ขณะที่เชื้อไวรัสตัวใหม่กำลังระบาดและสร้างความกังวลไปทั่วโลก ไวรัสอีกตัวที่ไม่ใหม่คือ "ไวรัสตับอักเสบซี" แต่สร้างปัญหาไม่แพ้กันเพราะทำให้คนตายมากกว่าเชื้อเอชไอวี วัณโรค และมาลาเรียรวมกันเสียอีก จึงมีความท้าทายที่เราจะต้องกำจัดเชื้อให้หมดใน 10 ปี
"กำจัดไวรัสตับอักเสบจากประเทศไทย" เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยท้าทายไทย ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ทำงานร่วมกัน
โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส เป็นหนึ่งในในปัญหาสำคัญด้านสุขภาพของประชากรโลกและไทย โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกมากกว่าการเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) วัณโรค และมาลาเรียรวมกัน ปัจจุยันมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรังทั่วโลก ประมาณ 257 ล้านคน และติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังกว่า 71 ล้านคน
สำหรับประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังประมาณ 2.2 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 7.5 แสนคน ซึ่งการติดเชื้อไวรัสเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเกิดโรคมะเร็งตับและตับแข็งตามมา
ระหว่างเปิดตัวโครงการวิจัยกำจัดไวรัสตับอักเสบเมื่อวันที่ 28 ม.ค.63 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล มีการบรรยายหัวข้อ HCV: from molecular virology to viral eradication โดยศาสตราจารย์ ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิลยู บาร์เทนชลากเกอร์ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2562 โดยศาสตราจารย์บาร์เทนชลากเกอร์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การติดเชื้อ รวมถึงการป้องกันเชื้อไวรัสในขั้นต้น
จากบรรยายของ ศ.ดร.บาร์เทนชลากเกอร์ ระบุว่า การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีนั้น สามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ทางการให้นมบุตร และยังติดต่อได้จากการจามหรือไอรดกัน การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน และการใช้ถ้วยชามร่วมกันหรืออาจเกิดจากการรับเลือดจากผู้บริจาคโลหิตที่ไม่ผ่านการคัดกรองหรือตรวจเชื้อไวรัส
พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติทำหน้าที่ ผู้อำนวยการ วช. ได้แถลงข่าวแผนงานการกำจัดไวรัสตับอักเสบจากประเทศไทย (Hepatitis Elimination) โดยระบุว่า วช.เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการทุนวิจัยหลักของประเทศและเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการประสานงานกับทุกภาคส่วนในการทำงานวิจัยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งเน้นการกำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปจากประเทศไทยในปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า
"เราพยายามขับเคลื่อน ดูแลความรู้เกี่ยวกับการวิจัย ให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการโดยภาพรวมผ่านเป้าหมายพื้นที่นำร่องดภายใน 2 ปี โดยพื้นที่แรกคือที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบมากที่สุดในไทย ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งเป้าการกำจัดไวรัสตับอักเสบโดยมีเป้าหมายหลัก 4 ประการคือ 1.ลดการติดเชื้อรายใหม่ของไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้ได้อย่างน้อย 90% 2.ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซีจะต้องได้รับการวินิจฉัยให้ได้อย่างน้อย 90% 3.ผู้ที่รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อแบบเรื้อรัง จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาให้ได้อย่างน้อย 80% 4.ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับแข็งและมะเร็งตับให้ได้อย่างน้อย 65%
ทางด้าน ศ.นพ.ดร.ยง ภู่วรวรรณ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการในส่วนของการวิจัยเพื่อให้เกิดผล (lmplementation Research) เพื่อกำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปจากประเทศไทย กล่าวว่า เรามีต้นแบบในการให้วัคซีน และมีแผนนำร่อง โดยเวลาร่วม 25-30 ปี ในการให้ประเทศไทยปลอดไวรัสตับอักเสบ โดยเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาจะไม่มีปัญหาเท่าไร และเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะสามารถส่งผลให้ประเทศไทยกำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปได้ บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้