วช.เผยผลการศึกษา พบโรคโควิด-19 ยังแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก ถึงแม้ว่าหลายประเทศจะสามารถควบคุมการระบาดในรอบที่หนึ่งได้แล้ว
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563 ว่า จากการศึกษาข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก พบการระบาดของแต่ละประเทศ ตามระยะของสถานการณ์การระบาด มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ประเทศที่ยังอยู่ในระยะของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 กราฟยังชัน ยังไม่ถึงจุดสูงสุดของการระบาดหรือกำลังอยู่ในระยะของการระบาดสูงสุดในขณะนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ลาตินอเมริกา เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง เช่น ประเทศบราซิล เม็กซิโก ชิลี เปรู แอฟริกาใต้ รัสเซีย อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน และอาจจะรวมถึงประเทศอิหร่าน และอินโดนีเซีย
2. ประเทศที่ยังใช้แนวทางปล่อยให้คนติดเชื้อจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศสวีเดน
3. ประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ แต่ยังไม่พ้นระยะการแพร่ระบาดโรค เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ สเปน ตุรกี อิตาลี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศมาเลเซีย
4. ประเทศที่พ้นการระบาดรอบที่หนึ่งแล้ว เช่น ประเทศจีน ไทย เยอรมัน สโลวีเนีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และประเทศไอซ์แลนด์
5. ประเทศที่เกิดการติดเชื้อในระยะที่สองแต่ยังควบคุมได้ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศ สิงคโปร์
6. ประเทศและเขตเศรษฐกิจที่ไม่เกิดการระบาดใหญ่ เช่น ประเทศฮ่องกง ไต้หวัน เวียตนาม และประเทศลาว
"ประเทศไทยเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถือว่าควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี และผ่านพ้นการแพร่ระบาดในรอบที่หนึ่งแล้ว โดยไม่มีผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศติดต่อกันมากกว่าสองสัปดาห์ โดยได้มีมาตรการในการผ่อนคลายแล้ว 3 ระยะ และจะเริ่มมาตรการผ่อนคลายระยะที่สี่ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะต้องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบที่สองอย่างเข้มงวด"
ประมวลข้อมูลโดย ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)