xs
xsm
sm
md
lg

รวมปรากฏการณ์ที่น่าติดตามถ่ายภาพ ปี 2020

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์



ในปี 2020 นี้เรามีหลายปรากฏการณ์ที่น่าติดตาม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา วันที่ 3-4 มกราคม ก็เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกควอดรานติดส์ ซึ่งมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง โดยหลังจากนี้ก็ยังมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อีกมากมายให้เราได้ติดตามถ่ายภาพกันได้ตลอดทั้งปี จะมีอะไรที่น่าติดตามถ่ายภาพกันบ้างนั้น มาดูกันเลยครับ

11 มกราคม 2563 (จันทรุปราคาเงามัว)

ภาพเปรียบเทียบดวงจันทร์เต็มดวงขณะเกิดปรากฏกาณณ์จันทรุปราคาเงามัว
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว จะเกิดขึ้น ในวันที่ 11 มกราคม 2563 โดยช่วงที่ดวงจันทร์เข้าไปในเงามัวของโลกมากที่สุด ตรงกับเวลา 02.10 น. ปรากฏการณ์นี้เกิดจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืดของโลก ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงเห็นเป็นดวงจันทร์เต็มดวงแต่ความสว่างลดลง

สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์นี้ ผมแนะนำให้ถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงก่อนเกิดปรากฏการณ์แล้วนำมาเปรียบเทียบกับช่วงที่เกิดจันทรุปราคาเงามัว ก็จะทำให้เห็นภาพการเกิดปรากฏการณ์ได้ชัดเจน

1-8 กุมภาพันธ์ 2563 (เริ่มต้นถ่ายทางช้างเผือก)


ในเดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นช่วงเริ่มต้นถ่ายภาพทางช้างเผือกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงรุ่งเช้า ตั้งแต่เวลาตี 5 ไปจนถึงรุ่งเช้า โดยสามารถถ่ายภาพตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ (หลังจากนั้นจะมีแสงดวงจันทร์สว่างรบกวน) โดยตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ขนานกับของฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะมีเวลาให้เราได้ถ่ายภาพประมาณไม่เกิน 1 ชั่วโมง ช่วงเวลาดังกล่าวจะมีดาวอังคารอยู่ใกล้กับใจกลางทางช้างเผือก ถือเป็นช่วงต้นปีของการออกล่าทางช้างเผือก


(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll+ Takahashi Teegul Sky Partrol / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 1600 / Exposure : 117 sec)

8 เมษายน 2563 (Super Full Moon)


ภาพถ่าย Moon Illusion โดยการถ่ายดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 7D / Lens : Astrotech 5 Inch / Focal length : 1,200 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 800 / Exposure : 1/800s)

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ Super Full Moon จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 เมษายน 2563 ที่ระยะห่าง 357,022 กิโลเมตร ในวันนี้เราจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย และมีความสว่างปรากฏมากกว่าค่าเฉลี่ย 7.7 เปอร์เซ็นต์ โดยสามารถถ่ายภาพได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันออก รูปแบบในการถ่ายภาพปรากฏการณ์นี้ ตัวอย่างเช่น การถ่ายภาพดวงจันทร์เพื่อเปรียบเทียบขนาดวัตถุที่ขอบฟ้า หรือการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกไว้เปรียบเทียบกับภาพดวงจันทร์ไกลโลก

21 มิถุนายน 2563 (สุริยุปราคาบางส่วน)


ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน 2563 เวลาประมาณ 14:42 น. โดยปรากฏการณ์นี้บนพื้นโลกจะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน แนวคราสวงแหวน พาดผ่านฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา คาบสมุทรอาหรับ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิก แต่สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์บางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกบดบังแตกต่างกัน ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคเหนือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 62.70%

14 กรกฎาคม 2563 (ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก)


ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 โดยในช่วงวันดังกล่าวดาวพฤหัสบดี จะปรากฏเด่นชัดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า โดยปรากฏการณ์นี้เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในแนวเดียวกันมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 619 ล้านกิโลเมตร

สำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้จำเป็นต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสสูง ถ่ายภาพร่วมกับกล้องถ่ายภาพประเภทเว็บแคมในรูปแบบไฟล์วีดีโอแล้วนำภาพมา Stacking เพื่อให้ได้ภาพดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่และได้รายละเอียดสูง ซึ่งนักดาราศาสตร์จะให้ความสำคัญกับรายละเอียดของแถบพายุบนดาวพฤหัสบดี รวมทั้งการถ่ายภาพดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีในช่วงที่ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกนี้อีกด้วย

21 กรกฎาคม 2563 (ดาวเสาร์ใกล้โลก)


ดาวเสาร์ใกล้โลก จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 2563 โดยในช่วงวันดังกล่าวดาวเสาร์จะปรากฏเด่นชัดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงอยู่ในแนวเดียวกันมีโลกอยู่ตรงกลางส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 1,346 ล้านกิโลเมตร

สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพก็ใช้วิธีการเดียวกันกับการถ่ายภาพดาวพฤหัสบดี แต่ความพิเศษของการถ่ายภาพดาวเสาร์ใกล้โลกแต่ละปีนั้น ความเอียงของวงแหวนก็จะมีความเอียงที่แตกต่างกันไป รวมทั้งเป็นช่วงโอกาสที่ดีที่จะสามารถถ่ายภาพชั้นของวงแหวนดาวเสาร์ได้ชัดเจนกว่าช่วงเวลาอื่นอีกด้วย


ภาพจำลองความเอียงของระนาบวงแหวนดาวเสาร์ในแต่ละปี ภาพอนุเคราะห์จาก : https://commons.wikimedia.org



6 ตุลาคม 2563 (ดาวอังคารใกล้โลก)


ดาวอังคารใกล้โลก จะเกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2563 โดยในช่วงวันดังกล่าวดาวอังคารจะปรากฏเด่นชัดทางทิศตะวันออกหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 62.07 ล้าน และหลังจากนั้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคาร เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง) ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 62.70 ล้านกิโลเมตร กิโลเมตร ซึ่งปรากฏกาณ์ดาวอังคารใกล้โลกจะเกิดขึ้นทุกๆ 2 ปี 2 เดือน โดยประมาณ ช่วงเวลาดังกล่าวดาวอังคารจะส่องสว่างสุกใส เปล่งประกายสีส้มแดงโดดเด่นบนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก

สำหรับการถ่ายภาพดาวอังคารใกล้โลกนั้นถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพพื้นผิวของดาวอังคาร ซึ่งช่วงดังกล่าวจะสามารถเก็บภาพขั้วน้ำแข็งรวมทั้งเมฆบนดาวอังคารได้ดีที่สุดอีกด้วย เทคนิคในการถ่ายภาพก็ใช้วิธีการเดียวกันกับการถ่ายภาพดาวเคราะห์ด้วยกล้องทางยาวโฟกัสสูงๆร่วมกับกล้องถ่ายภาพแบบเว็บแคมเพื่อให้ได้รายละเอียดมากที่สุดครับ

31 ตุลาคม 2563 (Micro Full Moon)


ภาพเปรียบเทียบขนาดดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุดในรอบปีกับภาพดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี 2562

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ Micro Full Moon จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่ระยะห่าง 406,153 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย เหมาะแก่การนำภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในวันที่ 8 เมษายน มาเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์ในช่วงไกลโลกที่สุดในรอบปี ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นขนาดปรากฏที่เปลี่ยนแปลงตามระยะห่างในแต่ละช่วงของดวงจันทร์ได้เป็นอย่างดีครับ

โดยการถ่ายภาพนั้น เรามักใช้วิธีการถ่ายภาพดวงจันทร์แบบต่อเนื่อง หลายๆ สิบภาพแล้วนำภาพทั้งหมดไป Stacking ในโปรแกรม RegiStax เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่คมชัดที่สุด

17-18 พฤศจิกายน 2563 (ฝนดาวตกลีโอนิดส์)

ภาพถ่ายปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ด้วยวิธีการถ่ายบนขาตั้งกล้องแบบตามดาว (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 30 sec / WB : 3800K / Composite image 32 Images)
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ จะเกิดขึ้นในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 โดยฝนดาวตกนี้นักดาราศาสตร์ยกให้เป็นราชาแห่งฝนดาวตก เพราะในอดีตฝนดาวตกลีโอนิดส์เคยมีอัตราการตกสูงมาก ทำให้สามารถเห็นไฟร์บอลขนาดใหญ่จำนวนหลายร้อยดวง อีกทั้งบางดวงยังมีขนาดใหญ่ทิ้งควันไว้เป็นทางยาวให้สังเกตเห็นกันได้อีกด้วย โดยในปีนี้จะสามารถสังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน เวลาประมาณตี 2 เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 10-15 ดวงต่อชั่วโมง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวสิงโตซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก

สำหรับเทคนิคที่นักดาราศาสตร์นิยมใช้ถ่ายภาพฝนดาวตก คือการถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง ตั้งค่าความไวแสงสูง ISO 3200 ขึ้นไป ตั้งกล้องบนขาตามดาวแล้วหันไปยังทิศทางกลุ่มดาวสิงโต เพื่อเก็บภาพฝนดาวตกที่พุ่งออกมาจากศูนย์กลางการะกระจายตัว

13-14 ธันวาคม 2563 (ฝนดาวตกเจมินิดส์)

ภาพถ่ายปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ โดยการตั้งกล้องถ่ายภาพแบบติดตามวัตถุท้องฟ้าด้วยขาตั้งกล้องโทรทรรศน์  (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 30 sec x 26 Images)
ฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ (Geminids Meteor Shower) จะเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 22:00 น.วันที่ 13 ธันวาคม ถึงเช้ามืดประมาณ 05:00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคม ตามเวลาในประเทศไทย โดยในปีนี้จะสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้มากถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งจะสังเกตได้ง่ายกว่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ เนื่องจากมีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประมาณ 35 กิโลเมตรต่อวินาที ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กับกลุ่มดาวคนคู่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกเจมินิดส์

สำหรับการถ่ายภาพฝนดาวตกเจมินิดส์ นั้นส่วนตัวคิดว่าเป็นการถ่ายภาพที่สนุกที่สุดในบรรดาฝนดาวตกอื่นๆ เนื่องจากฝนดาวตกเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงค่ำๆ และถ่ายภาพได้ตลอดทั้งคืน ทำให้มีโอกาสเก็บภาพไฟร์บอลได้จำนวนมากและไม่ทำให้นักถ่ายภาพผิดหวัง

20-23 ธันวาคม 2563 (ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี)


The Great Conjunction 2020 ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20-23 ธันวาคม 2563 ระยะห่างเพียง 0.1 องศาเท่านั้นซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่คนในยุคนี้จะมีโอกาสได้เห็นดาวเคราะห์ใกล้กันมากขนาดนี้ โดยเมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเสมือนเป็นจุดสว่างเพียงจุดเดียว หากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะสามารถมองเห็นดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน นักดาราศาสตร์เรียกปรากฏการณ์ที่ดาวเคราะห์ทั้งสองปรากฏอยู่ใกล้กันมากบนท้องฟ้าว่า “The Great Conjunction”

สำหรับความพิเศษของปรากฏการณ์นี้คือ เราจะสามารถถ่ายภาพดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ทั้ง 2 ดวงนี้ไว้ในเฟรมเดียวกันและคราวเดียวกัน ถือเป็นปรากฏการณ์พิเศษส่งท้ายปีสำหรับการติดตามถ่ายภาพปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจในปีนี้ครับ


เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน



กำลังโหลดความคิดเห็น