สดร.แนะนำ 3 ปรากฏการณ์น่าติดตามในปี 2563 “ฝนดาวตกควอดรานติดส์” ช่วง ธ.ค.-ต้น ม.ค., “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” ช่วงเดือน พ.ย. และ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” ช่วง ธ.ค.
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) แนะนำปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่น่าติดตามในปี พ.ศ.2563 “ฝนดาวตกควอดรานติดส์” , “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” และ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 10 เรื่องราวดาราศาสตร์ที่น่าติดตามประจำปีนี้
- ฝนดาวตกควอดรานติดส์ (Quadrantids)
เป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 28 ธันวาคม - มกราคม ของทุกปี คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ตั้งแต่เวลา 03:00 น. ถึงรุ่งเช้าของวันที่ 4 มกราคม 2563 จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเครื่องมือเดินเรือ (Quadrans Muralis) ซึ่งกลุ่มดาวนี้ถูกยกเลิกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตามตำแหน่งของศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกนี้อยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มดาวมกร ซึ่งเป็นกลุ่มดาวสมัยใหม่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคในบริเวณฟ้ามืดสนิท ในคืนดังกล่าวตรงกับช่วง ดวงจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเป็นโอกาสดีที่จะสังเกตการณ์ฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืน
- ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids)
หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต” เป็นฝนดาวตกที่เกิดในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี สำหรับปีนี้มีอัตราการตกสูงสุด ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 พฤศจิกายน จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 18 พฤศจิกายน ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต ปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในคืนดังกล่าวตรงกับช่วงดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ ไม่มีแสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหางตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของ
ฝนดาวตกลีโอนิดส์สวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก สูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตก ที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งฝนดาวตก”
ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids) หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” เป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นในช่วง 4 - 20 ธันวาคมของทุกๆ ปี คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:30 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2563
จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคในบริเวณฟ้ามืดสนิท ในคืนดังกล่าวตรงกับช่วงจันทร์ดับ ท้องฟ้าจะมืดสนิท ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเป็นโอกาสดีที่จะสังเกตการณ์ฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืน
ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากโลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball)
ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือ เป็นดาวตกที่ มีทิศทางพุ่งมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือ ดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต
ทั้งนี้ ตลอดทั้งปีมีปรากฏการณ์ฝนดาวตก ดังนี้
ฝนดาวตกควอดรานติดส์ 3-4 มกราคม (เฉลี่ย 120 ดวงต่อชั่วโมง)
ฝนดาวตกไลริดส์ 22-23 เมษายน (เฉลี่ย 20 ดวงต่อชั่วโมง)
ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ 5-6 พฤษภาคม (เฉลี่ย 50 ดวงต่อชั่วโมง)
ฝนดาวตกเดลต้า-อควอริดส์ 28-29 กรกฎาคม (เฉลี่ย 25 ดวงต่อชั่วโมง)
ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ 12-13 สิงหาคม (เฉลี่ย 110 ดวงต่อชั่วโมง)
ฝนดาวตกทอริดส์ใต้ 10-11 ตุลาคม (เฉลี่ย 5 ดวงต่อชั่วโมง)
ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ 21-22 ตุลาคม (เฉลี่ย 20 ดวงต่อชั่วโมง)
ฝนดาวตกทอริดส์เหนือ 11-12 พฤศจิกายน (เฉลี่ย 5 ดวงต่อชั่วโมง)
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ 17-18 พฤศจิกายน (เฉลี่ย 15 ดวงต่อชั่วโมง)
ฝนดาวตกเจมินิดส์ 13-14 ธันวาคม (เฉลี่ย 150 ดวงต่อชั่วโมง)
ฝนดาวตกเออร์ซิดส์ 22-23 ธันวาคม (เฉลี่ย 10 ดวงต่อชั่วโมง)