“หอยแครง” อาหารทะเลชื่อคุ้นหู เมนูจานโปรดของใครหลายคน และหลายๆ คน ก็คงจะไม่รู้ว่าปัจจุบันนี้ หอยแครงที่กินอยู่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย แต่เป็นหอยแครงที่เป็นลูกพันธุ์มาจากต่างประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้หอยแครงตามธรรมชาตินั้นลดน้อยลง ประกอบกับประเทศไทยเรายังไม่ได้มีการพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงหอยแครงและผลิตลูกหอยแครงเพื่อจำหน่าย จึงทำให้ชาวบ้านที่ทำอาชีพการเลี้ยงหอยแครงประสบปัญหาต่างๆ
ด้วยเหตุดังกล่าวชาวบ้านคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากทางมหาวิทยาลัยบูรพา คิดหาวิธีการเพาะเลี้ยงหอยแครงให้ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด ซึ่งได้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้ช่วยประสานงานในเรื่องนี้
ดร.สุพรรณี ลีโทชวลิต หัวหน้าฝ่ายสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ได้กล่าวว่า ปัจจุบันหอยแครงสายพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาตินั้นลดน้อยลงมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้หอยแครงตามธรรมชาติขยายพันธุ์ได้ช้า อีกทั้งความต้องการของตลาดในการบริโภคหอยแครงยังสูง จึงทำให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยต้องรับลูกพันธุ์มาจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย พม่า ในราคาประมาณกระสอบละ 30,000 บาท โดยหนึ่งกระสอบมี 10 กิโลกรัม
เนื่องจากประเทศไทยยังขาดการพัฒนาวิธีในการเพราะเลี้ยงและขยายพันธุ์หอยแครง ทำให้ในท้องตลาดไม่มีลูกหอยแครงจำหน่ายในด้านธุรกิจ ชาวบ้านที่ประกอบชีพเลี้ยงหอยแครงจึงต้องนำเข้าลูกหอยแครงจากต่างประเทศ เพื่อมาเลี้ยงให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการและจำหน่าย แต่การเลี้ยงในปัจจุบันก็ประสบปัญหามากมาย ทั้งสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แม้ทางชาวบ้านและนักวิจัยจะร่วมกันวิจัยและนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บตัวอย่างดินและน้ำ เพื่อที่จะใช้ข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ลดความเสี่ยงในการเลี้ยงหอยแครงให้ได้ผลผลิตที่มากที่สุด
“หอยแครงพันธุ์ไทยตามธรรมชาตินั้นยังมีอยู่ แต่ก็อาศัยอยู่ในเขตอุทยาน ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปเก็บได้ และบ้านเราก็ยังไม่มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงลูกพันธุ์หอยแครงเพื่อจำหน่ายกันอย่างจริงจัง จึงทำให้ชาวบ้านต้องไปรับจากต่างประเทศ ซึ่งหอยแครงที่ได้มานั้นก็มีความเสี่ยงในเรื่องการนำมาเพาะเลี้ยงต่อ เนื่องจากสภาพน้ำ ความเค็มของน้ำ และดินนั้น แตกต่างกัน อีกทั้งสภาพแวดล้อมบ้านเรายังเปลี่ยนไปมากไม่เอื้อต่อการเพาะเลี้ยง" ดร.สุพรรณี กล่าวอธิบาย
ทว่ามีวิธี “เลี้ยงหอยแครงในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติ” วิธีนี้สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ แต่มีข้อเสียคือ อาหารที่หอยกินนั้นยังไม่มีการพัฒนาในเรื่องนี้ ซึ่งแตกต่างจากการเลี้ยงตามธรรมชาติที่มีอาหารมาตามกระแสน้ำ และหอยยังกินอาหารเร็วมากแพลงก์ตอนที่ใช้เป็นอาหารก็หมดไปอย่างรวดเร็ว แม้ทางนักวิจัยจะพยายามพัฒนาหาสายพันธุ์แพลงก์ตอนที่เติบโตเร็ว เพื่อเป็นอาหารให้แก่หอย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งการเลี้ยงหอยเพื่อส่งออกในปริมาณมากๆ เรื่องอาหารถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะอาหารคือการเจริญเติบโตของหอย
นายวรเดช เขียวเจริญ แกนนำนักวิจัยคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ที่ได้ทดลองเลี้ยงหอยแครงแบบบ่อปิดกึ่งธรรมชาติ กล่าวว่า เมื่อก่อนชาวคลองโคนบางส่วนประกอบเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่ประสบปัญหาโรคอย่างรุ่นแรง ทำให้ผลผลิตเสียหาย จึงมีบ่อกุ้งถูกทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก และจากการเลี้ยงหอยแครงตามธรรมชาติ ที่ชาวบ้านรับลูกพันธุ์มากจากต่างประเทศมาเลี้ยง และพบกับสภาพอากาศที่แปรปรวนและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้ลูกหอยแครงเติบโตช้าและมีอัตราการตายสูง ทำให้ชาวบ้านขาดทุน จึงได้คิดวิธี “เลี้ยงหอยแครงในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติ” เพื่อลดปริมาณการตายและควบคุมสภาพแวดล้อมให้กับหอยแครง
“เลี้ยงหอยแครงในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติ เป็นแนวคิดที่ทดลองทำหลังจากที่กุ้งเกิดโรค ซึ่งผมมีบ่ออยู่แล้ว และเห็นว่าการเลี้ยงหอยแครงตามธรรมชาตินั้นได้ผลผลิตลดน้อยลง จึงนำบ่อกุ้งมาปรับสภาพดินและน้ำให้เหมาะกับการเลี้ยง และนำหอยแครงมาเลี้ยง โดยแต่ละเดือนจะคอยปล่อยน้ำ เข้า-ออก 2 ครั้ง เพื่อปรับคุณภาพของน้ำภายในบ่อให้มีความสมดุล โดยการปล่อยน้ำเข้า-ออกบ่อนั้นจะอาศัยช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้นและลง เลี้ยงหอยแครงในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติไม่ได้มีวิธีอะไรมาก นอกจากการปรับปรุงหน้าดินเหมือนการเลี้ยงในธรรมชาติ แต่จะมีการให้แคลเซียมเพิ่มความหนาของเปลือกหอยแครง" นายวรเดช กล่าว
นายวรเดช ระบุว่า อาชีพเลี้ยงหอยแครงต้องใช้ระยะในการเลี้ยงประมาณ 8 เดือน หรือมากถึง 1 ปี ถึงจะสามารถจับขายได้ หรือสามารถขายพันธุ์เพื่อจำหน่ายลูกหอย เหมือนกับการเลี้ยงตามธรรมชาติ แต่ในธรรมชาติเราไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารเพราะแพลงก์ตอน ที่เป็นอาหารจะมาจากกระแสน้ำในธรรมชาติ ส่วนวิธีในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติมีข้อดีเรื่องไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพน้ำและดินเพราะเราสามารถกำหนดได้
ปัจจุบันก็ได้เกษตรกรได้ร่วมมือกับทางนักวิจัยของทางมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงแพลงตอนที่ใช้เป็นอาหารของหอยแครง ในเบื้องต้นก็ได้ผลผลิตหอยแครงตามที่ต้องการส่งออกขายตลาดได้ แต่นี่เพิ่งเป็นการเริ่มต้นยังต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูล เพื่อที่จะได้วิธีการเลี้ยงที่ดีที่สุด และต่อยอดให้ชาวบ้านคนอื่นๆ
หากการพัฒนาการเพาะพันธุ์ลูกหอย และการเลี้ยงหอยแครงในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้เกิดอาชีพอื่นๆ ขึ้นอีก เช่น การเลี้ยงแพลงก์ตอนเพื่อเป็นอาหารแก่หอย การผลิตอาหารเสริมให้กับหอย และหากวิธีการนี้มีวิธีที่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะให้ช่วยลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงจากการเลี้ยงในธรรมชาติได้อีกด้วย