วิทยาการด้านโบราณคดีทุกวันนี้กำลังรุดหน้ามากด้วยแรงสนับสนุนและส่งเสริมจากวิทยาศาสตร์ที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นหลักฐานให้ทุกคนเห็นชัด คือ การค้นพบเทคนิคการวัดอายุของวัตถุโบราณที่ใช้คาร์บอน -14 อันเป็นธาตุกัมมันตรังสี โดย Willard Libby เมื่อปี 1949 ซึ่งได้ช่วยให้นักโบราณคดีรู้อายุของสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ผลงานนี้ ทำให้ Libby ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 1960 ผลกระทบหนึ่งที่เกิดตามมา คือ ได้ทำให้นักประวัติศาสตร์รู้ว่า เมือง Jericho ในประเทศอิสราเอลมีอายุประมาณ 9500 ปี จึงนับว่ามากประมาณสองเท่าของการคาดคะเนเดิม Jericho จึงเป็นเมืองหนึ่งในยุคหิน Neolithic และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โบราณคดีก็ได้กลายเป็นวิทยาการที่ต้องการความสามารถของนักวิชาการหลายด้าน เช่น นักพฤกษศาสตร์ นักสัตววิทยา และนักธรณีวิทยา ซึ่งได้เข้ามาร่วมกันศึกษาจนสามารถสร้างภาพของสภาพแวดล้อมในสมัยโบราณได้ เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการตั้งถิ่นฐานกับการทำเกษตรกรรม และการนับถือศาสนาของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ งานโบราณคดีจึงเป็นงาน “นักสืบ” ที่ต้องการจะเข้าใจเหตุการณ์ทุกรูปแบบในอดีต
ดังตัวอย่างเช่น การได้พบก้างปลา เมล็ดพืช เตาไฟ และอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำด้วยหินในบริเวณหุบเขา Wadi Kubbaniya ที่อยู่บนฝั่งของแม่น้ำ Nile ในประเทศอียิปต์ ได้ทำให้เรารู้ว่า เมื่อ 17,000-18,300 ปีก่อน บริเวณนั้นเคยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มครอบครัวขนาดเล็ก ซึ่งได้เพาะปลูกพืชอย่างน้อย 13 ชนิด เพื่อบริโภค และพืชสายพันธุ์เหล่านั้น ก็ยังมีและยังอยู่ในบริเวณนั้นจนกระทั่งทุกวันนี้
ในทำนองเดียวกัน ที่หมู่บ้าน Abu Hureyra ในประเทศ Syria ก็ได้มีการพบข้อมูลที่เกี่ยวกับการถือกำเนิดของการทำเกษตรกรรมในดินแดนเอเชียตะวันออกใกล้ หลักฐานที่ได้จาการวิเคราะห์ดินที่ท้องทะเลลึก และเมล็ดพืชที่พบในบริเวณนั้นแสดงว่าในช่วงเวลาตั้งแต่ 12,000-90,000 ปีก่อนนี้ พื้นที่ในแถบนั้นมีฝนตกในปริมาณมากขึ้น ตั้งแต่ 15-30 % ครั้นเมื่อสภาพแวดล้อมของพื้นที่เปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของคนในชุมชนก็เปลี่ยนตาม คือ เปลี่ยนจากการล่าสัตว์ซึ่งเป็นงานหลัก มาเลี้ยงสัตว์และทำการเกษตรแทน วิถีชีวิตใหม่จึงบังเกิดและได้แพร่หลายไปทั่วดินแดนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ส่วนที่เมือง Peterborough ซี่งตั้งอยู่ในทางทิศตะวันออกของประเทศอังกฤษ การขุดค้นพบทางโบราณคดีที่บริเวณ Flag Fen ได้ทำให้พบซากท่อนไม้ จำนวนนับหมื่นชิ้น การวิเคราะห์วงปีและการวัดอายุโดยเทคนิค C-14 ประกอบกับการศึกษาซากของตัวด้วงที่อาศัยอยู่ในกองไม้ ทำให้รู้ว่า บริเวณนั้นมีสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยไม้ ตั้งแต่เมื่อ 3363-2967 ปีก่อน รูปทรงและจำนวนของท่อนไม้ ชี้บอกว่ามันเคยเป็นรั้ว สิ่งก่อสร้างนั้นจึงอาจจะเป็นศาสนสถานของชาวบ้านมากกว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อนึ่งการตรวจพบชิ้นโลหะเกือบ 60 ชิ้น ที่อยู่ในสภาพบุบ งอ ได้ชี้บอกว่ามันเป็นวัสดุที่ใช้ในพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษ หรือดวงวิญญาณของผู้คนในพื้นที่
สำหรับที่ทะเลสาบ Titicaca ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของอารยธรรม Inca บรรดานักปฐพีวิทยา นักอุทกวิทยา และนักการเกษตร ได้ร่วมมือกับนักโบราณคดีศึกษาเหตุผลว่าเหตุใดพื้นดินแถบนี้จึงสามารถให้มันฝรั่งได้มากถึง 10 ตัน/เฮคตาร์ ในสมัยอารยธรรม Inca แต่ปัจจุบันผู้คนปลูกมันฝรั่งได้ผลเพียง 3-4 ตัน/เฮกตาร์ เท่านั้นเอง การพบสาเหตุผลทำให้เราเข้าใจได้ว่า เหตุใด Titicaca จึงมีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น เพราะในสมัยนั้น ดินแถบนั้นมีคุณภาพที่ดีมากนั่นเอง
การพลีชีพบูชายัญของคนโบราณ ก็เป็นประเพณีหนึ่งที่นักมานุษยวิทยา และนักสังคมศาสตร์สนใจ เพราะต้องการจะเข้าใจพฤติกรรม ความนึกคิดและการกระทำของผู้คนในสมัยก่อน และได้พบว่าเวลาชนเผ่า Yoruba ในทวีปแอฟริกาตะวันตกต้องการจะกำจัดทุกข์ที่กำลังคุกคามชีวิต พวกเขาจะทำพิธีบูชายัญ โดยการเลือก “เหยื่อ” คนหนึ่งขึ้นมาแล้วอนุญาตให้เหยื่อสามารถมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ใจปรารถนาได้ และก่อนจะถึงวันสำคัญ ชาวบ้านจะอาบน้ำแต่งตัวเหยื่อ จนใครๆ ก็จำไม่ได้ ด้วยการพ่นสี ทาแป้ง แล้วให้เหยื่อเดินไปในหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านทุกคนได้แตะเนื้อต้องตัว เพราะเชื่อว่า การสัมผัสเหยื่อเป็นการถ่ายเทความทุกข์และความเศร้าโศกทั้งหลายให้เหยื่อจนหมด จากนั้นก็จะฆ่าเหยื่อเพื่อให้ทุกคนรู้สึกดี
ประเพณีการฆ่า “แพะ” เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยเช่นนี้ได้มีมาเป็นเวลานานแล้ว ในช่วงเทศกาล Yom Kippur ของชาวยิว เมื่อถึงวันถ่ายบาป นักบวชจะวางมือลงบนศรีษะแพะตัวเป็นๆ แล้วเอ่ยวาจาสารภาพบาปทั้งหมดที่คนในหมู่บ้านทำ จากนั้นแพะก็จะถูกนำไปปล่อยในป่า เพื่อให้มันต่อสู้ป้องกันตัวเอง สำนวนแพะรับบาปจึงมีที่มาจากเรื่องนี้ และนิยมใช้กันทั่วโลก แม้แต่ในสมัยที่เจ้าชาย Edward ที่ 6 ทรงเรียนหนังสือ เวลาพระองค์ทรงทำการบ้านผิดพลาด พระอาจารย์จะไม่เฆี่ยน แต่จะลงโทษเด็กที่พระบิดาทรงจ้างมาให้รับโทษแทน เป็นต้น
การสืบสวนการฆาตกรรม เพื่อหาตัวฆาตกรในสมัยโบราณก็เป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจ และนักโบราณคดีก็ได้พบว่า แม้แต่แมลงก็สามารถชี้บอกวัฒนธรรมการบูชายัญของชาวอินเดียนเผ่า Moche ในทวีปอเมริกาใต้ได้ หรือแม้แต่ประเพณีการกำจัดขยะในรัชสมัยฟาโรห์ Akhenaten ที่ 2 ของอียิปต์ก็สามารถรู้ได้ และการใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ DNA ของคนโบราณ ก็สามารถทำให้รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบรรดาชาวแอฟริกันที่ถูกจับตัวไปขายเป็นทาสในอเมริกาได้
ดังที่นักเขียนชาวจีนชื่อ Sung T’zu ได้เคยเขียนบันทึกว่า ใน ค.ศ. 1247 (ตรงกับรัชสมัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์) ผู้พิพากษาคนหนึ่งได้ตัดสินคดีฆาตกรรมที่ชาวนาถูกฆ่าตาย โดยคนร้ายใช้เคียวเกี่ยวข้าวเป็นอาวุธ ผู้พิพากษาจึงให้เจ้าหน้าที่นำผู้ต้องสงสัยทุกคนมายืนเรียงแถวหน้ากระดาน แล้วบอกให้ทุกคนวางเคียวที่ใช้ในการเกี่ยวข้าวลงเบื้องหน้า จากนั้นผู้พิพากษาก็ยืนดูฝูงแมลงวันที่บินมาตอมเคียวของชายคนหนึ่ง เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้พิพากษารู้ว่าคนๆ นั้น คือ ฆาตกร เพราะแมลงวันชอบกลิ่นคาวของคราบเลือดที่จับอยู่ที่ใบเคียว
ในวารสาร Journal of Archaeological Science ฉบับเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2010 นักกีฏวิทยาชื่อJean-Bernard Huchet แห่งมหาวิทยาลัย Bordeaux 1 ในประเทศฝรั่งเศสและเพื่อนชื่อ Bernard Greenbay แห่งมหาวิทยาลัย Illinois ที่ Chicago ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ซากของฝูงแมลงวันอายุ 1,700 ปี ที่พบบนซากศพของคนที่ถูกชาวอินเดียนเผ่า Moche จับมาบูชายัญ จนทำให้รู้ขั้นตอนและเหตุผลของการมีพิธีศักดิ์สิทธิ์และน่าสยองขวัญนี้
ชาวอินเดียนเผ่า Moche เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในส่วนที่เป็นประเทศ Peru ในปัจจุบันซึ่งอยู่ทางตอนเหนือบนเทือกเขา Andes ในระหว่าง ค.ศ. 100-700 และชนเผ่านี้มีอาชีพหลักคือทำเกษตรกรรม โดยปลูกมันฝรั่ง ถั่ว quinoa สับปะรด เลี้ยงเป็ด, และเลี้ยง alpaca และ llama ตามปกติชอบเคี้ยวใบ coca และดื่มเบียร์ chicha ซึ่งทำมาจากข้าวโพดหมัก อีกทั้งมีชื่อเสียงด้านศิลปกรรมด้วยผลงานวาดภาพพิธีบูชายัญลงบนเครื่องปั้นดินเผา
การศึกษาภาพวาด และกระดูกของเหยื่อที่ถูกสังหารกับซากแมลงที่มาตอมดม ทำให้เรารู้ประเพณีการจัดการศพเหยื่อของชาว Moche ในสมัยนั้นได้ค่อนข้างดี จากการได้วิเคราะห์ DNA ศพของชายคนหนึ่งที่เสียชีวิตเมื่อ 1,700-1,900 ปีก่อน และพบว่า ศพนี้มีซากของแมลงหลายสายพันธุ์มาเกาะติดกรังอยู่ การใช้อุปกรณ์ scanning electron microscope (กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด) ศึกษาโครงสร้างภายในของแมลง แล้วนำมาเปรียบเทียบกับแมลงปัจจุบัน ทำให้รู้ว่า ซากแมลงที่เห็นเป็นของแมลงวัน 3 สายพันธุ์ คือ Muscidae, Calliphoridae และ Sarcophagidae จากนั้นนักวิจัยได้ศึกษาวิถีชีวิตแมลงทั้งสามสายพันธุ์นี้ แล้วทดลองกับของจริง โดยการทิ้งเนื้อหมูสดให้แมลงวันมาไต่ตอม และพบว่า แมลงสายพันธุ์ที่ต่างกัน มีช่วงเวลาของการตอมที่แตกต่างกัน เช่น Calliphoridae จะบินมาวางไข่บนศพที่เพิ่งตายใหม่ๆ และ Muscidae ชอบบินมาเกาะเวลาเนื้อเริ่มเน่า คือ หลังจากที่เนื้อถูกนำไปวางในที่โล่งนานประมาณ 2 สัปดาห์ การรู้ตารางเวลาที่แมลงบินมาเกาะกินและวางไข่บนซากศพทำให้นักวิจัยรู้ว่า ศพชาว Moche มักถูกนำมาวางในที่แจ้ง โดยไม่ได้ฝังหรืออยู่ในโลงเป็นเวลานานประมาณ 1 เดือน สำหรับเหตุผลในการทำเช่นนี้คือ ชาว Moche เชื่อว่าเพื่อให้ดวงวิญญาณของผู้ตายได้โบยบินไปพร้อมกับแมลงวัน ซึ่งก็ตรงกับที่ชาวเปรูในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้เคยบอกนักประวัติศาสตร์ชาวสเปนว่า วิญญาณของคนตายจะเข้าไปสิงอยู่ในตัวแมลงวัน และความเชื่อเช่นนี้ก็ได้ปรากฏอยู่บนเครื่องปั้นดินเผา เป็นภาพของบรรดานักรบชาว Moche ที่บังคับเหยื่อบูชายัญให้เดินเข้าสู่พิธี โดยมีแมลงวันหลายตัวปรากฏอยู่ในภาพวาดด้วย แมลงวันจึงเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่มีบทบาทช่วยในการวิจัยด้านโบราณคดี
เหตุการณ์ไล่ล่าจับชาวแอฟริกันจำนวนมากไปทำงานเป็นทาสในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ก็เป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวและเศร้าที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่ไม่มีใครรู้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ถูกกวาดต้อน ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้น และความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ถูกจับลากตัวไปกับคนที่ตกอยู่เบื้องหลังก็ไม่มีใครรู้
การวิจัยโบราณคดีโดยใช้ DNA โบราณสามารถไขความลึกลับที่เป็นปริศนาในประเด็นนี้ได้
ในปี 1849 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) บาทหลวงชาวอังกฤษชื่อ Robert Gray ได้บรรยายเหตุการณ์ที่ท่านเห็นบนเรือบรรทุกทาส ซึ่งแวะจอดที่เกาะ St. Helena ในมหาสมุทร Atlantic ว่า ทาสจำนวนมากอยู่ในสภาพอดโซ หมดเรี่ยวแรงและมีรูปร่างผอมเหมือนท่อนไม้ คนเหล่านั้นทั้งชาย หญิงและเด็กได้ถูกนำตัวมาจากเรือขนทาส ที่ทางราชนาวีอังกฤษได้ดักจับ ตามกฎหมายห้ามการค้าทาสที่ออกในปี 1807 (รัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เพื่อนำมากักตัวที่ St. Helena กลางมหาสมุทร Atlantic ก่อนจะปล่อยตัวให้เป็นอิสระ และสถิติการสำรวจได้แสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี 1840-1867 เรือได้นำทาสจำนวนประมาณ 27,000 คน มาที่เกาะ และรัฐบาลอังกฤษได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปล่อยคนเหล่านี้ให้เป็นอิสระ ถ้าเขารอดชีวิต แต่ก็พบว่ามีทาสร่วม 10,000 คน ที่ต้องเอาชีวิตมาทิ้งบนเกาะ
ความเป็นทาสทำให้ไม่มีใครนึกถึงหรือระลึกถึงคนเหล่านี้เลยจนกระทั่ง 14 ปีก่อน เมื่อกรรมกรก่อสร้างสนามบินบนเกาะได้ขุดพบโครงกระดูกคนโดยบังเอิญ การขุดดินในบริเวณใกล้เคียงทำให้พบกระดูกของคนอีกเป็นจำนวนร้อยที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินเป็นเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษ แล้วการวิเคราะห์ DNA ของคนเหล่านี้ทำให้โลกได้รู้เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของเขาในทวีปแอฟริกา และรู้ว่าเขาเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด การวิเคราะห์ DNA โบราณ จึงช่วยให้เราปัจจุบันเดินทางย้อนเวลาไปหาอดีตที่เราไปไม่ถึงได้
โลกรู้ว่า St. Helena คือ เกาะที่จักรพรรดิ Napoleon Bonaparte ทรงถูกเนรเทศให้มาใช้ชีวิตในบั้นปลายและจบชีวิตที่นั่น โดยมี Rupert Valley เป็นหุบเขาหนึ่งบนเกาะที่ใช้เป็นสุสานฝังศพของทาสชาวแอฟริกันจำนวนหมื่นที่ราชนาวีอังกฤษได้รวบรวมมาเพื่อแวะให้พักกลางทาง เพราะเกาะ St. Helena ตั้งอยู่ห่างจากทวีปแอฟริกามาก ทำให้การเดินทางด้วยเรือจากเมือง Cape Town ในประเทศแอฟริกาใต้ต้องใช้เวลาถึง 5 วัน
ในปี 2006 ทางรัฐบาลอังกฤษได้ก่อสร้างสนามบินแห่งแรกของเกาะ แต่เมื่อกรรมการก่อสร้างได้ขุดพบกระดูกคน และทุกคนที่เห็นคิดว่าเป็นกระดูกของเด็ก เพราะมันมีขนาดเล็กและผอม จากการประสบภาวะทุพภิกขภัยบนเรือ และโรคระบาด เช่น ไข้ทรพิษ และไข้รากสาด ได้ทำให้ทาสจำนวนมากเสียชีวิต แต่ทางการได้ลงบันทึกว่า ทาสได้ฆ่าตัวตาย สถิติได้ระบุว่าในระหว่างปี 1840-1849 ทาส 5,000 คน ได้ “ฆ่าตัวตาย” และคนที่เหลือรอดชีวิตได้ถูกนำส่งต่อไปที่ Jamaica, Trinidad และประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยไปทำงานเป็นคนงานในไร่อ้อย
เมื่อข่าวการพบกระดูกของทาสจำนวนมากปรากฏในสื่อ รัฐบาลอังกฤษได้จัดส่งนักโบราณคดี 15 คน มาสำรวจพื้นที่ในทันที นักวิชาการเหล่านี้ได้ใช้เวลา 4 เดือน ในการวิเคราะห์กระดูกของคน 325 คน ที่ฝังอยู่ในพื้นที่ 1,800 ตารางเมตร และพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของคนที่เสียชีวิตมีอายุน้อยกว่า 18 ปี ส่วนใหญ่มีอายุ 12 ปี หรือน้อยกว่า และที่นั่นมีศพประมาณ 8,000 ศพ ข้อมูล DNA ของศพเหล่านี้สามารถชี้บอกได้ว่า ทาสแต่ละคนมาจากที่ใด ในทวีปแอฟริกา สภาพชีวิตบนเรือทาสเป็นอย่างไร และการค้าทาสได้เปลี่ยนสภาพร่างกายไปมากเพียงใด เหล่านี้เป็นข้อมูลที่นักวิชาการในอดีตไม่สามารถล่วงรู้ได้
Hannes Schroeder แห่งมหาวิทยาลัย Copenhagen ในเดนมาร์กเป็นนักวิจัย DNA โบราณ ผู้มีความประสงค์จะรู้แหล่งที่อยู่เดิมของบรรดาทาส โดยอาศัยการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม (genome) ของทาสทุกคน ซึ่งนักประวัติสตร์ได้ระบุว่า มีชาวแอฟริกันประมาณ 12 ล้านคนที่ถูกลักพาไป แต่ใช้เรือขนจำนวน 36,000 เที่ยว และได้ระบุเพียงว่า การขนทาสจากแอฟริกาได้เริ่มออกเดินทางจากท่าเรือใด โดยไม่บอกชื่อเสียงเรียงนามใดๆ ของทาส ไม่มีการบอกที่อยู่ หรือแม้แต่ชาติพันธุ์ ซึ่งถ้าข้อมูล DNA ที่ได้จากซากกระดูกสอดคล้องกับข้อมูล DNA ของขาวแอฟริกาปัจจุบันที่อาศัยอยู่ ณ สถานที่ใด Schroeder ก็สามารถบอกได้ว่า ทาสคนนั้นมาจากถิ่นใดในทวีปแอฟริกา
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ แม้นักวิทยาศาสตร์จะมี DNA โบราณที่มีอายุมากกว่าหมื่นปีหรือแสนปี แต่ส่วนใหญ่เป็นของคนยุโรปหรืออเมริกาเหนือ และวงการไม่เคยมี DNA ของคนในเขตร้อน เพราะความชื้นและความร้อนมักทำให้ DNA สลายตัวเร็วจนหมดสภาพในเวลาไม่นาน ความน่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ข้อมูลจาก Rupert’s Valley ได้แสดงความหลากหลายทางพันธุกรรมของชนชาวแอฟริกาในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
ในการวิเคราะห์ genome ของคน 3 คนแรก ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าสองคนเป็นผู้ชาย อีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง ซึ่งทั้งสามคนได้เสียชีวิตในระหว่างปี 1,660 - 1,680 หลังจากที่ได้เปรียบเทียบ DNA โบราณกับ DNA ของคนแอฟริกันปัจจุบันก็พบว่า มีคนหนึ่งที่มีชาติพันธุ์เป็นชาว Bantu ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศ Cameroon ทางตอนเหนือในปัจจุบันและมีชื่อว่าชาว Bamoum ส่วนอีก 2 คน มี DNA คล้ายกับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ Nigeria และ Ghana ผลงานดังกล่าวนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Science ฉบับที่ 112 ในปี 2015 ซึ่งได้ยืนยันว่า DNA โบราณสามารถบอกได้ว่า ทาสมีถิ่นกำเนิดจากสถานที่ใด ข้อมูลในเวลาต่อมายังแสดงให้รู้อีกว่า ทาสเหล่านั้นบางคนมาจากประเทศ Mozambique, Angola และ Madagascar
แม้จะรู้ถิ่นกำเนิดของทาสแต่ Schroeder ก็ยังไม่รู้สถานที่เกิดแท้จริงของทาส ดังนั้น ข้อมูล DNA โบราณจึงยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ แต่ Schroeder ก็ยังได้พยายามจะรู้ต่อไป โดยได้วิเคราะห์ไอโซโทปของสาร strontium ที่ฟันของศพ ซึ่งสามารถบอกได้ว่า คนๆ นั้นใช้ชีวิตในวัยเด็ก ณ ที่ใด เพราะขณะเติบโต ทาสหลายคนมีระดับของ strontium ใกล้เคียงกัน ซึ่งแสดงว่า ในการจับทาสไปขาย คนจับไม่นิยมจับแยกคน แต่จับเป็นกลุ่มจากสถานที่ใกล้ๆ กัน
กระนั้นข้อมูลเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถบอกฐานะทางสังคมของคนตายได้ ข้อจำกัดนี้ทำให้นักวิจัยต้องพึ่งพาข้อมูลลักษณะอื่น เช่น โดยการดูสไตล์การตัดแต่งฟัน ซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งที่ชาวแอฟริกันปัจจุบันนิยมปฏิบัติ
ในปี 1864 เรือขนทาสลำสุดท้ายได้แวะเทียบท่าที่ Rupert’s Valley และในปี 1807 ค่ายกักกันทาสก็ถูกสลายตัวไป บรรดาทาสที่รอดชีวิตได้กลายเป็นพลเมืองของเกาะ St. Helena และได้บอกทุกคนว่า ตนอพยพมาจากทวีปแอฟริกาด้านตะวันตกเพื่อมาอยู่ที่เกาะ ซึ่งตั้งอยู่ไกลจากอารยธรรมต่างๆ มาก แม้จะรู้สึกเป็นอิสระแต่ทุกคนก็รู้สึกเสมือนว่าตนถูกเนรเทศ
ปัจจุบันสนามบินบนเกาะถูกสร้างสำเร็จเสร็จแล้ว แต่ภาวะลมแรง บนเกาะได้ทำให้การสัญจรโดยเครื่องบินมีปัญหา เกาะจึงยังไม่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในฝัน ส่วนโครงกระดูกต่างๆ ที่ถูกขุดขึ้นมาก็ถูกนำไปกลบฝังให้อยู่เหมือนเดิมแล้ว แม้จะไม่มีใครได้เห็นอีก แต่โลกก็ระลึกได้เสมอว่า สถานที่นี้ได้ทำให้โลกเห็นสภาพการค้าทาสที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเราทุกคนในบางครั้งต้องการจะกลับไปเยือน แต่ไปไม่ได้
ผมเชื่อว่า DNA โบราณสามารถช่วยให้เรารู้ว่า คนไทยเรามาจากที่ใดได้
อ่านเพิ่มเติมจาก Time Detectives : How Archaeologists Use Technology to Recapture The Past โดย Brian Fagan จัดพิมพ์โดย Simon and Schuster ปี 2000
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์