“โจเซลีน เบลล์ เบอร์เนล” นักดาราศาสตร์หญิงผู้พบสัญญาพัลซาร์ เดินหน้าสร้างแรงบันดาลใจสร้างฝันสู่เส้นทางนักวิทยาศาสตร์ พร้อมร่วมเสวนานักวิทยาศาสตร์หญิงซึ่งสะท้อนมุมมองว่า เพศไม่ใช่ตัวกำหนดบริบททางสังคม
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ กรุงเทพฯ (British Embassy Bangkok) บริติชเคานซิล (British Council) ลอรีอัล ประเทศไทย และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จัดเสวนาพิเศษหัวข้อ “ภาพสะท้อนบริบทนักวิทยาศาสตร์หญิงในยุคปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 30 ม.ค.63 ณ โรงแรมคอมพาส สกายวิว สุขุมวิท 24
การเสวนาดังกล่าว ท่านผู้หญิงโจเซลีน เบลล์ เบอร์เนล (Dame Jocelyn Bell Burnell) นักดาราศาสตร์หญิงผู้พบสัญญาณพัลซาร์ (Pulsar) เป็นคนแรกของโลกได้ร่วมเสวนา และร่วมเล่าประสบการณ์ผ่านการทำงานทางด้านดาราศาสตร์ร่วม 50 ปี และในขณะที่เธอยังเป็นนักศึกษาก็ได้ค้นพบปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกในขณะนั้น
โจเซลีน เบลล์ได้อธิบายเกี่ยวกับการค้นพบครั้งนั้นไว้ว่า พัลซาร์เป็นดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองเร็วมาก และเปล่งพลังงานในทิศทางชี้มายังโลกเป็นจังหวะซ้ำๆ กัน พัลซาร์จะเกิดขึ้นหลังจากเกิดซูเปอร์โนวา (Supernova) เมื่อดาวฤกษ์มวลมากระเบิด จะเหลือแก่นกลางดาวที่เคยอยู่ภายใต้สภาวะความดันสูงที่กลายเป็นวัตถุที่หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว และมีสนามแม่เหล็กความเข้มสูงมาก
พัลซาร์จะปล่อยลำรังสีที่เราจะตรวจพบได้เมื่อลำรังสีชี้ในทิศทางพุ่งมายังโลกเท่านั้น การที่ดาวนิวตรอนหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ลำรังสีกวาดผ่านโลกเป็นสัญญาณที่มีจังหวะซ้ำๆ กัน คล้ายสัญญาณชีพจร (Pulse) ดังนั้น พัลซาร์จะดูคล้ายคลึงกับการมองเห็นแสงที่สาดส่องจากประภาคาร ที่จะปรากฏสว่าง-มืดสลับกันเป็นจังหวะ
ช่วงเวลาระหว่างสัญญาณแต่ละครั้งที่มาจากพัลซาร์จะมีตั้งแต่ 0.0014 – 8.5 วินาที หรือจะกล่าวได้ว่าพัลซาร์เหล่านี้หมุนรอบตัวเองเร็วมากเมื่อเทียบกับโลกที่ใช้เวลาหมุนรอบตัวเอง 24 ชั่วโมง ในบางกรณีนั้นพัลซาร์จะหมุนรอบตัวเองได้มากกว่า 500 ครั้งใน 1 วินาที และวัตถุเหล่านี้มีขนาดความกว้างเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร แต่มีมวลพอๆ กับดวงอาทิตย์
พัลซาร์ดวงแรกถูกค้นพบใน พ.ศ.2510 โดย โจเซลีน เบลล์ เบอร์เนล และแอนโทนี ฮูวิช (Antony Hewish) แต่เนื่องจากสภาพทางธรรมชาติของพัลซาร์ ทำให้กลุ่มผู้ค้นพบรู้สึกประหลาดใจว่า สัญญาณพัลซาร์ที่ตรวจพบเป็นสัญญาณจากอารยธรรมนอกโลกหรือไม่ พวกเขาจึงตั้งชื่อพัลซาร์ดวงแรกว่า LGM-1 (LGM ย่อมาจาก Little Green Men) แต่ในปัจจุบันนี้ เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสัญญาณดังกล่าวไม่ได้มาจากอารยธรรมนอกโลก
พร้อมกันนี้ โจเซลีน เบล์ ยังได้ร่วมเสวนากับนักวิทยาศาสตร์หญิงในไทยเกี่ยวกับภาพสะท้อนบริบทนักวิทยาศาสตร์หญิงในยุคปัจจุบัน ซึ่งมี ดร.อัญชลี มโนนุกุล หัวหน้าทีมห้องปฏิบัติการวิจัยโลหะขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. รศ.ดร.สุชานา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมเสวนา
นักวิทยาศาสตร์หญิงได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลว่า ในปัจจุบันจำนวนนักศึกษาหญิงที่สนใจเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์มีจำนวนมากคิดเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนที่กลับกันกับในสมัยก่อน ที่มีจำนวนนักศึกษาเพศหญิงที่สนใจเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์เพียงร้อยละ 20 ของการรวบรวมสถิติทั้งหมด และในสมัยนี้บริบทของนักวิทยาศาสตร์หญิงได้พัฒนาเป็นที่ประจักษ์ว่า เพศไม่ใช่ตัวกำหนดบริบททางสังคมอีกต่อไป
“การที่เราเป็นเพศหญิงแต่สามารถพิสูจน์ความสามารถผ่านผลงานและการสั่งสมประสบการณ์นั้นเป็นเรื่องที่ดีและควรค่าแก่การได้รับการยอมรับและนับถือ ซึ่งในปัจจุบันนี้ การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด และหลายงานวิจัยที่เกิดขึ้น ก็เกิดจากนักวิจัยหญิงที่ทำงานร่วมกับศาสตราจารย์ในองค์กร ผ่านหลายๆ โครงการวิจัยในองค์กรใหญ่ระดับประเทศ” ข้อสรุปจากวงเสวนาของนักวิทยาศาสตร์
ทว่าการร่วมเสวนาของ โจเซลีน เบลล์ ไม่เพียงแค่ส่งแรงบันดาลใจให้เฉพาะนักศึกษาหญิงสู่ความฝันในการเป็นนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังส่งต่อแรงบันดาลใจไปถึงผู้ที่มีความฝันและความมุ่งมั่นในด้านวิทยาศาสตร์ หรือเรื่องอื่นๆ เพราะการที่ประเทศหรือแม้แต่องค์กรหนึ่งจะพัฒนาจนประสบความสำเร็จนั้น ต้องเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน และปัจจัยหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ องค์กรเหล่านั้นต้องมีผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน และอยากจะเห็นความสำเร็จขององค์กร จนนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศในที่สุด