xs
xsm
sm
md
lg

การเดินทางของพืช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เราหลายคนคงไม่รู้ว่า เมื่อปี 1876 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระปิยมหาราช) ได้มีเหตุการณ์โจรกรรมพันธุ์พืชครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ Henry Wickham ผู้เป็นพนักงานกรีดต้นยางพาราในสังกัดสวนพฤกษศาสตร์ (Kew Gardens) ในกรุงลอนดอน ได้ลอบนำเมล็ดต้นยางพาราประมาณ 70,000 เมล็ด จากเมือง Santarem ในประเทศบราซิล ขึ้นเรือโดยสารมุ่งสู่กรุงลอนดอน เพื่อนำมาเพาะและปลูกเป็นต้นอ่อน ก่อนส่งปลูกต่อไปในประเทศเขตร้อน เช่น อินเดีย ศรีลังกา ซึ่งในเวลานั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
ทั้งๆ ที่ทางการอังกฤษต้องการเมล็ดเพียง 1,000 เมล็ดเท่านั้นเอง แต่ขณะผ่านด่านตรวจ Wickham ได้บอกเจ้าหน้าที่ของบราซิลว่า จะเอาไปปลูกในสวนพฤกษศาสตร์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนชาวอังกฤษทั่วไป และพนักงานบราซิลก็ไม่ประสีประสาว่า นี่คือทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ายิ่งของชาติ Wickham จึงรอดพ้นจากการถูกจับกุม หลังจากที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในป่าของบราซิล ต้องต่อสู้กับโรคมาลาเรีย มนุษย์กินคน และผู้ทรงอิทธิพลทั้งหลายเป็นเวลาร่วม 6 เดือน Wickham ก็เดินทางถึงอังกฤษ

เพราะสิ่งที่เขานำมา คือ เมล็ดของต้นยางพารา ที่เวลาต้นโตเต็มที่จะให้ยางที่ใช้ทำล้อรถยนต์ ล้อรถจักรยาน และองค์ประกอบในอุปกรณ์เครื่องจักรกลต่างๆ รวมถึงเป็นฉนวนหุ้มสายไฟฟ้าและของเล่น สำหรับโลกในยุคอุตสาหกรรมที่มีบริษัทใหญ่ๆ เช่น Goodyear และ บริษัทของ Henry Ford ยางพาราที่ Wickham นำเข้าจากบราซิล จึงได้เปลี่ยนแปลงโลกอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่ได้มีการพบวิธีการทำให้ยางสุก (vulcanization) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ยางมีความคงทนและแข็งแรง รวมถึงการมีการผลิตยางเทียมด้วย สมเด็จพระนางเจ้า Victoria แห่งอังกฤษจึงทรงโปรดเกล้าให้ Wickham ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์เป็น Sir.

ความจริงการลอบนำพันธุ์พืชจากสถานที่หนึ่งไปปลูกเผยแพร่ในอีกที่หนึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์ได้ทำกันมาเป็นเวลานานมากแล้ว เพราะเวลาต้องอพยพย้ายถิ่นฐานที่อยู่ อันเป็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือถูกศัตรูขับไล่ หรือเพราะต้องการถิ่นอาศัยใหม่ที่ดีกว่าเก่า มนุษย์มักนำพืชที่ตนชอบบริโภคเป็นอาหารติดตัวไปด้วย การเห็นภาพวาดของพืชบนผนังถ้ำ หรือบนผนังอาคาร หรือการได้อ่านงานเขียนของผู้คนในสมัยต่างๆ หรือจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโส ได้ทำให้คนทั่วไป นักพฤกษศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี ได้รู้ที่มาและที่ไปของพืชหลายชนิด ว่ามนุษย์เริ่มทำการเกษตรกรรมเมื่อ 10,000 ปีก่อน ในดินแดน Mesopotamia จากนั้นการปลูกพืชและการทำเกษตรกรรมก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลก

เมื่อ 60 ปีก่อนคริสตกาล จักรพรรดิ Julius Cesar แห่งอาณาจักรโรมันได้ทรงทอดพระเนตรเห็นชาวอิยิปต์ปลูกไม้ดอก (เยอบีรา กลาดิโอลัส ดาวเรือง ฯลฯ) ในสวน พระองค์จึงทรงโปรดให้ทหารนำพันธุ์ไม้เหล่านั้นไปปลูกในสวนของชนชั้นสูงในอาณาจักรโรมันบ้าง ผลที่ตามมาคือ โรมได้กลายเป็นศูนย์การศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ของยุโรป ดังที่ หนุ่ม Pliny เมื่อ ค.ศ. 62-113 ได้บันทึกว่า ตนเป็นคนนำต้นไม้และดอกไม้รูปทรงแปลกๆ ที่พบในต่างแดนไปปลูกในสวนสาธารณะที่โรม

ในระหว่าง ค.ศ. 98-117 จักรพรรดิ Trajan แห่งอาณาจักรโรมัน ได้ทรงแผ่พระราชอำนาจไปทั่ว จากโรมไปทางทวีปเอเชีย พระองค์ทรงส่งกองคาราวานนักสำรวจไปอาณาจักรเปอร์เซีย และทรงส่งขบวนเรือจากอียิปต์ผ่าน Red Sea ไปจนถึง Ceylon เพื่อนำสัตว์และพืชที่น่าสนใจในเอเชียกลับมาทางเรือ โดยนำไปเลี้ยงหรือปลูกที่เมือง Alexandria ในอิยิปต์ และที่โรมในอิตาลี
ในการเดินทางไปสำรวจทวีปอเมริกาเป็นครั้งที่ 4 ของ Christopher Columbus เมื่อปี 1500 ก็ได้มีการขนพืชที่ขึ้นในแหลม Yucatan กลับไปสเปนเพื่อนำไปปลูกในยุโรป แต่การปลูกไม่ได้ผล เพราะสภาพดินฟ้าอากาศไม่อำนวย


ในปี 1602 เมื่อรัฐบาล Netherlands ได้จัดตั้งบริษัท Dutch East India Company ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเดินทางเรือ ระหว่างประเทศ Holland กับ Far East ในเอเชีย โดยอ้อมผ่านแหลม Good Hope และในการเดินทางกลับ ขบวนเรือได้นำต้นส้มจากจีน สมุนไพรจากชะวา และจาก Zanzibar มาปลูกในยุโรปด้วย เมื่อครั้งที่ Sir Joseph Banks, Daniel Solander กับกัปตัน Cook เดินทางไปสำรวจทวีป Australia เมื่อปี 1768 พวกเขาได้เห็นจิงโจ้ตัวเป็นๆ เป็นครั้งแรก และได้นำต้น eucalyptus กลับไปปลูกอังกฤษด้วย

ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน การเดินทางไปต่างแดน เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก ดังนั้นเรื่องที่นักเดินทางทั้งหลายนำกลับมาเล่าจึงมักเป็นเรื่องที่เกินจริง เช่นว่า บนเกาะ Madagascar มีต้นไม้กินคน และบนเกาะนั้นยังมีต้น crown of thorns ที่มีหนามเต็ม ซึ่งหนามได้ถูกนำมาใช้ทำมงกุฎสวมพระเศียรของพระเยซู ก่อนนำพระองค์ไปตรึงบนไม้กางเขน การบอกเล่าเช่นนี้ทำให้ไม่มีใครกล้าปลูกต้นไม้ดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นต้นไม้อัปมงคล

แต่คำเล่าลือทำนองนี้ ในบางครั้งก็อาจให้ผลกระทบด้านดี เช่นในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 6 จักรพรรดิ Justinian ที่ 2 แห่งอาณาจักร Byzantine ได้ทรงโปรดให้นักบวชสองคนออกเดินทางจากกรุง Constantinople ไปเอเชียกลาง เพื่อค้นหาต้นลูกแกะแห่งเมือง Tartary ซึ่งนักเดินทางเล่าว่าได้ออกผลเป็นลูกแกะเป็นๆ ที่มีขนปุกปุย ให้ผู้คนสามารถนำขนมาทอเป็นเครื่องนุ่งห่มได้ การค้นหาต้น Vegetable Lamb of Tartary ได้ทำให้คนยุโรปได้พบแหล่งกำเนิดไหมในประเทศจีน โดยนักบวชได้ลอบขโมยหนอนไหม ไข่ไหม และใบหม่อนที่ใช้เลี้ยงไหม ออกจากประเทศจีนได้สำเร็จ การขโมยครั้งนั้นได้ทำให้โลกรู้ความลับเรื่องการผลิตไหมที่จักรพรรดิจีนทรงหวงห้ามไม่ให้คนต่างชาติรู้ เพราะได้ทรงประกาศจะประหารชีวิตคนจีนทุกคนที่บังอาจทรยศต่อประเทศชาติอย่างเด็ดขาด แต่การขู่ก็ไม่เป็นผล เพราะคนต่างชาติเป็นผู้ทำลายกฎ จนในที่สุดกฎก็หมดความศักดิ์สิทธิ์
ตามปกติการขนย้ายพืชระหว่างสถานที่สองแห่งจะเป็นการเดินทางของพืชในสองทิศทาง เช่น เมื่อจักรพรรดิ Alexander มหาราช แห่งอาณาจักร Macedonia (323 ปี – 356 ปีก่อนคริสตกาล) ทรงกรีฑาทัพบุกอินเดีย พระองค์ได้ทรงบัญชาให้ทหารในกองทัพนำอ้อย ต้นข้าว และมะม่วงที่ที่ชาวนาและชาวไร่อินเดียนิยมปลูก กลับไปปลูกยุโรปด้วย แต่เพราะสภาพดินฟ้าอากาศในยุโรปมักไม่เอื้ออาทรต่อพืชในเขตร้อน ดังนั้นการโอนย้ายพืชระหว่างจากเอเชียไปยุโรปจึงเกิดขึ้นน้อย

ครั้นเมื่อ Christopher Columbus ได้อาสารับใช้สมเด็จพระราชินี Isabella แห่งสเปนว่าจะเดินทางไปค้นหาเกาะเครื่องเทศ (Spice Islands) ที่ตั้งอยู่ใน East Indies ของเอเชีย แต่กลับพบเกาะ West Indies และทวีปอเมริกาเหนือ Columbus ได้นำต้นถั่วลิสง สัปปะรด มะเขือเทศ กล้วย มันฝรั่ง อะโวคาโด ฯลฯ กลับไปปลูกในยุโรป และในเวลาเดียวกันขบวนเรือก็ได้นำต้นกระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม และต้นกะหล่ำดอกไปปลูกในทวีปอเมริกาเป็นการแลกเปลี่ยนของขวัญกับคนพื้นเมือง และเป็นการแสดงสัมพันธ์ไมตรีกับคนต่างชาติที่ชาวยุโรปเพิ่งรู้จักด้วย

สำหรับกรณีต้นมะเขือเทศ (Lycopersicon esculentum) นั้นการศึกษาประวัติความเป็นมาของพืชชนิดนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังจากที่กองทัพล่าอาณานิคมภายในการนำของ Hernándo Cortés แห่งสเปนมีชัยชนะเหนือกองทัพของชนเผ่า Aztec แล้ว Cortes ได้เห็นชาว Aztec นอกเหนือจากการนิยมปลูกต้นทานตะวัน ดาวเรือง และว่านหางจระเข้แล้ว ก็ยังนิยมปลูกต้นมะเขือเทศเป็นไม้ประดับสวน เพราะเป็นต้นที่ไม่ให้ผลดกและผลมีสีแดงสวย จึงได้ลองนำต้นมะเขือเทศกลับประเทศสเปน เพื่อนำไปปลูกในสวนของชนชั้นสูง


ในเวลาต่อมา นักพฤกษศาสตร์ชาวอิตาเลียน ชื่อ Pier Andrea Mattioli ได้ตั้งชื่อของมะเขือเทศเป็นชื่อสามัญว่า แอปเปิลพิศวาส (puma amoris) ซึ่งได้ทำให้ชนชาวคริสต์ที่เคร่งศาสนาและพวกอนุรักษ์นิยมมีความวิตกกังวลมากว่า เพราะในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บันทึกอะไรๆ เกี่ยวกับมะเขือเทศเลย ดังนั้นคนเหล่านั้นจึงสรุปว่า ต้นมะเขือเทศนี้คงเป็นต้นไม้จากนรก และผลเป็นยาพิษ ซึ่งจะทำให้คนที่บริโภคตาย หรือมีความต้องการทางเพศอย่างรุนแรง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปๆ นักพฤกษศาสตร์ได้เข้าใจธรรมชาติของมะเขือเทศดีขึ้นและมากขึ้น ในปี 1591 Bernardino de Sahagun ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวสเปนได้เขียนบทความลงใน History of New Spain ว่า ผลมะเขือเทศมีสีที่หลากหลาย เช่น เหลืองอ่อน เหลืองเข้ม แดงอ่อน แดงเข้ม เขียว ฯลฯ ขนาดก็มีทั้งใหญ่ ปานกลางและเล็ก รูปทรงมีทั้งกลม ไข่ และทรงน้ำเต้า รสมีทั้งหวานและเปรี้ยว ด้านนายพล Bernal Diaz ซึ่งได้ร่วมรบกับ Cortes ในการยึดครองนคร Tenochtitlan ก็ได้เคยลงบันทึกว่า เวลาชาว Aztec จะบริโภคเนื้อคน พ่อครัวมักใช้หม้อต้มน้ำที่มีขนาดใหญ่ แล้วโรยพริกไทย เกลือ กับมะเขือเทศลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติ

ถึงปี 1577 Nicolas Monardas ได้เขียนบทความเรื่อง Joyful News Out of the Newer Founde World เกี่ยวกับความรู้ใหม่ที่ได้จากโลกใหม่ของชาว Aztec การอ่านบทความนี้ได้ทำให้ชาวยุโรปหันมาสนใจการทำสวนกันมาก เพราะ Monardas ได้กระตุ้นให้คนมีความรักธรรมชาติมากขึ้น เช่น ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวเนเทอร์แลนด์ทั้งประเทศได้พากันคลั่งไคล้ดอกทิวลิป (tulip mania) และในปี 1849 รัฐบาลอังกฤษได้จัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์แห่งราชสำนัก (Royal Botanic Gardens) ที่มีการปลูกต้นไม้จากต่างแดนมากมาย เช่น รักเร่, hyacinth และ บัว Victoria

แม้มะเขือเทศจะเป็นพืชที่ทุกคนต้อง “ระมัดระวัง” เรื่องการกินก็ตาม แต่เมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 พ่อครัวชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ B. Dunand ได้คิดอาหารจานเด็ดเพื่อทูลถวายแด่ จักรพรรดิ Napoleon Bonaparte อาหารจานนั้นเป็นไก่ทอดในน้ำมันมะกอก ที่ราดด้วยเหล้าองุ่น เห็ด และมะเขือเทศ และเป็นอาหารจานที่ปรุงถวาย เนื่องในพระวโรกาสที่พระองค์ทรงยึดเมือง Marengo ในแคว้น Lombardy ของอิตาลีได้ เมื่อองค์จักรพรรดิทรงโปรดอาหารจานนี้มาก โลกจึงได้รู้จัก Chicken Marengo ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จากการที่ทุกคนประจักษ์ว่า เมื่อจักรพรรดิทรงโปรดมะเขือเทศ ดังนั้นคนธรรมดาก็สามารถบริโภคมะเขือเทศได้เช่นกัน ยิ่งเมื่อนักประพันธ์ลือนามของฝรั่งเศสชื่อ Alexander Dumas ได้เขียนนวนิยายเรื่อง The Three Musketeers และได้กล่าวถึงมะเขือเทศว่า เป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง อีกทั้งมีรสหวาน จึงเหมาะสำหรับการใช้ปรุงเป็นอาหารหรือบริโภคสด ความนิยมในการบริโภคมะเขือเทศก็ได้แพร่หลายและกระจายไปทั่วจากฝรั่งเศสไปอิตาลี ตลอดไปถึงประเทศสหรัฐอเมริกา จนทำให้ประธานาธิบดี Thomas Jefferson แห่งสหรัฐอเมริกาได้จัดให้มีการปลูกมะเขือเทศในไร่ที่บ้านพักของท่านในเมือง Monticello ซึ่งอยู่ในรัฐ Verginia ด้วย

ทุกวันนี้ประเทศรัสเซีย จีน อเมริกา อิยิปต์ และอิตาลี มีการปลูกมะเขือเทศมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

มะเขือเทศ (Lycopersicon esculentum) เป็นพืชล้มลุกในวงศ์ Solanaceae ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง (เม็กซิโก เปรู เอกวาดอร์ ชิลี โคลอมเบีย และโบลีเวีย) มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า tomato ซึ่งคำนี้ได้แปลงมาจากคำ tamatl ในภาษาเม็กซิกัน ส่วนคนสเปนเรียกมะเขือเทศว่า tomate คนอิตาลีเรียก pomodoro และคนฝรั่งเศสเรียก pomme d’amour ซึ่งคำหลังสุดนี้ได้ทำให้หลายคนคิดว่า มะเขือเทศเป็นยาโป๊ว จึงไม่มีใครนำมากินอย่างเปิดเผย นอกจากจะใช้เป็นไม้ประดับ จนกระทั่งถึงปี 1835 ที่ Napolean Bonaparte ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงโปรดการบริโภคมะเขือเทศ คนทั่วไปจึงนิยมตาม

ต้นมะเขือเทศอาจมีความสูงได้ตั้งแต่ 1-2 เมตร เวลาถูกลมพัดแรง ลำต้นอาจจะหักง่าย ดังนั้น ชาวไร่จึงนิยมใช้ไม้ค้ำลำต้นไว้ และถ้าส่วนใดของลำต้นหัก จนแตะพื้นดิน ต้นจะสามารถงอกรากได้อีก ตามปกติลำต้นมีขนอ่อนนุ่มปกคลุม ใบเป็นใบรวม มีใบย่อยเรียงสสับกันคล้ายขนนก ดอกมักออกเป็นช่อๆ หนึ่งมีตั้งแต่ 3-7 ดอก ดอกมี 5-6 กลีบ และมักแตกออกตามง่ามใบ ผลมีรูปทรงต่างๆ ตามสายพันธุ์ และมีความยาวตั้งแต่ 1.5-10 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลที่สุกเต็มที่จะมีเนื้อสีเหลือง หรือสีแดงสด ในเนื้อมีเมล็ดเล็กๆ เป็นจำนวนมาก กว่า 90% ของผลเป็นเนื้อซึ่งมีโปรตีนและไขมันเพียงเล็กน้อย มีน้ำตาล glucose กับ fructose ไม่เกิน 3% ด้วยเนื้อมีวิตามิน A, B, E และ C บ้างในเนื้อ 100 กรัมอาจมีวิตามิน C ได้มากถึง 17 มิลลิกรัม นอกจากนี้ก็มีกรด folic ธาตุ potassium และเนื้อที่เป็นเส้นใยของผลไม่มี cholesterol


ในการเก็บผลมะเขือเทศนั้น ผู้เชี่ยวชาญอาหารได้เสนอแนะให้เก็บในที่ๆ มีอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส เพื่อให้ยีน (gene) ในมะเขือเทศทำงานในการเพิ่มรส หลังจากที่ต้นแก่ให้ผลแล้ว ชาวไร่มักเด็ดยอดของต้นทิ้ง เพื่อไม่ให้ต้นยืดต่อ มะเขือเทศสามารถขึ้นได้ดีทั้งในเรือนเพาะชำ และไร่ เพราะเป็นพืชที่ต้องการแดดจัด แต่ถ้าไร่มีต้นอ่อนขึ้นเป็นจำนวนมากเกินไป ชาวไร่ก็อาจจะถอนต้นอ่อนทิ้งไปบ้าง เพื่อไม่ให้มันแย่งอาหารจากต้นใหญ่ ถ้าต้นมีน้ำหล่อเลี้ยงสม่ำเสมอ ผลจะมีสีแดงสด และกลิ่นหอม เมื่อถึงเวลาผลใกล้สุก ชาวไร่อาจเก็บโดยใช้คนหรือเครื่องจักร จากนั้นก็นำผลไปอบด้วยแก๊ส ethylene เพื่อให้ผิวมีสีแดง ตามปกติผิวผลที่สุกจะแตกง่าย ถ้าถูกเก็บอย่างไม่ระมัดระวัง ตามปกติเกษตรกรต้องการให้มะเขือเทศมีผิวแข็ง เพื่อให้ทรงสภาพได้นานถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งอาจต้องใช้เทคโนโลยี เช่น CRIPR-Cas9 ตัดต่อยีน เพื่อให้บรรลุตามประสงค์นี้

ทุกวันนี้ เราใช้มะเขือเทศในการทำสลัด และใช้ผลสุกเพื่อคั้นเนื้อเป็นซอสมะเขือเทศ ส่วนกากที่เหลือนิยมใช้เลี้ยงสัตว์ และผลดิบใช้ดองเป็นมะเขือเทศกระป๋อง

ข่าวใหญ่เกี่ยวกับมะเขือเทศ คือ การมีสาร lycopene ซึ่งเป็นสาร antioxidant ที่ทำให้เนื้อมีสีแดง และสามารถป้องกันมิให้คนบริโภคเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคหัวใจ และโรคเบาหวานได้ รายงานการวิจัย ในวารสารของ Harvard School of Public Health นี่จึงได้เสนอแนะให้ทุกคนดื่มน้ำมะเขือเทศวันละหลายแก้ว

การวิจัยนี้ได้ผลสรุปจากการศึกษาผู้ชาย 48,000 คน เป็นเวลา 4 ปี และพบว่า โอกาสการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากของคนที่ดื่มน้ำมะเขือเทศมาก มีค่าน้อย

สถิติการปลูกมะเขือเทศแสดงให้เห็นว่า ในปี 2018 โลกปลูกมะเขือเทศ 24.7 ล้านเอเคอร์ (1 เอเคอร์ เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร) และผลิตผลได้ 8 แสนล้านลูก แต่ไม่มีใครมั่นใจว่า มะเขือเทศเหล่านั้นมีคุณค่าสำหรับการบริโภคมากเพียงใด แม้เราทุกคนจะรู้จักมะเขือเทศมานานร่วม 500 ปี และได้พัฒนามะเขือเทศสายพันธุ์ต่างๆ จนได้มะเขือเทศรสดี ผิวไม่แตกง่ายและไม่ร่วงจากต้นง่าย การปรับปรุงพันธุ์ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อไป

ในวารสาร Nature Plants ฉบับที่ 4 หน้า 766-770 ที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2018 S. N. Lemmon ได้นำมะเขือเทศป่า (Physalis pruinosa) ที่นิยมปลูกในทวีปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้มาตัดต่อยีน เพราะมะเขือเทศสปีชีส์นี้มีรสหวานเล็กน้อย แต่ร่วงง่ายจึงไม่เหมาะสำหรับการทำการเกษตรขนาดใหญ่

นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของ A. Zsogon แห่งมหาวิทยาลัย Vigoda ในประเทศโปรตุเกส ได้ใช้มะเขือเทศสายพันธุ์ Solanum pimpinellifolium ซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันแบคทีเรียที่ทำให้ผลเน่าเร็ว จึงได้ตัดต่อยีนให้ผลมีขนาดใหญ่ขึ้น ปลูกง่าย อีกทั้งมีภูมิคุ้มกันโรค และมีคุณค่าทางอาหารมากขึ้น โดยทำให้เพิ่มปริมาณ lycopene ซึ่งเป็นสาร carotenoid ชนิดหนึ่งที่สามารถเสริมสุขภาพได้ ผลงานนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Nature Biotechnology http://doi.org/cvf2 ปี 2018

สำหรับเทคนิค CRISPR (คริสเปอร์) ซึ่งเป็นคำย่อของการมีกลุ่ม DNA ซ้ำๆ ที่แทรกอยู่เป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ คำย่อนี้มาจากชื่อเต็มว่า Clustered Regularly Interspaced Short Palindromic Repeats ตามปกติจะมี 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ Cas9 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เป็นมีดผ่าตัดชิ้นส่วนภายในเซลล์ โดยตัด DNA ซึ่งแบคทีเรียทั่วไปมักจะใช้ Cas9 ในการตัดและหยุดยั้งการทำงานของสารพันธุกรรมในไวรัสที่เข้ามาบุกรุกแบคทีเรีย และส่วนที่สอง คือ RNA guide หรือ อาร์เอ็นเอนำทาง ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวนำมีดผ่าตัดไปสู่ nucleotide อันเป็นหน่วยย่อยทางเคมีของ DNA ที่ต้องการจะตัด

ความแม่นยำของ RNA นำทางนั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในธรรมชาติมาก เพราะสามารถค้นหาจุดที่ต้องการจะตัดได้อย่างแม่นยำ และเมื่อตัดออกไปแล้ว เซลล์จะเชื่อมส่วนที่ถูกตัด ด้วยการเติมสายโซ่ของ nucleotide ที่ถูกส่งมาในชุด CRISPR ต่อไป
เทคนิคการตัดต่อนี้ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถปรับแต่งยีนของมะเขือเทศป่าได้ และผลที่ได้คือ ซูเปอร์มะเขือเทศที่มีกลิ่นหอม ซึ่งแสดงรสที่ดีและมีคุณค่าทางอาหารด้วย

ในอดีตเวลาเกษตรกรจะปรับปรุงสายพันธุ์มะเขือเทศ เขาจะใช้การผสมต้นต่างสายพันธุ์กัน เพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ ซึ่งต้องใช้เวลานาน ตั้งแต่สิบปีขึ้นไป การใช้เทคโนโลยี CRISPR-Cas9 ตามปกติจะใช้เวลาทำเพียง 3 ปีก็ได้ผล เทคโนโลยีนี้จึงกำลังเป็นที่นิยม

นี่จึงเป็นการวิจัยที่ให้ประโยชน์ เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้อย่างแท้จริง

เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2019 ศาลยุติธรรมยุโรป (Europe Court of Justice) ได้ลงมติว่า อาหารทุกชนิดที่ผลิตโดยอาศัยเทคโนโลยี CRISPR-Cas9 จะต้องถูกควบคุมโดยกฎหมายเดียวกันกับพืช GMO อื่นๆ

ผลการตัดสินของศาลยุติธรรมครั้งนั้น ได้ทำให้นักวิจัยหลายคนรู้สึกงุนงง เพราะเทคนิคที่ใช้เป็นเพียงการทำให้ยีนเพียงหนึ่งตัว ไร้เสมรรถภาพ เทคนิคมิได้เพิ่มเติม หรือการจัดเรียงยีนใหม่ และเมื่อได้กระทำแล้ว นักเทคโนโลยีก็คัดเลือกต้นที่ให้ผลตามที่ต้องการมา

ในปี 2021 Zhen Wang จากสถาบันวิจัย Shanghai Center for Plant Stress Biology ในจีนและคณะได้ตีพิมพ์ผลงานใน Plant Biotechnology Journal ว่า เวลารากมะเขือเทศได้รับ sodium ion (Na+) และ potassium ion (K+) ion เหล่านี้จะทำให้การทำงานของเซลล์มะเขือเทศทำงานผิดปกติ ซึ่งมีผลทำให้ต้นตกผลน้อย และผลมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ อีกทั้งต้นเป็นโรคได้ง่าย เพราะใบสังเคราะห์พลังงานได้น้อย เพราะยืน haplotype SIHAK20 ทำงานบกพร่อง ทำให้ต้นมะเขือเทศเครียดจากการรับความเค็มของดินและน้ำเข้าไป ดังนั้นการเพิ่มพูนสมรรถภาพ โดยการตัดแต่งยีนนี้ อาจทำให้เกษตรกรสามารถปลูกมะเขือเทศในดินเค็มในอนาคตได้

โลกพฤกษศาสตร์ในอนาคตกำลังจะมีพืชที่แตกต่างไปจากพืชชนิดเดียวกันในอดีตมาก เหมือนกับที่คนปัจจุบัน ได้แตกต่างไปจากมนุษย์ Neanderthal มาก ด้วยเหตุผลเดียวกัน พืชในอนาคตก็คงแตกต่างไปจากพืชปัจจุบันยิ่งขึ้นไปอีก

อ่านเพิ่มเติมจาก The Thief at the End of the World : Rubber, Power, and the seeds of Empire โดย Joe Jackson จัดพิมพ์โดย Viking ปี 2008


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น