นักวิทยาศาสตร์ย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส ค้นพบแนวปะการังเก่าแก่ นอกชายฝั่งของเกาะตาฮิติ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ โดยมีขนาดใหญ่กว่า 3 กิโลเมตร โดยปะการังมีรูปทรงคล้ายกับดอกกุหลาบขนาดยักษ์ที่ซ้อนกันขึ้นมาหลายดอก นับเป็นหนึ่งในแนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในระดับความลึกที่มากกว่าปกติ
นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส ที่ทำงานในพื้นที่หมู่เกาะเฟรนช์โปลินีเซีย เผยการค้นพบแนวปะการังเก่าแก่ บริเวณนอกชายฝั่งของ "เกาะตาฮิติ" ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ โดยเป็นแนวปะการังที่มีรูปทรงคล้ายกับดอกกุหลาบขนาดยักษ์ที่ซ้อนกันขึ้นมาหลายดอก ในเขตน้ำทะเลลึก ประมาณ 35 - 70 เมตร และยังเป็นแนวปะการังที่มีสภาพสมบูรณ์ และยังเชื่อว่าแนวปะการังที่พบไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ ที่ทำให้ปะการังมีสีซีดจางลง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2562 จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า นับว่าแนวปะการังที่ได้ค้นพบในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในระดับความลึกที่มากกว่าปกติ และอยู่ในสภาพที่ยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และยังไม่ถูกทำลายด้วยกิจกรรมของมนุษย์
แนวปะการังที่ได้รับการค้นพบล่าสุดนี้ มีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ได้รับการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเมื่อปลายปีที่แล้วระหว่างโครงการสำรวจใต้น้ำที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูเนสโก ซึ่งแนวปะการังนี้แตกต่างจากปะการังส่วนใหญ่ในโลกที่ถูกค้นพบบริเวณน้ำตื้น เพราะปะการังนี้อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำลึกประมาณ 35 - 70 เมตร
ในการสำรวจแนวปะการังที่นี้ นับเป็นภารกิจการที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะนักวิจัยต้องสวมชุดนักประดาน้ำ และจะต้องดำลึกลงไป ซึ่งในระดับความลึกที่มากขึ้นความปลอดภัยก็จะน้อยลง และยังสามารถใช้เวลาศึกษาและสำรวจในช่วงสั้นๆ เท่านั้น การเก็บข้อมูลจึงมีข้อจำกัดอยู่มาก
มาร์ค อีคิน อดีตเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ หรือ โนอา (NOAA) ให้ความเห็นว่า แนวปะการังนี้อยู่ในจุดที่นักวิจัยหลายคนไม่ได้ใช้เวลาในการศึกษามากนัก และว่าเราอาจจะค้นพบแนวปะการังลักษณะที่ใหญ่กว่านี้ได้มากขึ้นเมื่อมีเทคโนโลยีสำหรับพื้นที่ใต้ทะเลเหล่านี้
ที่มา : เอพี