ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - คณะลิเกโคราชร้องกลอนลิเกสื่อสารถึงพ่อเมือง หลังไม่มีงานไม่มีรายได้จากการถูกยกเลิกงาน เพราะ ศบค.อำเภอไม่อนุญาตให้เปิดแสดงลิเกแต่กลับอนุญาตให้จัดงานคอนเสิร์ตงานรื่นเริงบันเทิงใจประเภทอื่นได้ พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อให้ผู้ว่าฯ ช่วยเหลือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ห้องประชุมสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นางสาวศุภารมย์ เย็นรัมย์ (ข้าวเหนียว) ตัวแทนกลุ่มศิลปินลิเกจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผ่านทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยมีนายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์ สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รับมอบหนังสือ
ข้อความในหนังสือเป็นการร้องการขอความเป็นธรรมให้แก่กลุ่มศิลปินลิเกพื้นบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนไม่มีรายได้เลี้ยงชีพ เนื่องจากทางราชการสั่งห้ามแสดงหรือยกเลิกงาน ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจเดินหน้า
นางสาวศุภารมย์ เย็นรัมย์ ตัวแทนกลุ่มศิลปินลิเกจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเดิมทีมีคณะลิเก กว่า 200 คณะ หลังจากสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้คณะลิเกได้ปิดตัวลงไป ขณะนี้เหลือเพียงประมาณ 30 คณะ
โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีเต็มของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกอาชีพ รวมทั้งศิลปินนักแสดงลิเกได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคโควิด
ถึงแม้ที่ผ่านมานักแสดงลิเกคณะต่างๆ ที่มีจำนวนมากในจังหวัดนครราชสีมา จะไม่เคยออกมารวมตัวเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาเหมือนกลุ่มศิลปิน นักร้อง นักดนตรีและผู้ประกอบการสถานบันเทิงกลางคืน แต่ใช่ว่าพวกเราจะไม่เดือดร้อน ทุกคนต่างพยายามดิ้นรนหางานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว โดยหันไปประกอบอาชีพอื่นในช่วงที่ห้ามแสดงลิเกไม่ให้มีการรวมกลุ่มป้องกันแพร่ระบาด บางครั้งจัดแสดงผ่านไลฟ์สดทางโซเชียลเพื่อหามาลัยออนไลน์ แต่รายได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร
เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้นตามลำดับ รัฐบาลมีการปรับมาตรการผ่อนคลาย การปรับระดับพื้นที่ มีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าโดยไม่ต้องกักตัว การอนุญาตให้นั่งดื่มในร้านอาหาร มีการเข้าชมกีฬา ตลอดจนการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐ เช่น เคานต์ดาวน์ปีใหม่ 2565 แต่ปรากฏว่าคณะลิเกในจังหวัดนครราชสีมากลับไม่ได้รับการผ่อนปรนหรือปลดล็อกตามไปด้วย
นางสาวศุภารมย์กล่าวอีกว่า พวกเรารู้สึกน้อยใจที่กิจกรรมอื่นๆ สามารถจัดการแสดงได้ แต่การแสดงลิเกกลับไม่ได้รับอนุญาตจากทางอำเภอในการจัดการแสดง จนทำให้ทางเจ้าภาพจัดงานต้องยกเลิกงาน เนื่องจากไม่สามารถขออนุญาตให้มีการแสดงลิเกได้ ผิดกับการแสดงดนตรี คอนเสิร์ต ทำไมทางอำเภออนุญาตให้มีการแสดงได้ ทั้งนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมและซ้ำเติมความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยเฉพาะคณะลิเก ซึ่งไม่เฉพาะเพียงแค่ลิเกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อนักดนตรี เวที คนงาน เจ้าของคณะ เจ้าภาพ รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าหาเช้ากินค่ำที่ต้องได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กัน
เสมือนว่ายังอยู่ในบรรยากาศของการล็อกดาวน์ปิดประเทศ บางพื้นที่สั่งห้ามแสดงลิเก โดยอ้างเรื่องป้องกันโควิด ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันที่ประชาชนได้ฉีดวัคซีนจำนวนมาก ขณะนี้เริ่มกระตุ้นเข็มที่ 3-4
อีกทั้งทางรัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้มีนโยบายให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับมาตรการทางด้านสาธารณสุข ล่าสุด ทาง ศบค.ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเดินหน้า โดยอนุญาตให้พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) สามารถรวมกลุ่มจัดกิจกรรมได้ไม่เกิน 500 คน และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) เฉพาะอำเภอเมืองนครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.โชคชัย อ.ปากช่อง อ.พิมาย อ.วังน้ำเขียว และ อ.สีคิ้ว สามารถรวมกลุ่มจัดกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม
ดังนั้น ทางกลุ่มนักแสดงลิเกจังหวัดนครราชสีมาขอความอนุเคราะห์และเห็นใจกลุ่มศิลปินเหล่านี้ จึงอยากเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาล และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เร่งช่วยเหลือในเบื้องต้นดังนี้ 1. ขอให้ทางจังหวัดนครราชสีมาผ่อนปรนให้เปิดการแสดงลิเกทุกคณะโดยทั่วไปได้เร็วที่สุด นอกจากช่วยสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าแล้ว ยังสืบสานวัฒนธรรมไทย ต่อลมหายใจศิลปะพื้นบ้านที่กำลังจะใกล้ตายอีกด้วย เนื่องจากลิเกสามารถทำการแสดงได้จนถึงช่วงเดือนเมษายน และจะหยุดพักในช่วงหน้าฝน ไม่สามารถแสดงในสถานที่เปิดโล่งได้
หากไม่อนุญาตให้จัดการแสดงในช่วง 3 เดือนนี้ก็จะทำให้สูญเสียรายได้ยาวต่อเนื่องถึงปลายปี โดยมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ดังที่ได้กล่าวไว้ 2. ขอให้มีนโยบายชัดเจน โดยยึดตามมาตรการ ศบค.ที่อนุญาตให้พื้นที่สีส้มสามารถรวมกลุ่มจัดกิจกรรมได้ไม่เกิน 500 คน และพื้นที่สีฟ้า รวมกลุ่มจัดกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นการเยียวยาประชาชนโดยไม่ต้องใช้งบประมาณภาครัฐแต่อย่างใด
3. กำชับส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะทางอำเภอ ได้รับทราบถึงปัญหาและข้อเรียกร้องของกลุ่มนักแสดงลิเก เพื่อไม่ให้เกิดการสั่งห้ามหรือยกเลิกกะทันหัน พร้อมกับเปิดช่องทางรับแจ้งเรื่องร้องเรียนกรณีนี้โดยเฉพาะ
ทั้งนี้ ภายหลังจากยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คณะตัวแทนลิเกจังหวัดนครราชสีมาได้ร่วมกันร้องกลอนลิเก เพื่อวิงวอนและสื่อสารไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มคณะลิเกในพื้นที่ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีงานไม่มีรายได้เลี้ยงชีพและครอบครัวด้วย
ขณะที่นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวว่า ทางจังหวัดฯ เข้าใจและรู้สึกเห็นใจบรรดาคณะลิเก นักแสดงและครอบครัวนักแสดงทุกคน โดยจะนำเข้าหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เพื่อพิจารณา นอกจากนี้การแสดงลิเกต่างๆ ก็ให้มีมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในการดูแลป้องกันอย่างเข้มข้น
เช่น เว้นระยะห่าง ตรวจ ATK ฉีดวัคซีนครบแล้ว สวมหน้ากากอนามัย การคัดกรอง ทั้งผู้แสดง ผู้ชมต่างๆ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป