รองผู้อำนวยการ GISTDA เผยข้อมูลจากเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ข้อมูลตำแหน่งของบุคคล ข้อมูลพฤติกรรมและเวลาการเดินทางของบุคคล ย้ำความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลจึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงและอยู่ต้องภายใต้หลักจริยธรรมที่ถูกต้อง เพื่อใช้เป็นแนวทางสำคัญที่จะนำไปสู่ผลวิเคราะห์ที่ดี
วันนี้ (13 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันที่ 11 เม.ย. นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยว่า ทุกปัญหาย่อมมีทางออกที่เป็นผลมาจากการจัดการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ โควิด-19 กลายเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์สำหรับผู้นำกับการตัดสินใจที่จะเป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อีกทั้งเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรค กำหนดแนวทางสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ชี้เป้ากลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ จำกัดการเคลื่อนย้ายของประชากร และจัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
ซึ่งการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไม่ว่าจะถูกหรือผิด แต่มันจะมีอิทธิพลโดยตรงต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ที่อยู่รอดปลอดภัย และผู้ที่เสียชีวิต ดังนั้นผู้ที่มีส่วนตัดสินใจต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เด็ดขาดและแม่นยำเพื่อเป้าหมายการรักษาชีวิตประชาชนเป็นสำคัญ
หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญต่อการสนับสนุนการตัดสินใจในภารกิจเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ ความพร้อมและความถูกต้องของข้อมูล อันจะทำให้เกิดความเข้าใจต่อปัจจัยและสาเหตุของปัญหา
ในกรณีของโควิด-19 ความเข้าใจในมาตรการการป้องกัน ความเข้าใจในลักษณะการเคลื่อนย้ายของประชาชน ความเข้าใจในรูปแบบการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และความเข้าใจในความยืดหยุ่นของประชาชนและระบบต่อการรับมือกับเชื้อโรคร้ายนี้ จะเป็นส่วนสำคัญผู้ที่มีส่วนตัดสินใจสามารถเลือกใช้มาตราการที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละเหตุการณ์
ทุกวันนี้เราจะเห็นข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือกับเชื้อไวรัสได้เผยแพร่ทางสื่อต่างๆเป็นจำนวนมากหลากหลายรูปแบบ การที่มีข้อมูลเป็นจำนวนมากนับว่าเป็นเรื่องดี สามารถตอบคำถามได้มากยิ่งขึ้นไปด้วย แต่เมื่อไรที่ขาดการจัดการข้อมูลเหล่านั้นที่ดีมันจะกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาในทันที สร้างความสับสนให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
สำหรับบางคำถามจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกในการวิเคราะห์หาคำตอบ เช่น โรคมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายที่ไหน ? พื้นที่ใดที่ต้องจำกัดการเข้าถึงเป็นอันดับแรกก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด ? ชุมชนที่อ่อนไหวต่อโรคร้ายนี้อยู่ที่ใดบ้าง ? เป็นต้น
สังเกตว่าทุกคำถามนั้นสำคัญต่อการจัดการรับมือกับเชื้อไวรัส และทุกคำถามเกี่ยวข้องกับพื้นที่หรือตำแหน่ง ซึ่งก็หนีไม่พ้นที่การจะหาคำตอบเหล่านี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์และรายงานข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะข้อมูลภูมิสารสนเทศหรือข้อมูลที่มาพร้อมกับข้อมูลตำแหน่งที่นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงปริมาณหรือจำนวนแล้ว ยังบอกได้ถึงความเข้มข้นหรือความหนาแน่นในแต่ละหน่วยพื้นที่ได้อย่างชัดเจน
อาทิ ภาพแผนที่ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสะสม เพียงแค่ภาพหนึ่งภาพแต่กลับสะท้อนข้อมูลมากกว่าหนึ่งด้านของแต่ละพื้นที่ออกมา เช่น พฤติกรรมของคนในแต่ละพื้นที่ที่ส่งผลต่อการระบาด แม้กระทั่งสภาพของชุมชน และสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยเอื้อให้เชื้อกระจายตัวได้ง่าย เป็นต้น ผสมผสานรวมกันทำให้เกิดความเข้าใจหลากมิติ
สมาร์ทโฟนเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบันที่มีส่วนช่วยให้ผู้มีส่วนตัดสินใจได้เข้าใจถึงรูปแบบการเคลื่อนย้ายของประชาชน เนื่องจากสมาร์ทโฟนสามารถเก็บบันทึกข้อมูลตำแหน่งของเครื่อง
จากจุดหนึ่งต่ออีกจุดหนึ่งกลายเป็นเส้นทางของการเคลื่อนย้าย เมื่อหลายเส้นทางมารวมกันก็กลายเป็นรูปแบบแนวโน้มการเคลื่อนที่ของกลุ่มคนในแต่ละช่วงเวลา ที่เป็นข้อมูลสำคัญในการติดตามในยามวิกาลหลังเวลาเคอร์ฟิว และยังสามารถวิเคราะห์หาพื้นที่เสี่ยงในการแพร่ระบาดครั้งใหม่
การวิเคราะห์หาพื้นที่เสี่ยง นับเป็นการป้องกันล่วงหน้าที่หากดำเนินการได้ถูกพื้นที่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งทางตั้งแต่เริ่มต้น เพราะการกันเชื้อเข้ามาในพื้นที่มักจะทำได้ง่ายกว่าไล่ตรวจสอบและติดตามจากทุกคน
ด้วยการรณรงค์ให้คนรับรู้และใส่ใจในเรื่องของสุขอนามัยและความร้ายกาจของโรคร้าย อาศัยข้อมูลตำแหน่งของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ข้อมูลการเดินทางของผู้ที่ติดเชื้อ บ้านที่มีผู้สูงอายุ พื้นที่ที่เป็นสภาพแวดล้อมแบบปิด จุดรวมตัวกันของประชาชน เป็นต้น ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ทราบถึงพื้นที่ที่ต้องเร่งดำเนินการป้องกัน เป็นการป้องกันก่อนเกิดเหตุได้ทันการณ์
เมื่อมีการนำข้อมูลจากเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการรับมือกับโควิด-19 เช่น ข้อมูลตำแหน่งของบุคคล ข้อมูลพฤติกรรมและเวลาการเดินทางของบุคคล เป็นต้น ความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลจึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงและอยู่ต้องภายใต้หลักจริยธรรมที่ถูกต้อง
แม้ว่าจะอยู่ในยามวิกฤติก็ตาม จำเป็นต้องมีกลไกหรือกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนคอยควบคุมสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของสาธารณะและความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล เช่น จำกัดระยะเวลาที่นำข้อมูลไปใช้ จำกัดรูปแบบหรือวิธีการเข้าถึงข้อมูล การยกเลิกสิทธิ์ใช้ข้อมูลเมื่อวิกฤติสิ้นสุดลง เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดการนำไปใช้ที่ผิด หรือเกิดประโยชน์กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าในการจัดการกับปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาลจากหลากหลายแหล่ง หลายระบบและมาตรฐาน ยังต้องมีระบบจัดการข้อมูลที่ดี และต้องคำนึงสิทธิส่วนบุคคลไปพร้อมๆกันเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมกับผู้เจ้าของข้อมูลให้ต้องสูญเสียไปมากกว่านี้ นับเป็นอีกความท้าท้ายหนึ่งของผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องขอเป็นกำลังใจให้
“ข้อมูลที่ถูกต้องเมื่ออยู่ในมือของคนที่เหมาะสม จะสามารถช่วยชีวิตคนจำนวนมากในยามวิกฤต” เป็นคำกล่าวที่ย้ำให้เห็นถึงคุณค่าและพลังของข้อมูลที่เมื่อถูกนำมาได้อย่างถูกที่ ถูกคน ถูกเวลา พร้อมกับมีระบบจัดการข้อมูลที่เหมาะสม ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือสังคมอย่างมหาศาล