และนครราชสีมา เพื่อทำการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ที่เหมาะสมกับตลาดและผู้บริโภค
ด้าน นายเกียรติศักดิ์ กตกุลสัญญา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ต.มะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับของจังหวัดนครราชสีมา ที่ปลูกเบญจมาศมานานกว่า 20 ปี เล่าอีกว่า แต่ก่อนเกษตรกรเราปลูกแต่เบญจมาศสายพันธุ์เดิม ๆ แต่เมื่อ วว.และ วช.ได้เข้ามาให้ความรู้และแนะนำสายพันธ์ุใหม่ ๆ ที่ปลอดโรค จนประสบผลสำเร็จ เกษตรกรจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 100,000 บาทต่อไร่ ซึ่งเบญจมาศมีการปลูกหลายรุ่น จึงสร้างรายได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งผู้บริโภคมีความต้องการใช้อยู่ตลอด แต่จำนวนผู้ปลูกมีน้อย การปลูกเบญจมาศในเชิงพาณิชย์จึงสามารถเติบโตได้อีกไกล โดยสายพันธุ์ใหม่ของ วว.ที่เกษตรกรปลูกอยู่ ได้แก่ โมนา , ขาวญี่ปุ่น , คาเมล และ F44 เป็นต้น ซึ่งการเพาะเนื้อเยื่อไว้จำนวนหลายร้อยพันธ์ุของ วว. จะเอื้อประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมเบญจมาศของไทย
ด้านดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวว่า เบญจมาศมีการส่งออกเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ส่วนมากเป็นพันธุ์ที่มีลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ ที่เป็นคอขวดของประเทศไทยอยู่ แต่ทางนักวิจัยได้พยายามพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นพันธุ์ของไทยเอง โดยเฉพาะเรื่องความเหมาะสมการเจริญเติบโตกับสภาพอากาศของประเทศไทย ที่จะมีลักษณะของตัวดอกหรือตัวของช่อดอกที่จะแตกต่างไปจากท้องตลาด เกิดความแปลกใหม่เป็นที่ต้องการของตลาด มีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ โดยการทำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีทางด้านนิวเคลียร์ ด้วยการฉายรังสี พอเกิดการกลายพันธุ์มีการคัดเลือกพันธุ์โดยผู้ส่งออก รวมถึงผู้ที่นำไปใช้ประโยชน์อย่างนักจัดดอกไม้ เจ้าของโรงแรม หรือผู้ที่ทำงานด้านการตลาดดอกไม้ จะเข้ามาเป็นผู้คัดเลือกพันธุ์ เมื่อคัดเลือกได้แล้ว นักวิจัยจะใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เลือกสายพันธุ์ที่ปลอดโรค นำไปปลูกในพื้นที่ที่มีสภาพที่เหมาะสม พร้อมจะออกดอกที่มีคุณภาพต่อไป นอกจากเบญจมาศตัดดอกแล้ว วว. ยังได้พัฒนาเบญจมาศกระถางเพื่อนำไปประดับอีกด้วย
ทั้งนี้ เกษตรกรกว่า 20 ราย ในพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมประจำปี เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสลมหนาว และบรรยากาศทุ่งดอกเบญจมาศ ในงาน “เบญจมาศบานในม่านหมอก ครั้งที่ 20” ระหว่างวันที่ 11 -20 กุมภาพันธ์ 2565 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว ซึ่ง วว. และ วช. ภายใต้แผนโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิต และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต ลิเซียนทัส เบญจมาศและไทร พ.ศ.2563-2564” ได้ให้การสนับสนุนต้นพันธุ์เบญจมาศปลอดโรคกว่า 20,000 ต้น เพื่อใช้เป็นแม่พันธุ์ทดแทนสายพันธุ์เดิมที่อ่อนต่อโรคแก่เกษตรกร และเป็นแม่พันธุ์ใหม่ในกระบวนผลิตเป็นเบญจมาศตัดดอก โดยในปี 2566 จะขยายผลพันธุ์เบญจมาศแก่เกษตรกรเพิ่มอีก ราว 50,000ต้น รวมทั้งเตรียมคัดเลือกสายพันธ์ุที่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย