xs
xsm
sm
md
lg

ลุยสอนปลูกกาแฟโรบัสตา หลังผลผลิตลดฮวบปีละแสนตันเหลือ 30,000 ตัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางพจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการ “คอฟฟี่พลัส”
เป็นที่รู้จักกันดีว่า “กาแฟ” เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเราก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน การันตีได้จากร้านกาแฟที่เรียกได้ว่ามีให้เห็นกันอยู่ทุกซอกทุกมุม จากความนิยมชมชอบนี้ จึงทำให้ “ต้นกาแฟ” ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรไทยนิยมปลูกกัน

ทว่าด้วยความผันผวนของปัจจัยต่างๆ ทำให้ปัจจุบันผลผลิต “เมล็ดกาแฟ” นั้นลดลง จากเมื่อก่อนที่เคยผลิตได้ปีละ 1 แสนกว่าตัน ก็ลดลงมาเหลือประมาณ 3 หมื่นตัน ไม่ว่าจะเป็นราคาขายที่ตกต่ำ จนทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดๆ ที่ขายได้ราคามากกว่า หรือจะเป็นสภาพอากาศที่แปรปรวน จนส่งผลกระทบให้การเติบโตและผลิดอกออกผลของของต้นกาแฟน้อยลง จนเกิดปัญหาผลผลิตไม่พอเพียงต่อความต้องการของตลาด และยังมีแนวโน้มที่ผลผลิตจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเกษตรกรรุ่นใหม่ ไม่มีความมั่นใจในการปลูกต้นกาแฟ

ด้วยผลกระทบจากต้นสายการผลิตกาแฟ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านกาแฟในอนาคต จึงทำให้ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมมือกับ บริษัท เนสท์เล่ และ จังหวัดชุมพร หนึ่งในแหล่งเพาะปลูกและผลิตกาแฟที่สำคัญของประเทศไทย จัดตั้ง “โครงการคอฟฟี่พลัส” (Coffee+) ขึ้น เพื่อพัฒนาห่วงโซ่ของธุรกิจกาแฟให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น โดย นางพจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการ “คอฟฟี่พลัส” กล่าวถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งโครงการว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากการมองเห็นถึงความเสี่ยงของห่วงโซ่ในธุรกิจกาแฟ ที่มีผลผลิตที่ลดน้อยลงจากปัจจัยต่างๆ

“โครงการคอฟฟี่พลัส มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารายได้ และสนับสนุนความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกกาแฟให้มีผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีการลงพื้นที่ในเขตจังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง อันเป็นแหล่งเพาะปลูกและผลิตกาแฟสายพันธ์โรบัสต้า ซึ่งเป็น 1 ใน 2 สายพันธุ์กาแฟที่นิยมปลูกกันในประเทศไทย ทางโครงการเราจะเปิดการอบรมให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยจะมีการอบรมเป็นระยะเวลา 5 วัน กับ 12 บทเรียน ตามหลักสูตรโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟแบบมืออาชีพ หรือ Farmer Business School (FBS) ซึ่งในแต่ละบทเรียนจะเป็นทักษะและองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับเกษตร เช่น วิธีการปลูกและดูแลต้นกาแฟให้ได้ผลผลิตดี การวางแผนการผลิต กลไกราคาและตลาด การคำนวณต้นทุนและกำไร การปลูกพืชผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยง”

นางพจมาน กล่าวอธิบายต่อว่า นอกเหนือจากการอบรมเกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟรายย่อยแล้ว ทางโครงการก็ยังมีการร่วมมือกับทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดชุมพร เตรียมบรรจุหลักสูตรโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟฯ ไว้ในชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนที่สนใจเข้าร่วมอบรม พร้อมกับพบปะเรียนรู้ฝึกฝนกับเกษตรกรที่ปลูกกาแฟในพื้นที่จริง เพื่อที่จะพัฒนาและสร้างความมั่นใจแก่นักเรียนที่สนใจปลูกกาแฟ ที่จะเป็นว่าที่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้ผลิตกาแฟป้อนห่วงโซ่ธุรกิจเครื่องดื่มยอดนิยมชนิดนี้ และในอนาคตก็จะมีการขยายผลบรรจุหลักสูตรนี้ในวิทยาลัยเกษตรอื่นๆ ในภาคใต้ อีกด้วย ซึ่งได้มีการเปิดงานนำร่องจัดการอบรมแก่นักเรียนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดชุมพร ไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

คุณลุงเมฆ จันทะเกตุ (เสื้อสีแดงคนที่สอง) และ คุณลุงเฉียบ แข้งกะโทก (เสื้อสีแดงคนที่แรก)
ในส่วนของ คุณลุงเมฆ จันทะเกตุ และ คุณลุงเฉียบ แข้งกะโทก ชาวสวนกาแฟผู้ที่เคยร่วมฝึกอบรมโครงการคอฟฟี่พลัสรุ่นแรก กล่าวว่า ทั้งสองคนเป็นเพื่อนกันทำสวนกาแฟที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ปลูกกาแฟมาแล้ว 32 ปี โดยกาแฟที่ปลูกเป็นสายพันธ์โรบัสตา 1 ใน 2 สายพันธุ์กาแฟที่นิยมปลูก โดยอีกสายพันธุ์ที่นิยมปลูกคืออาราบิกา ข้อแตกต่างระหว่าง 2 สายพันธุ์นี้คือ โรบัสตามีเอกลักษณ์คือเมล็ดที่กลมและมีกาเฟอีนสูงกว่า และมีรสชาติที่ขมเข้มกว่าสายพันธุ์อาราบิกาที่มีรสชาติหวานเปรี้ยวและมีกาเฟอีนน้อยกว่า

คุณลุงเมฆ และ คุณลุงเฉียบ กล่าวว่าข้อดีของการปลูกกาแฟที่ภาคใต้นั้นคือ ไม่ต้องห่วงเรื่องน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก และสามารถปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ทุเรียน กล้วย ลองกอง เป็นต้น เมื่อได้เข้ารวมอบรมแล้วก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมาก รวมถึงเข้าใจกลไกราคาและตลาด การคำนวณต้นทุนและกำไร อีกทั้งยังได้เดินทางไปยังสวนของเกษตรคนอื่นๆ ได้พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ในการดูแลต้นกาแฟ และได้มาเป็นวิทยากรสอนเรื่อง “เทคนิคพัฒนาคุณภาพผลผลิต เพิ่มรายได้” ให้แก่นักเรียนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดชุมพร

“เทคนิคที่ได้นำมาแนะนำนั้น คือวิธีการ “ต่อกิ่ง” เพราะเป็นวิธีที่ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูก และพัฒนาคุณภาพผลผลิต หากเราเป็นชาวสวนจริงๆ แล้วเราจะรู้ว่ากาแฟต้นไหนเป็นต้นที่สมบูรณ์แบบ โดยสังเกตจากากรผลิดอกออกผลของต้นกาแฟในทุกๆ ปี ว่าต้นไหนออกไม่เคยขาด หรือต้นไหนออกบ้างไม่ออกบ้าง เราก็จะนำกิ่งพันธุ์ต้นที่สมบูรณ์แบบมาต่อใส่ต้นที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ เพื่อให้ได้ออกดอกออกผลงามๆ เหมือนต้นนั้น โดยไม่ต้องตัดทิ้งและปลูกกาแฟต้นใหม่ บางครั้งเราไปสวนอื่น เห็นว่าต้นไหนเหมาะสมก็ขอเจ้าของสวนมาต่อ เราก็ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้ผลผลิตมากขึ้น เป็นอีกเทคนิคที่ช่วยลดต้นทุนในการปลูกใหม่ และเพิ่มผลผลิต” คุณเมฆ และคุณเฉียบ กล่าวเสริม

นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ช่วยต่อยอดความรู้และพัษนาคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรที่เพาะปลูกกาแฟ อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรรุ่นใหม่ที่สนใจเพาะปลูกกาแฟ ในอนาคตข้างหน้าห่วงโซ่ของธุรกิจกาแฟของประเทศไทย ที่เริ่มจากการปลูกต้นกาแฟ ผลิตเมล็ดเมล็ดกาแฟ จนกลายมาเป็นกาแฟน้ำสีน้ำตาลดำเข้มเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมตลอดการ ก็จะมั่นคงและยั่งยืนขึ้น

คุณลุงเมฆ สอนการต่อกิ่งเเก่นักเรียนวิทยาลัยเกษตรฯ ชุมพร ที่เข้าร่วมอบรมโครงการคอฟฟี่พลัส

บรรยากาศนักเรียนวิทยาลัยเกษตรฯ ชุมพร ที่เข้าร่วมอบรมโครงการคอฟฟี่พลัส

เมล็ดกาแฟพันธ์โรบัสต้า

เมล็ดกาแฟพันธ์โรบัสต้าที่คั่วเเล้ว

นักเรียนวิทยาลัยเกษตรฯ ชุมพร ที่เข้าร่วมอบรมโครงการคอฟฟี่พลัส

แปลงสาธิตการปลูกกาแฟ กับพืชนิดอื่นๆ

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (คนกลาง) เปิดหลักสูตรโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟแบบมืออาชีพ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร

บรรยากาศนักเรียนวิทยาลัยเกษตรฯ ชุมพร ร่วมปลูกต้นกาแฟแปลงสาธิตพืชผสมผสาน
กำลังโหลดความคิดเห็น