นักวิทยาศาสตร์เผย “เกรทแบร์ริเออร์รีฟ” แนวปะการังยักษ์ในออสเตรเลีย ฟอกขาวอย่างเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยบันทึก นับเป็นสัญญาณเตือนหายนะถึงภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อสิ่งมีชีวิตแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก
เทอร์รี ฮิวจ์ส (Terry Hughes) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก (James Cook University) ออสเตรเลีย ระบุว่า จากการสำรวจอย่างครอบคลุมเมื่อเดือนที่ผ่าน ได้พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลทำให้เกิดการฟอกขาวเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปีของ “เกรทแบร์ริเออร์รีฟ” (Great Barrier Reef) แนวปะการังขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ยาวกว่า 2,300 กิโลเมตร
การฟอกขาวของปะการังนั้นเกิดขึ้นเมื่อปะการังที่แข็งแรง เกิดความเครียดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมหาสมุทร เป็นเหตุให้ปะการังขับเอาสาหร่ายที่อยู่ในเนื้อเยื่อออก ทำให้สีของปะการังซีดจาง
ฮิวจ์สระบุว่า ทีมวิจัยได้สำรวจปะการัง 1,036 ปะการัง ในช่วงเดือน มี.ค.เพื่อวัดการขยายตัวและความรุนแรงของปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวตลอดแนวเกรทแบร์ริเออร์รีฟ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ได้พบการฟอกขาวครบทั้ง 3 ภูมิภาคของแนวปะการัง ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และตอนนี้ลงไปถึงบางส่วนของปะการังที่อยู่ภาคใต้
ความเสียหายนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่เกรทแบร์ริเออร์รีฟเผชิญอุณภูมิทะเลพุ่งสูงที่สุด นับแต่แต่เริ่มบันทึกมาเมื่อปี ค.ศ.1900 โดยมูลค่าของแนวปะการังยักษ์นี้คำนวณเป็นเงินจากกิจกรรมการท่องเที่ยวสำหรับออสเตรเลียสูงถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่แหล่งท่องเที่ยวทำเงินนี้กำลังเผชิญการสูญเสียการเป็นมรดกโลก เนื่องจากมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นอันเป็นผลจาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กำลังทำลายสุขภาพของปะการัง
แนวปะการังยักษ์นี้เคยการฟอกขาวครั้งรุนแรงก่อนหน้านี้เมื่อปี 2016 และ 2017 ส่วนการฟอกขาวที่สังเกตพบครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1998 ซึ่งปีนั้นได้รับการบันทึกว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุด ทว่าอุณหภูมิก็ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและถี่ขึ้น จนปะการังไม่มีเวลาให้ฟื้นตัว
ด้าน มอร์แกน แพรตเชตต์ (Morgan Pratchett) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเจมส์คุกกล่าวว่า การฟอกขาวอาจไม่ได้ฆ่าปะการังทั้งหมด แต่ก็มีการคาดกาารณ์ที่ค่อนข้างเลวร้าย ทั้งนี้มีปะการังน้ำตื้นมากกว่าครึ่งทางตอนเหนือของแนวปะการังต้องตายไปจากการฟอกขาวเมื่อปี 2016 และภายในปีนี้ทีมวิจัยจะออกไปประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในปรากฏการณ์ล่าสุด