xs
xsm
sm
md
lg

Dyslexia และ Dyscalculia : กลุ่มอาการความบกพร่องในการอ่านและการคำนวณ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า dyslexia คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด และสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ แม้บางคนจะรู้ว่า บุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดาราภาพยนตร์ Tom Cruise นักเคมีรางวัลโนเบลปี 2019 ชื่อ John Goodenough และนักร้องลูกทุ่งชื่อ พุ่มพวง ดวงจันทร์ มีอาการนี้ กระนั้นตลอดเวลาหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แพทย์และนักจิตวิทยาก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า อาการนี้เกิดจากสาเหตุใด

ในปี 1896 แพทย์อังกฤษขื่อ W. P. Morgan ได้เขียนบทความลงในวารสาร British Medical Journal ฉบับเดือนพฤศจิกายนว่า เขามีคนไข้คนหนึ่งเป็นเด็กหนุ่มวัย 14 ปี ชื่อ F. Percy ซึ่งมีไอคิวระดับฉลาด สามารถเล่นกีฬาได้ดี แต่มีปัญหาในการอ่านหนังสือ คืออ่านไม่ออก จนต้องขอร้องเพื่อนๆ มาอ่านหนังสือให้ฟัง

นี่จึงเป็นความจริงที่ขัดแย้งกับความนึกคิดของคนทั่วไป ซึ่งมักคิดว่า คนฉลาดคือคนที่เรียนหนังสือเก่ง สามารถพึ่งตนเองได้ มีแรงจูงใจในการทำงาน และได้รับการศึกษาดี ดังนั้นก็ควรอ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือได้ ส่วนคนที่อ่านผิดๆ ถูกๆ และจับใจความอะไรไม่ได้ จึงเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง แต่ก็อาจจะประสบความสำเร็จได้ในช่วงเวลาสั้นๆ โดยใช้วิธีจำ แต่เมื่อตำราที่ต้องเรียนมีเนื้อหามากขึ้นๆ ก็จะจำได้ไม่หมด แม้จะพยายามสักเพียงใด ก็ทำได้อย่างกระท่อนกระแท่น ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีเดา อุปสรรคเช่นนี้ทำให้คนๆ นั้นขาดแรงจูงใจในการเรียนหนังสือ จนครู พ่อแม่ และผู้ปกครองคิดว่า เด็กคนนั้นขี้เกียจ โง่ และไม่เอาถ่าน ทัศนคติเชิงลบเช่นนี้ อาจผลักดันให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม เช่น ไม่ต้องการไปโรงเรียน และมีสมาธิสั้น อีกทั้งอาจจะรู้สึกว่า ตนกำลังถูกสังคมดูแคลน จึงพยายามหลบหนีและหลีกเลี่ยงผู้คน จนกลายเป็นคนมีปัญหาทางจิตใจ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า เพราะไม่สามารถเรียนได้ดีถึงเกณ์ที่พ่อแม่หรือครูได้คาดหวังไว้

แพทย์และนักจิตวิทยาในประเทศอเมริกาได้สำรวจพบว่า เด็กอเมริกันที่มีอาการ dyslexia มีประมาณ 5-6% แต่คนที่มีอาการ dyslexia ก็ใช่ว่าทุกคนจะประสบแต่ความล้มเหลวในชีวิต จักรพรรดิ Akbar มหาราชแห่งอาณาจักร Mughal ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ทรงมีพระอาการ dyslexia Thomas Alva Edison ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า และเครื่องบันทึกเสียง เป็นอัจฉริยะผู้มีอาการ dyslexia ตั้งแต่เด็ก เพราะเรียนหนังสือไม่ได้ และสอบได้ที่โหล่บ่อย จนพ่อคิดว่า โง่ จึงสอนหนังสือให้ลูกด้วยตนเองที่บ้าน และบอกให้ลาออกจากโรงเรียน เพราะ Edison มักสะกดคำผิดๆ ถูกๆ บ่อย ทั้งๆ ที่มีอายุ 19 ปีแล้ว


ปฏิมากร Auguste Rodin เป็นศิลปินอัจฉริยะที่มีปัญหาในการอ่าน และการเขียน จนบิดาคิดว่า คงเรียนอะไรไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเติบใหญ่ จึงไม่ได้เลือกอาชีพนักเขียน แต่ไปทำงานด้านประติมากรรม จนเป็นปฏิมากรเอกของโลก ผู้รังสรรค์รูปปั้นที่มีชื่อเสียงบันลือโลกมากมาย เช่นรูปปั้น The Kiss เป็นต้น

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Woodrow Wilson ก็อ่านหนังสือไม่ออกจนกระทั่งมีอายุ 9 ขวบ นายพล George Patton ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองก็มีเรื่องเล่าลือว่า สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัย West Point โดยใช้วิธีจำคำบรรยายของอาจารย์ ทั้งนี้เพราะ Patton อ่านหนังสือไม่ออก มหาเศรษฐี Nelson Rockfeller ดาราภาพยนตร์ Whoopi Goldberg อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ Lee Kuan Yew จิตรกร Leonardo da Vinci นักเขียนนวนิยายนักสืบ Agatha Christie และนักเขียนเทพนิยาย Hans Christian Andersen ต่างก็มีอาการ dyslexia ไม่มากก็น้อย แต่ทุกคนประสบความสำเร็จมาก โดยเฉพาะ Christie ซึ่งเป็นนักประพันธ์นวนิยายนักสืบที่มีชื่อก้องโลก ได้เขียนนวนิยายกว่า 100 เล่ม ซึ่งรวมกันขายได้กว่า 2,000 ล้านเล่ม ส่วน Tom Cruise กับน้องสาวทั้ง 3 คน ก็มีอาการ dyslexia และ Cruise ได้พยายามลบปมด้อยนี้ด้วยการเล่นกีฬาและแสดงภาพยนตร์ ปัจจุบัน Cruise ได้พยายามช่วยเหลือเด็กที่มีอาการเดียวกับตน ด้าน Whoopi Goldberg ดาราตุ๊กตาทองก็มีอาการ dyslexia แต่พยายามเอาชนะปมด้อยด้วยการแสดงภาพยนตร์จนได้ตุ๊กตาทอง

ตามปกติเวลาคนเราอ่านหนังสือ การเข้าใจความหมายของคำหรือประโยคที่อ่าน เป็นความสามารถที่คนอ่านต้องได้รับการฝึกฝน ซึ่งต้องอาศัยความพยายามของคนอ่านด้วย ในการหาสาเหตุของคนที่มีอาการนี้ ในอดีตแพทย์หลายคนเคยคิดว่าเกิดจากการมีสายตาที่ผิดปกติ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนมีอาการ dyslexia เพราะไม่สามารถแยกตัวอักษรหรือคำได้เวลาอ่าน (ภาษาไทยเราเขียนตัวอักษรติดกันไป แต่ภาษาอังกฤษเขียนแยกคำ) ในปี 1980 Paula Tallal จากมหาวิทยาลัย Rutgers ที่เมือง Newark รัฐ New Jersey ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้พบว่า สมองส่วน cerebellum ของคน dyslexia มีการทำงานที่ผิดปกติ

ถึงวันนี้ แพทย์ได้พบว่าความผิดปกติเกี่ยวกับการเห็น การได้ยิน และการทำงานที่บกพร่องของสมอง ล้วนมีบทบาทในการทำให้คนมีอาการ dyslexia เพราะเวลาเขากวาดสายตาไปตามตัวอักษรที่มีในคำต่างๆ อักษรจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สมองแปลความหมายของคำแต่ละคำได้ในทันที แต่สมองจะแปลความหมายไม่ได้ ถ้าขั้นตอนการทำงาน ของมันบกพร่อง เช่น อ่าน lemon basket เป็น bemon lasket ที่ไม่มีความหมายใดๆ

การศึกษาการทำงานของสมองโดยใช้อุปกรณ์ functional Magnetic Resonance Imaging (fMRI) วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมองขณะทำงาน โดยการติดตามการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ประสาทขณะที่มีเลือดไหลในสมองตามเวลาจริง ได้ทำให้ Sally Shaywitz จากมหาวิทยาลัย Yale ในสหรัฐฯ พบว่า เวลาอ่านหนังสือ คนที่มีประสบการณ์อ่านน้อยจะใช้เครือข่ายของเส้นประสาทที่ทำงานช้า แต่คนที่มีประสบการณ์อ่านมากจะใช้เครือข่ายเส้นประสาทที่ทำงานเร็วกว่า ซึ่งเส้นประสาททั้งสองประเภทนี้อยู่ทางด้านซ้ายของสมอง และถูกแบ่งแยกออกเป็นสามส่วน คือ บริเวณ Broca ซึ่งอยู่บริเวณตรงกลางของสมอง และ parieto-temporal กับ occipito-temporal ซึ่งอยู่ทางท้ายของสมอง

สมอง Broca มีบทบาทในการควบคุมการพูดและการเขียน คนไข้ที่สมองส่วนนี้เป็นโรค หรืออักเสบมักจะพูดและเขียนได้ไม่คล่อง นักอ่านมือใหม่มักใช้สมองส่วน parieto-temporal ในการแยกคำ แต่คนที่อ่านหนังสือคล่องมักใช้สมองส่วน occipito-temporal ในการอ่าน และสามารถอ่านคำได้ในทันทีที่เห็น

ในการเปรียบเทียบสมองของคนปกติกับคน dyslexia Shaywitz ได้พบว่า เวลานักอ่านมือใหม่อ่านหนังสือ สมองส่วน parieto-temporal จะทำงาน แต่สำหรับคนที่อ่านหนังสือไม่ออก สมองส่วนนี้จะไม่แสดงอาการว่า กำลังทำงานใดๆ และจะให้สมองบริเวณ Broca ทำงานหนัก นั่นแสดงว่า คนที่อ่านหนังสือไม่ออก กำลังชดเชยการไม่ทำงานของสมองส่วน parieto-temporal ด้วยการกระตุ้นเซลล์สมองในบริเวณอื่นให้ทำงานแทน

Shaywitz ยังได้ให้ข้อสังเกตอีกว่า ในการวิจัยเรื่องนี้ เธอใช้ผู้ใหญ่ที่มีปัญหาการอ่าน จึงอาจทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและสมบูรณ์ 100% เพราะสมองของคนเหล่านี้หลังจากที่ประสบปัญหาในการอ่านมาเป็นเวลานาน มักพยายามเลี่ยง โดยการใช้เส้นทางอื่นที่เป็นวิธีเฉพาะของตนเอง ดังนั้นข้อสรุปที่เธอได้ จึงอาจมิได้ให้คำตอบที่เป็นจริง

แต่เมื่อ Shaywitz ทดลองใช้เด็ก 144 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้มีอาการ dyslexia เธอก็ได้ข้อสรุปว่า เวลาสมองส่วน parieto-temporal ไม่ทำงาน หรือทำงานบกพร่อง เด็กจะอ่านหนังสือไม่ออก และเด็ก dyslexia เวลามีอายุมากขึ้น สมองส่วน Broca ของเขา จะทำงานมากขึ้น สำหรับคนที่อ่านหนังสือไม่ออกเลย มักจะพยายามเข้าใจเรื่องที่อ่าน โดยอาศัยความสามารถในการจำ

สำหรับวิธีรักษาอาการเหล่านี้ นักวิจัยได้พบว่า เขาสามารถแบ่งเด็ก dyslexia ได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งเป็นพวกที่ร่างกายตอบสนองต่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ อีกกลุ่มหนึ่งต้องใช้เทคโนโลยี fMRI ช่วยศึกษาการทำงานของสมอง และกินยาเพื่อเอาชนะความบกพร่องนี้

ปัจจุบันที่อเมริกามีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Fast For Word ซึ่งออกแบบโดย Fohn Gabrieli แห่งมหาวิทยาลัย Stanford เพื่อช่วยเด็กๆ ที่มีอายุระหว่าง 8-12 ปี และมีอาการ dyslexia เพื่อฝึกตนเองเป็นเวลานาน 8 สัปดาห์ โดยเด็กจะฝึกใช้สมองนานวันละ 100 นาที ผลปรากฏว่า ความสามารถในการอ่านหนังสือของเด็กดีขึ้นมาก และเครื่อง fMRI ก็ได้แสดงให้เห็นว่า สมองมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ในขณะที่เด็กอ่านหนังสือ

โดยสรุปอาการ dyslexia อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม สติปัญหา ฐานะทางสังคม และอื่นๆ แต่สิ่งประเสริฐที่กำลังเกิดขึ้น ณ วันนี้คือ วิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทช่วยเด็กในการเรียนหนังสือแล้ว ดังนั้นคนที่มีปัญหาในการเรียน (อ่าน เขียน พูด เข้าใจ) เราจะต้องไม่โทษครู ผู้ปกครอง หรือเด็ก โดยไม่เสนอวิธีช่วย

ตามปกติอาการเริ่มต้นของเด็ก dyslexia คือ เมื่อมีอายุ 3-4 ขวบ ซึ่งเป็นก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาล มือของเด็กจะจับหนังสือไม่ได้ เด็กมีความสามารถจำกัดในการจำคำ วิธีช่วยคือ พ่อ แม่ต้องอ่านหนังสือให้เด็กฟัง และอาจสอนให้ร้องเพลงที่เนื้อเพลงมีคำสัมผัส

ชั้นอนุบาลเวลาถามชื่อของสิ่งต่างๆ หรือสี เด็กจะตอบช้า พ่อแม่สามารถช่วยได้โดยการสอนเด็กให้ร้องเพลง หรือเล่นเกมส์ที่มีคำสัมผัส

ชั้นประถมปี 1-2เด็กมักบ่นว่าอ่านหนังสือไม่ทันเพื่อน หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ จึงพยายาม
หลีกเลี่ยง บ่ายเบี่ยงไม่อ่าน วิธีช่วยคือ พ่อแม่ต้องฝึกและพยายามสอนให้มาก

ชั้นประถมปี 2-3 เด็กจะหลบหน้าไปจากสังคม บางคนแม้จะพยายามอ่าน แต่ก็ไม่เข้าใจสิ่งที่อ่านว่าหมายถึงอะไร วิธีแก้คือ นำเด็กไปปรึกษาจิตแพทย์ หรือหากิจกรรมอื่นๆ มาให้เด็กทำ


เมื่ออายุมากกว่า 7 ขวบ เด็กมักอ่านผิดๆ ถูกๆ และสับสนเวลาเห็นคำที่คล้ายกัน เช่น เจ็ด กับ เจ๊ต และมักพูดตะกุกตะกัก ชอบใช้คำซ้ำๆ มักจำชื่อ วันที่ เบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญ ไม่ได้ เวลาอ่านคำที่ยาวหลายพยางค์ เด็กมักเดา บางครั้งก็อ่านข้ามอักษรบางตัวไป หรือเวลาอ่านคำยาวๆ ก็มักแทนคำนั้นด้วยคำที่ง่ายกว่า เวลาเขียนเรียงความมักใช้คำผิด และเขียนด้วยลายมือที่อ่านยาก มักทำการบ้านไม่เสร็จและกลัวการอ่านออกเสียงหน้าชั้น

ด้านคำ dyscalculia (มาจากคำว่า dys ที่แปลว่า บกพร่อง และ calculia ที่มาจากคำ calculus ซึ่งแปลว่า คำนวณ) เป็นกลุ่มอาการของคนที่มีความบกพร่องในการคิดเลขง่ายๆ คือ เป็นคนที่งุนงงเวลาเห็นตัวเลข หรือเวลาเห็นแล้วก็ไม่เข้าใจความหมาย หรือไม่รู้วิธีบวก ลบ คูณ หาร เลขจำนวนง่ายๆ ฯลฯ เช่น เวลาให้เด็กนับจุดที่อยู่กระจัดกระจายบนกระดาษ เด็ก dyscalculia มักจะใช้เวลาในการนับนาน เพราะนับไปทีละจุด แทนที่จะนับรวมกันเป็นชุด และเวลานับมักใช้นิ้วนับ หรือเวลาถูกถามว่า 7 กับ 9 จำนวนใดมีค่ามากกว่ากัน เด็ก dyscalculia มักใช้เวลานาน และถ้าให้เปรียบเทียบ 11,437 กับ 11,436 เด็กก็จะใช้เวลานาน หรือถ้าจะให้เด็กนับจำนวนโดยเพิ่มครั้งละ 10 จาก 70 เด็ก dyscalculia ก็จะนับ 70, 80, 90, 100, 200, 300, 400, ..... และเวลาให้ประมาณความสูงของห้องในบ้าน ก็อาจตอบว่า สูง 60 เมตร เป็นต้น

ในอเมริกาได้มีการสำรวจพบคนที่มีอาการ dyscalculia ว่ามี ตั้งแต่ 5-7% ของประชากร ซึ่งถ้าตัวเลขเดียวกันนี้ใช้ได้จริงสำหรับคนไทย ตัวเลขคนที่มีอาการ dyscalculia ก็จะมีมากตั้งแต่ 3-4.5 ล้านคน

แม้ dyscalculia จะเป็นกลุ่มอาการที่ผิดปกติเหมือน dyslexia แต่ผู้คนรู้จัก dyslexia ดีกว่าและมากกว่า คนทั่วไปมักเข้าใจว่า คนที่ได้คะแนนทดสอบในวิชาคณิตศาสตร์น้อยอย่างสม่ำเสมอ คือเด็ก dyscalculia แต่เมื่อไม่มีใครสนใจสาเหตุที่ทำให้คนคิดเลขง่ายๆ ไม่เป็น เด็ก dyscalculia จึงไม่ได้รับการบำบัดหรือช่วย

ในรายงานขององค์การ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development ที่ได้เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญขององค์การได้ให้ความเห็นว่า ถ้าความสามารถทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของประชากรเพิ่มขึ้น อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ประมาณ 1% นี่คือผลกระทบในภาพใหญ่ แต่ถ้าเราพิจารณาผลกระทบส่วนบุคคลซึ่งเกิดจาการคิดเลขไม่เป็น ก็พบว่าอาจทำให้เขาหางานทำได้ยาก เขาอาจต้องขึ้นโรงพัก หรือขึ้นศาลบ่อย เพราะไม่เข้าใจตัวเลขในสัญญาที่ตนทำ และสำหรับเด็กที่ไปโรงเรียน ก็อาจรู้สึกท้อแท้เพราะถูกครูตำหนิว่าโง่ จนไม่รู้สึกอยากไปโรงเรียน
การวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และแพทย์ศาสตร์ ได้แสดงให้เห็นว่า อาการ dyscalculia สามารถเกิดขึ้นได้ในคนที่มีสติปัญญาและความทรงจำดี และแม้แต่ในคนที่มีอาการ dyslexia ก็อาจมีอาการ dyscalculia ร่วมได้ ดังนั้นบางคนจึงเรียกอาการ dyscalculia ว่า number dyslexia ซึ่งเป็นอาการที่อ่าน เข้าใจ และตีความทางคณิตศาสตร์ไม่ได้

โดยทั่วไปอาการพื้นฐานของเด็ก dyscalculia ได้แก่ การมีความยากลำบากในการนับจำนวนถอยหลัง ในการคิดเลขในใจช้า และมักมีความกังวลใจมากเวลาจะเข้าเรียนคณิตศาสตร์ นอกเหนือไปจากการคิดเลขช้าแล้ว เด็ก dyscalculia ก็อาจนับจำนวนได้ถูกภายในช่วงเวลาหนึ่งแล้ว แล้วนับผิดในเวลาต่อมา

การตรวจสมองของเด็ก dyscalculia ได้แสดงให้เห็นว่า ในเด็กที่มีอาการนี้ สมองส่วนที่เรียกว่า parietal lobe จะมีร่องรอยของโรคซึ่งทำให้สมองเป็นแผล ณ ตำแหน่งที่อยู่เหนือหูเล็กน้อย และสมองส่วนนี้ จะทำงานหนัก เวลาเจ้าของต้องเผชิญเลขจำนวนมาก

ตราบถึงวันนี้ โลกยังไม่มียารักษาอาการ dyscalculia แต่ความบกพร่องนี้ อาจได้รับการบำบัดได้ดีขึ้นได้ โดยการใช้อุปกรณ์และครูเฉพาะทางมาช่วยหาวิธีเรียนให้เฉพาะบุคคล โดยให้รู้ตัวล่วงหน้า ตั้งแต่วัยที่เด็กมีอายุยังน้อย เพื่อตัดปัญหานี้แต่ต้นลม เพื่อให้เด็ก dyscalculia สามารถเรียนหนังสือได้อย่างมีความสุข

บทเรียนที่ได้จากการศึกษาเรื่องนี้ คือ ความสำเร็จในการเรียนของคนบางคน ขึ้นกับสภาพทางสมองที่เขาได้มาตั้งแต่เกิด และครูกับพ่อแม่ที่เข้าใจปัญหานี้จะสามารถช่วยเด็กเหล่านี้ให้ทำงานดีขึ้นได้

ในโรงเรียนของเราคงมีเด็กที่มีกลุ่มอาการอื่นๆ เช่น เรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ไม่ได้ นี่จะเป็นทิศทางการวิจัยด้านการเรียนการสอนในอนาคต

อ่านเพิ่มเติมจากหนังสือ Parenting a Struggling Reader โดย Susan Hall และ Louisa Moats ปี 2002 และหนังสือ Why is Math so Hard for Some Children? The Nature and Origins of Mathematical Learning Difficulties. โดย D. B. Bench จัดพิมพ์โดย Paul H. Brookes Publishing, ปี 2007



สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น