xs
xsm
sm
md
lg

จากคุณแม่ผู้มีลูกติดไข้หวัด 2009 สู่ผู้พัฒนาหน้ากากอนามัยฆ่าเชื้อไวรัส

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากประสบการณ์ตรงของนักวิจัยวัสดุที่มีลูกเล็กติดไข้หวัดใหญ่ 2009 จากเนอร์สเซอรี จึงเกิดแนวคิดพัฒนาอุปกรณ์ช่วยป้องกันไวรัสให้แก่เด็กและคนในครอบครัว และได้พัฒนาหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 และฆ่าเชื้อไวรัสได้

ดร.นฤภร มนต์มธุรพจน์ จากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าประสบการณ์ว่าได้พัฒนาหน้ากากอนามัยที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและป้องกันฝุ่นละเอียดได้ หลังจากที่ลูกได้ติดไข้หวัดใหญ่ 2009 จากเนอร์สเซอรี

“เราผลิตวัคซีนไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือหน้ากากอนามัย ก็นำความรู้ด้านวัสดุมาพัฒนา” ดร.นฤภรกล่าว และเผยว่าอยากผลิตและจัดจำหน่ายหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพในการกรองไวรัสและฝุ่น PM2.5 ไมครอน ที่ได้มาตรฐานในระดับอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพระบบทางเดินหายใจของประชาชนโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและบุคลากรทางแพทย์ซึ่งนับเป็นกลุ่มเสี่ยง

"แต่หน้ากากอนามัยส่วนใหญ่ในท้องตลาดอาจยังไม่ครอบคลุมคุณสมบัติเหล่านี้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ทีมจึงได้พัฒนาวัสดุคอมพอสิทของไฮดรอกซีอะพาไทต์และไททาเนียมไดออกไซค์ ที่สามารถดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือจุลินทรีย์ ย่อยสลายจุลินทรีย์ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอ (H1N1 Influenza A) และผลิตใช้ได้เองในประเทศได้ และมีการร่วมทดสอบประสิทธิภาพดังกล่าวกับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และได้มีการเผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสารระดับนานาชาติแล้ว” ดร.นฤภร

ทีมวิจัยยังได้นำสารไฮดรอกซีอะพาไทต์และไทเทเนียมไดออกไซค์ เคลือบบนวัสดุนอนวูฟเวนแผ่นชั้นกรองบนเส้นใยธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นชั้นกรองของหน้ากากอนามัยที่ตัดเย็บเป็นรูปทรง 3 มิติ ที่มี 4 ชั้น จากการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการ ที่ประเทศสิงคโปร์ มีการยืนยันว่าสามารถกรอง PM2.5 ได้ 99% ตามมาตรฐาน ASTEM F2299 และจากการทดสอบประสิทธิภาพการกรองไวรัสของหน้ากากอนามัยโดยห้องปฏิบัติการของที่สหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการยืนยันว่ามีประสิทธิภาพกรองไวรัสได้ถึง 99% ตามมาตรฐาน ASTM F2100

การพัฒนาหน้ากากอนามัยของ ดร.นฤภร ได้ตอบโจทย์ช่วงวิกฤตปัญหาฝุ่น และการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 พอดี และทางทีมวิจัยได้ทดลองผลิตในระดับอุตสาหกรรมและทดสอบตลาดในประเทศจนได้รับผลตอบรับที่ดี จึงมีแนวคิดจะเดินหน้าผลิตในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยงานวิจัยนี้ จะช่วยลดการนำเข้าหน้ากากอนามัยและส่งเสริมการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ดร.นฤภร เป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวัสดุศาสตร์จากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ที่มีผลงานสร้างประโยชน์อย่างโดดเด่นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19






กำลังโหลดความคิดเห็น