อว.ย้ำ ให้ความสำคัญด้านสังคม เชิญคณาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ถอดรหัสนำองค์ความรู้ด้านสังคมแก้ปัญหาฝังรากลึกประเทศ
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดประชุมหารือการกำหนดประเด็นวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 63 อาคารอุดมศึกษา ถ.ศรีอยุธยา
การประชุมดังกล่าว ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนแผนงานสำคัญด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ก่อนจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากอาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เวทีที่จัดขึ้นในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณาจารย์ และดึงเอาองค์ความรู้จากอาจารย์มหาวิทยาลัยในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ มาสู่การจับต้องได้ และเพื่อเป็นการตอกย้ำว่า อว. ไม่ได้มีภารกิจหรือโฟกัสแค่เรื่องวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ อว. ให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ที่ป็นรากสำคัญที่จะปลดล็อกเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันจะนำมาสู่การพัฒนาประเทศได้
“ยกตัวอย่างเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ตอนนี้ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องการแข่งขัน ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องเชิงสังคมด้วย เพราะการจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้นั้น ต้องคำนึงถึงความร่วมไม้ร่วมมือ ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของประชาชน ความกินดีอยู่ดี รวมถึงองค์ความรู้ในประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้องค์ความรู้แบบข้ามศาสตร์ เพื่อมาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ”
“โจทย์สำคัญที่ชวนอาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาหารือครั้งนี้ เพื่อชวนคุยใน 3 เรื่องสำคัญของประเทศ คือ ความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งที่รุนแรง และการสร้างนวัตกรรมที่สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เราเชื่อมั่นในภาคอุดมศึกษาเรื่ององค์ความรู้และความคิดที่มีความแหลมคม แต่ส่วนใหญ่ความคิดเหล่านั้นมักจะอยู่ในกระดาษ ทำอย่างไรที่เราจะนำองค์ความรู้ที่เหล่าคณาจารย์มี มาสู่การลงมือทำ เพื่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์ประเทศ
ดร.สุวิทย์กล่าวว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาฝังลึกของไทย ส่วนด้านการทำงานยุทธศาสตร์องค์ความรู้ ต้องสร้างสมดุลอย่างน้อย 3 มิติ คือ สร้างความรู้พื้นฐานเพื่อนำไปสู่ความรู้ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริง สร้างความเชื่อมโยงจากโจทย์ Quick win ไปสู่โจทย์ระยะยาว และการทำให้สิ่งที่อยู่ในอุดมคติมาสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น เราจะมีการประชุมด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้จบครั้งนี้ครั้งเดียว
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เผยว่าการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะขยับไม่ได้เลยหากขาดการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ที่ต้องดำเนินควบคู่กันไป เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และแฝงอยู่ในทุกๆ มิติของการพัฒนาประเทศ การประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อมาช่วยกันเซ็ตโครงสร้าง แนวทางที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศอย่างมีระบบ อันจะนำมาสู่การออกแบบนโยบายเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนในหลากหลายประเด็น อาทิ การพัฒนาการสร้างระบบการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ การส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมความเกื้อกูล ความอาทร ท่ามกลางการขยายตัวของสังคมเมือง เสนอให้มีการสร้างองค์ความรู้เชิงลึก ปลูกฝังความรู้รากเหง้าของประเทศ แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ปฏิเสธองค์ความรู้จากภายนอก นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้เสนอให้นำเอาความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creativity มาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มมูลค่าตั้งแต่การตั้งโจทย์ การลงมือปฏิบัติ จนกระทั่งเมื่อออกมาเป็นผลลัพธ์
หลังจากการประชุม รัฐมนตรี อว.ยังได้ชวนมองเป้าหมายร่วมกันทั้งเรื่องการนำพาประเทศสู่ความมั่งคั่ง ที่ไม่ใช่เพียงด้านวัตถุ แต่หมายรวมถึงความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม ความมั่งคั่งในการสร้างคุณค่าให้เกิดในสังคม นอกจากนี้ สิ่งที่เราคิดร่วมกันต้องนำไปสู่ Sustainability Growth และ Inclusive Growth ตลอดจนเป้าหมายในการสร้างให้สังคมไทยเป็น Balancing Economy ให้มีความสมดุลของความเป็นไทยภายใต้บริบทโลก
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมว่า เสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งสำคัญ นักวิชาการจำเป็นต้องมีอิสระในการวิจัยองค์ความรู้ใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการวิจัยเชิงปฏิบัตินิยมอย่างมียุทธศาสตร์ (strategic pragmatism) โดยต้องมีการออกแบบกลไก เช่น การสร้าง Platform เพื่อเชื่อมโยงและใช้ความรู้ที่ข้ามศาสตร์ และเพื่อเป็นกลไกเชื่อมโยงระหว่างภาควิชาการ และภาคนโยบาย เพื่อนำไปสู่การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้ได้จริง
ทั้งนี้ ประชาคมได้เสนอโจทย์ท้าทายของสังคม ที่ต้องการการบูรณาการข้ามศาสตร์ เช่น การสร้างความรู้เพื่อเข้าใจคนรุ่นใหม่ในโลกที่เปราะบาง โดยใช้มุมมองมนุษย์เป็นศูนย์กลาง รวมถึงการเข้าใจความขัดแย้งในสังคม ทั้งจากอารมณ์และเหตุผลประกอบกัน ในด้านศิลปกรรมศาสตร์นั้น มีความเห็นว่า ศิลปะแม้จะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ได้ แต่ต้องตระหนักถึงบทบาทในการพัฒนามนุษย์ในระยะยาว แสดงคุณค่าที่หลากหลาย ซึ่งระบบวิจัยต้องประเมินโดยรับรู้ความหลากหลายนี้ด้วย