นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ปรากฏการณ์ฝนดาวตกควอดรานติดส์ จะเกิดช่วงระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม – 12 มกราคมของทุกปี สำหรับปี 2563 มีอัตราการตกสูงสุด หลังเที่ยงคืนของวันที่ 3 มกราคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 4 มกราคม ช่วงที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ที่สุด คือ เวลาประมาณ 02.30 น. เป็นต้นไป ศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มดาวมังกร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปีนี้คาดมีอัตราการตกสูงสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง ประกอบกับคืนดังกล่าวไม่มีแสงจันทร์รบกวนจึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง ผู้สนใจชมปรากฎการณ์ฝนดาวตกควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคมประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูหนาว สภาพท้องฟ้าส่วนใหญ่มีทัศนวิสัยดีมากเหมาะแก่การดูดาวเป็นอย่างยิ่ง คืนวันที่ 3 มกราคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 4 มกราคม 2563 ดวงจันทร์ตกเวลาประมาณเที่ยงคืน ช่วงเวลาดังกล่าวจึงไร้แสงจันทร์รบกวน เป็นโอกาสดีที่จะได้ชื่นชมความสวยงามของฝนดาวตกควอนดรานติดส์ต้อนรับทศวรรษใหม่ (ค.ศ. 2020) นี้
ทั้งนี้ ฝนดาวตกควอดรานติดส์ (Quadrantids Meteor Shower) เกิดจากเศษอนุภาคที่หลงเหลือของ ดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช1 (2003 EH1) ที่โคจรตัดผ่านวงโคจรของโลก เมื่อโลกเคลื่อนที่เข้าใกล้บริเวณดังกล่าว เศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก เกิดเป็นลำแสงวาบ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (fireball) ฝนดาวตกดังกล่าวตั้งชื่อตามกลุ่มดาวควอดแดรนส์ มูราลิส (Quadrans Muralis) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากลุ่มดาวเครื่องมือเดินเรือ ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่เคยมีในแผนที่ดาวในช่วงศตวรรษที่ 19 (ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปแล้ว) อยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มดาวมังกร