OPTEMIS ระบบวางแผนถ่ายภาพจากดาวเทียมสัญชาติไทย สู่การยอมรับในเอเชียแปซิฟิก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับ Asian Disaster Preparedness Center (ADPC) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เปิดตัวการใช้งานระบบวางแผนภารกิจดาวเทียมสำรวจโลก หรือ OPTEMIS: Operation Planning Tool for Earth-observation Mission เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรดาวเทียมทั้งหมดมากกว่า 10 ดวง ภายใต้ Sentinel Asia Constellation อย่างเป็นทางการ ณ ห้องเอราวัณ 3-4 โรงแรม Courtyard by Marriott กรุงเทพฯ
นายวสันชัย วงศ์สันติวนิช หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ ของจิสด้ากล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากที่สุดในโลก ทั้งภัยจากน้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว ไปจนถึงภัยพิบัติขนาดใหญ่ เช่น สึนามิ ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ทั้งนี้เพื่อการรับมือและบริหารจัดการภัยพิบัติหลายประเทศได้มีการนำเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศมาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภัย หรือใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนเผชิญเหตุต่างๆตลอดจนบรรเทาสาธารณภัยหลังจากเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว
นายวสันชัย กล่าวต่ออีกว่า จิสด้าได้ส่งเสริมระบบ OPTEMIS ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมอวกาศที่ได้พัฒนาในประเทศไทยก้าวไกลไปอีกขั้น และได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติในระดับสากล จิสด้านอกจากจะเป็นผู้ให้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชตแล้ว ยังได้มีการนำนวัตกรรมการปฏิบัติการอวกาศที่พัฒนาขึ้นภายในสำนักงานไปใช้วางแผนถ่ายภาพสำหรับกลุ่มดาวเทียมทำให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับประเทศที่มีศักยภาพด้านอวกาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้เครือข่ายความร่วมมือ Asia Pacific Space Agency Forum หรือ APRSAF
ทางด้าน ดร.ชิโระ คาวาคิตะ วิศวกรอาวุโส จาก JAXA กล่าวว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มีการตั้งเป็นเครือข่ายกลุ่มความร่วมมือ Sentinel Asia เพื่อร่วมมือกันในการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมทั้งหมดในภูมิภาคสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และภัยพิบัติ ซึ่งทางกลุ่ม Sentinel Asia เลือกใช้ระบบ OPTEMIS เป็นระบบปฏิบัติการกลางสำหรับกลุ่มความร่วมมือในภูมิภาคดังกล่าว โดยระบบจะรองรับข้อมูลจากหน่วยงานในพื้นที่ ที่ต้องการติดตามสถานะภัยพิบัติ เพื่อวางแผนสั่งการถ่ายภาพด้วยกลุ่มดาวเทียมสำรวจโลก ตลอดจนเป็นตัวกลางในการจัดแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด ส่งผ่านข้อมูลแก่หน่วยงานและศูนย์วิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อประมวลผลข้อมูลเตรียมพร้อมที่จะนำไปใช้งานสำหรับหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ต่อไปได้อย่างทันท่วงที