xs
xsm
sm
md
lg

"ดาวหางนีโอไวส์" เผยตัวเหนือ อ.สองพี่น้อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE) หรือ C/2020 F3 ที่ นายปณัฐพงศ์ จันทรวัฒนาวณิช บันทึกไว้เมื่อวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2563 เวลา 5:00 น. ณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
เผยภาพ "ดาวหางนีโอไวส์" เหนือท้องฟ้า อ.สองพี่น้อง ดาวหางในโครงการค้นหาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่เพิ่งค้นพบเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

นายปณัฐพงศ์ จันทรวัฒนาวณิช เผยภาพดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE) หรือ C/2020 F3 ที่บันทึกไว้เมื่อวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2563 เวลา 5:00 น. ณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมดาราศาสตร์ไทยระบุ ดาวหางนีโอไวส์ ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 โดยค้นพบจากภาพถ่ายในโครงการค้นหาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (NEOWISE ย่อมาจาก Near-Earth Object Wide-field Infrared Survey Explorer) ขณะค้นพบ ดาวหางสว่างที่โชติมาตร 17 และมีรายงานการสังเกตการณ์จากพื้นโลกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ก่อนดาวหางจะหายไปจากท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ พบว่าดาวหางสว่างที่โชติมาตร 6.8 หลังจากนั้นดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากจนไม่สามารถสังเกตได้

กระทั่งวันที่ 22-28 มิถุนายน 2563 ดาวหางนีโอไวส์ปรากฏในภาพถ่ายจากยานโซโฮ (SOHO) ซึ่งเป็นยานสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์และสภาพแวดล้อมรอบดวงอาทิตย์ มีรายงานว่าในช่วงดังกล่าว ดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้นจากราวโชติมาตร 4 ไปที่ 2 ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีกว่าที่คาดไว้ ก่อนที่ดาวหางจะปรากฏในภาพถ่ายจากยานโซโฮ มีความกังวลว่าดาวหางนีโอไวส์อาจเผชิญชะตากรรมเดียวกับดาวหางสองดวงก่อนหน้านี้ ที่แตกสลายและมีความสว่างลดลงมาก

ทว่าในภาพถ่ายจากยานโซโฮแสดงให้เห็นว่า ดาวหางยังคงอยู่ในสภาพดี ไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าดาวหางกำลังแตกสลาย มีความสว่างมากกว่าที่คาดไว้ และสว่างเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้มีความหวังว่าจะสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อดาวหางเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์มากพอให้สังเกตได้บนท้องฟ้าเวลากลางคืน

วันที่ 28 มิถุนายน เป็นวันสุดท้ายที่ดาวหางปรากฏในภาพถ่ายจากยานโซโฮ หลังจากนั้น ต้นเดือนกรกฎาคม 2563 เริ่มมีรายงานการสังเกตเห็นดาวหางบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดจากหลายประเทศที่อยู่ในละติจูดสูงของซีกโลกเหนือ ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยดาวหางปรากฏท่ามกลางแสงเงินแสงทองของท้องฟ้ายามรุ่ง ต้องอาศัยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ และทราบตำแหน่งบนท้องฟ้าที่แน่นอน 

ดาวหางนีโอไวส์ผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 44 ล้านกิโลเมตร และใกล้โลกที่สุดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร หลังจากนั้นเราสังเกตดาวหางนีโอไวส์จากประเทศไทยในช่วงแรกอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด หากอยู่ในที่ท้องฟ้าเปิด มีโอกาสสังเกตได้ด้วยกล้องสองตาเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 4 ถึง 10 กรกฎาคม 2563 แต่ก็เป็นไปได้ยากสำหรับฤดูกาลในประเทศไทยช่วงนี้ ที่มีเมฆมากในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ ดาวหางอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จำเป็นต้องหาสถานที่ซึ่งท้องฟ้าด้านนี้เปิดโล่ง หรือสังเกตจากสถานที่สูง สภาพอากาศปลอดโปร่ง ดาวหางมีแนวโน้มจะสว่างพอสมควร แต่การอยู่ใกล้ขอบฟ้า ทำให้ความสว่างลดลง จำเป็นต้องใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ช่วงนั้นดาวหางอยู่ในกลุ่มดาวสารถี ให้สังเกตตำแหน่งของดาวหางเทียบกับดาวศุกร์และดาวคาเพลลาในกลุ่มดาวสารถี หลังจากขึ้นเหนือขอบฟ้าแล้ว จะมีเวลาสังเกตดาวหางได้ไม่นานก่อนที่ความสว่างของท้องฟ้ายามเช้าจะกลบแสงของดาวหาง

หลังจากวันที่ 10 กรกฎาคม ดาวหางนีโอไวส์จะมีมุมเงยต่ำมากจนสังเกตได้ยาก จากนั้นขึ้นและตกในเวลาใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ ทำให้ไม่สามารถสังเกตได้จากประเทศไทย ครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม 2563 ดาวหางจะกลับมาปรากฏบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ คาดว่าช่วงแรกอาจสว่างที่โชติมาตร 3 แล้วจางลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยจะรายงานข้อมูลสำหรับการสังเกตการณ์ในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคมให้ทราบในระยะต่อไป



ภาพดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE) หรือ C/2020 F3 ที่ นายปณัฐพงศ์ จันทรวัฒนาวณิช บันทึกไว้เมื่อวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2563 เวลา 5:00 น. ณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

ภาพดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE) หรือ C/2020 F3 ที่ นายปณัฐพงศ์ จันทรวัฒนาวณิช บันทึกไว้เมื่อวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2563 เวลา 5:00 น. ณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี


กำลังโหลดความคิดเห็น