xs
xsm
sm
md
lg

จะเป็นอย่างไร? เมื่อ “น้ำมันรั่วไหล” สู่ทะเลและชายฝั่ง หนึ่งในพื้นที่แห่งความหลากหลายทางชีวภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากข่าวการรั่วไหลของน้ำมันในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ของทางบริษัทสตาร์ปิโตรเลียม จำกัด มหาชน ตั้งอยู่ที่ ต.มาบตาพุด จ.ระยอง รั่วไหลลงสู่อ่าวไทยจำนวนสี่แสนลิตร ทำให้เกิดความกังวลต่อคนที่รักสิ่งแวดล้อม Science MGROnline จึงขอนำข้อมูลในเรื่องผลกระทบจากน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเล ว่าจะสร้างผลกระทบในเรื่องใดบ้าง

.
เมื่อ "น้ำมัน" รั่วไหลสู่ทะเล น้ำมันจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เริ่มต้นจากน้ำมันบางส่วนจะระเหยไปในอากาศ จากนั้นน้ำมันที่เหลือจะเปลี่ยนสภาพไปตามคุณสมบัติเฉพาะของชนิดน้ำมันนั้นๆ โดยมีปัจจัยต่างๆ เช่น แสงแดด อุณหภูมิ กระแสน้ำ โดยส่วนใหญ่ที่ยังคงเหลือที่ได้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ “คราบน้ำมัน” ที่ลอยอยู่บนผิวน้ำทะเล น้ำมันนี้จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ส่งผลให้ออกซิเจนในน้ำลดลง และปิดกั้นแสงที่ส่องลงไปยังใต้น้ำพื้น ขัดขวางการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำชนิดต่างๆ แพลงก์ตอนพืช สาหร่าย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อาหารของท้องทะเล

.
และเมื่อคราบน้ำมันลอยไปสู่พื้นที่บริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มี  หาดทราย แนวปะการัง ป่าชายเลน คราบน้ำมันจะเคลือบติดอยู่กับทราย ปะการัง รากของต้นไม้ในพื้นป่าชายเลน และวัตถุต่างๆ ที่คราบน้ำมันสัมผัส ในพื้นที่ป่าชายเลนที่มีต้นไม้ จะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ช้าและอาจตายได้ ในส่วนของแนวปะการัง ก็จะไปเกาะตามรูพรุนต่างๆ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดเล็กทำให้สัตว์เหล่านั้นตาย หรือได้รับสารพิษจากคราบน้ำมัน อีกทั้งคราบน้ำมันจะไปติดตามตัวของสัตว์ชนิดต่างๆ ที่อาศัยและหากินอยู่ในพื้นที่นี้ เช่น เปื้อนขนนก ลำตัวปู ปลา เปลือกหอย ส่งผลกระทบระยะยาวต่อการดำรงชีวิตของสัตว์เหล่านั้น

.
นอกจากจะส่งกระทบทางตรงแล้ว คราบน้ำมันยังส่งผลกระทบระยะยาว เนื่องจากจะทำให้เกิดการสะสมสารพิษในสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ปนเปื้อนคราบน้ำในแหล่งที่อยู่อาศัย และยังถือได้ว่าเป็นการการสะสมสารพิษผ่านระบบห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ผู้ผลิต เช่น แพลงก์ตอนพืช สาหร่าย ที่เป็นอาหารปลา ปู กุ้ง ซึ่งสัตว์เหล่านี้ ก็เป็นอาหารของมนุษย์ แม้ว่าเราจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่ผลกระทบก็อ้อมกลับมาหามนุษย์เราอยู่ดี

แฟ้มภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น