นักวิจัยพบว่านอกจากเข้าไปทำลายปอดแล้ว โควิด-19ยังเข้าไปจับกับเซลล์ในอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายได้อีกมาก ตั้งแต่สมอง หัวใจ ตับ ลำไส้ ไต รก กระเพาะปัสสาวะ เพราะโปรตีนที่จับได้ดีกับไวรัสในอวัยวะเหล่านั้น
การค้นพบดังกล่าวอาจทำให้ไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่แค่โรคทางเดินหายใจ เพราะสามารถทำอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ ได้ โดยงานวิจัยที่ศึกษาด้วยการวิเคราะห์ชุดข้อมูลลำดับพันธุกรรมของเซลล์เดี่ยวในอวัยวะต่างๆ พบโปรตีนที่สามารถจับไวรัสโคโรนาดังกล่าวได้ดี คือโปรตีน ACE2 และโปรตีน TMPRSS2
โปรตีนทั้งสองชนิดกระจายอยู่ทั่วร่างกาย พบทั้งในหัวใจ กระเพาะปัสสาวะ ไต จมูก บางครั้งพบในตาและสมองด้วย โดยการค้นพบดังกล่าวรายงานอยู่ในวารสารก่อนตีพิมพ์ bioRxiv อ้างตามรายงานในวารสารดิไซแอนทิสต์ โดยพบว่าเซลล์ที่มีโปรตีนดังกล่าวมีอยู่มากมายในร่างกาย จำนวนมากเป็นเซลล์เยื่อบุผิว (epithelial cells) ซึ่งบุพื้นผิวภายนอกของอวัยวะต่างๆ
การค้นพบดังกล่าวทำให้เห็นว่าไวรัสโควิด-19 หรือ SARS-CoV-2 สามารถโจมตีเซลล์เป้าหมายได้ในหลายๆ ส่วนของร่างกายมนุษย์ มากกว่าจะมุ่งโจมตีแต่อวัยวะเฉพาะส่วนหรือตามทางเดินหายใจ
ทางด้าน แฟรงก์ รัสชิตสกา (Frank Ruschitzka) แพทย์โรคหัวใจจากมหาวิทยาลัยการพยาบาลซูริค (University Hospital of Zürich) ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งไม่ได้ร่วมในงานวิจัยนี้ แต่เขาและคณะได้วิจัยและตีพิมพ์ผลงานที่ใกล้เคียงกัน ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ไวรัสชนิดนี้ไม่ได้เป็นแค่ไวรัสปอดบวม และเป็นโรคที่เราไม่แค่เห็นมาก่อน ไม่ใช่โรคทางเดินหายใจแบบไข้หวัดใหญ่ แต่เป็นไวรัสที่เข้าจู่โจมหลอดเลือดทั้งหมด รวมทั้งโจมตีหัวใจด้วย และการสูญเสียการได้กลิ่นหรือรับรส ก็เป็สัญญาณบอกว่าไวรัสนี้โจมตีระบบประสาทด้วย
รัสชิตสกาและทีมงานได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยลงวารสารเดะแลนเซท (The Lancet) ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวอธิบายว่า พบร่องรอยของไวรัสในเยื่อบุโพรงของหลอดเลือดได้อย่าง โดยเยื่อบุดังกล่าวเป็นชั้นบางๆ ของเซลล์ที่เรียงไปตามหลอดเลือดในหลายๆ อวัยวะของร่างกาย
สำหรับงานวิจัยที่พบว่าไวรัสโควิด-19 สามารถทำอันตรายอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้มากกว่าแต่ปอดนั้น นักวิจัยได้พยายามค้นหาตำแหน่งของเซลล์ต่างๆ ที่มีโปรตีน ACE2 และโปรตีน TMPRSS2 โดยอาศัยแผนที่เซลล์มนุษย์ในโครงการฮิวแมนเซลล์แอตลาส (Human Cell Atlas) ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้นักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลเซลล์มนุษย์มาใส่รวมไว้ด้วยกันตั้งแต่ปี ค.ศ.2016
จากการสืบเสาะบันทึกข้อมูลการลำดับพันธุกรรมเซลล์เดี่ยวที่มีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านเซลล์ ซึ่งได้จากตัวอย่างเนื้อเยื่อต่างๆ ของมนุษย์ นักวิจัยก็สามารถหาได้ว่า เซลล์ใดบ้างที่ผลิตโปรตีน ACE2 และโปรตีน TMPRSS2 และหาได้ว่าตำแหน่งของเซลล์เหล่านั้นอยู่ที่ใดในร่างกาย โดยการวิเคราะห์ครั้งนี้อาศัยชุดข้อมูลเซลล์ปอดและเซลล์ในทางเดินหายใจที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ 16 ฉบับ และงานวิจัยที่ครอบคลุมอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ที่ตีพิมพ์แล้วอีก 91 ฉบับ
ทว่า คริสตอฟ มุส (Christoph Muus) นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University) และสถาบันบรอด (Broad Institute) ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัย อธิบายว่า แม้ในข้อมูลจะแสดงให้เห็นเซลล์ในหลายๆ ตำแหน่งของร่างกายที่ผลิตโปรตีนตัวจับกับไวรัสโควิด-19 แต่ยังไม่แน่ชัดว่าไวรัสจะสามารถให้อวัยวะเหล่านั้นทั้งหมดติดเชื้อได้ โดยตัวจับกับไวรัสอาจเป็นปัจจยัที่ทำให้ติดเชื้อ แต่ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่เพียงพอ เราอาจทดสอบพบในห้องปฏิบัติการ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้ว่า ไวรัสโควิด-19 ทำให้ติดเชื้อและเพิ่มจำนวนในอวัยวะเหล่านั้นของร่างกาย
ขณะที่ เจเรมี คามิล (Jeremy Kamil) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยสุขภาพชรีฟพอร์ทหลุยเวียนาสเตท (Louisiana State University Health Shreveport) กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าว ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ ซึ่งอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าไวรัสโควิด-19 ทำให้เจ้าของร่างติดเชื้อได้อย่างไร และจากการค้นพบชิ้นส่วนไวรัสในเนื้อเยื่อตัวอย่างของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิด-19 อาจทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าอวัยวะใดที่จะติดเชื้อได้อย่างแท้จริง