คนโบราณรู้จักกักขังน้ำด้วยการใช้หิน และดินถมเป็นกำแพงกักน้ำ จนบริเวณนั้นมีน้ำในปริมาณมาก เพื่อระบายใช้เวลาจะบริโภค และทำเกษตรกรรมในยามพื้นที่ขาดแคลนน้ำ
เมื่อ 4,500 ปีก่อน ชาวอียิปต์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณแหลม Sinai และลุ่มน้ำไนล์ในทวีปแอฟริการู้จักสร้างกำแพงอิฐที่หนาประมาณ 90 เมตร และยาวประมาณ 125 เมตร กั้นเส้นทางไหลของแม่น้ำ Wadi Gerraive วิศวกรอียิปต์ในสมัยนั้นยังได้สร้างทะเลสาบเทียมชื่อ Homs พื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตร ในหุบเขา Orontes (ปัจจุบันอยู่ในซีเรีย) เพื่อใช้เป็นสถานพักผ่อนของฟาโรห์ด้วย
ชาวกรีกและชาวโรมันโบราณก็รู้จักสร้างเขื่อนเช่นกัน จักรพรรดิ Nero ทรงมีพระราชบัญชาให้ช่างสร้างเขื่อน และทรงใช้พื้นน้ำที่เกิดขึ้นเป็นสถานที่สำหรับพระองค์ทรงพระเกษมสำราญ ซึ่งช่างก็ได้ใช้วัสดุ pozzolana ที่ทำจากดินภูเขาไฟ เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
ในปี 1824 เมื่อ Joseph Aspidin วิศวกรอังกฤษพบวิธีประดิษฐ์ซีเมนต์ ซึ่งเป็นวัสดุที่ทนทาน และแข็งแรงยิ่งกว่าหิน วิศวกรทั่วโลกจึงเริ่มใช้ซีเมนต์ในการสร้างอาคารและเขื่อน เพื่อกักเก็บน้ำ แทนการใช้หินและดิน ซีเมนต์จึงได้กลายเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในงานสร้างเขื่อนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นอกจากจะสามารถกักเก็บน้ำได้ ตามปกติวิศวกรจะพบอีกว่าเขื่อนสามารถผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ปราศจากมลพิษได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุดด้วย เพราะเพียงแต่ปล่อยกระแสน้ำจากเขื่อนให้ไหลผ่านกังหันของเครื่องจักรเทอร์ไบน์ก็จะมีไฟฟ้าใช้ อย่างแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ความสะดวกง่ายเช่นนี้ทำให้คนทั่วไปคิดว่า เขื่อนสามารถผลิตพลังงานสีเขียวที่ปลอดภัย คือไม่ให้ผลกระทบด้านลบใดๆ ต่อคุณภาพของอากาศ และสิ่งแวดล้อมเลย ดังนั้นพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อน จึงเป็นพลังงานที่ประเสริฐ
นักธุรกิจด้านการท่องเที่ยวก็มักมีความเห็นว่า ทะเลสาบ “ประดิษฐ์” ที่เกิดจากเขื่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักทัศนาจรให้ไปเยี่ยมเยือนภูมิประเทศในบริเวณเขื่อน ได้จึงสร้างบ้านพัก โรงแรม และจัดให้มีบริการการท่องเที่ยว เพื่อต้อนรับผู้มาเยือน ซึ่งทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขื่อนมีรายได้ จากการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวด้วย
แต่ถ้าพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน เราก็จะเห็นว่าเขื่อนสามารถให้ผลกระทบด้านลบได้ด้วยเช่น ทำให้สภาพแวดล้อมของเขื่อนเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ จนนักอนุรักษ์ไม่สามารถแก้กลับคืนได้ อีกทั้งทำให้ผู้คนและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขื่อนต้องอพยพไปที่อื่น ซึ่งจะทำให้ผู้อพยพมีปัญหาการดำรงชีพในสถานที่ใหม่
เมื่อ 30 ปีก่อน ธนาคารโลกได้เคยสำรวจพบว่า เขื่อนใหญ่ของโลกกว่า 3,000 เขื่อนได้ทำให้ชีวิตของประชาชนหลายล้านคนได้รับผลกระทบ เพราะต้องย้ายไปอยู่ในสถานที่ๆ ไม่คุ้นเคย จึงมีปัญหาในการหางานทำ และการปรับตัว ด้านสัตว์ที่อพยพถิ่นอาศัยก็มีปัญหาเดียวกัน เพราะกลายเป็นสัตว์เอเลี่ยนที่ไปบุกรุกที่ทำมาหากินของสัตว์เจ้าถิ่น
แม้ผลกระทบทางลบของเขื่อนจะมีมากมาย แต่รัฐบาลของบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนาก็มักเชื่อว่า เขื่อนเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการผลิตกระแสไฟฟ้า และการมีเขื่อนจะทำให้คนหลายหมื่นคนมีงานทำ อีกทั้งยังเชื่อว่า เขื่อนเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของชาติ ชนหลายชาติจึงนิยมสร้างภาพความเจริญด้วยเขื่อน ส่วนผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขื่อนนั้น รัฐบาลมักไม่ได้สนใจจะวิเคราะห์อย่างจริงจัง หรือให้ความสนใจและอาทรมากในระยะยาว
แต่เมื่อถึงวันนี้ผู้คนในหลายประเทศได้สูญเสียความเชื่อมั่นด้านความประเสริฐของเขื่อนไปมากแล้ว จึงออกมาประท้วงการสร้างใหม่ ด้านนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็คัดค้านการสร้างเขื่อนเช่นกัน เพราะการสำรวจผลกระทบของบางเขื่อนได้ข้อมูลที่แสดงว่า เขื่อน Kainji ที่แม่น้ำ Niger ในทวีปแอฟริกาได้ทำให้ผลผลิตเกษตรกรรมลดลง 18% มวลปลาในแม่น้ำที่มีเขื่อนลดลง 60-70% และความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในบริเวณเขื่อน ก็ลดลงด้วย ผลกระทบที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ ความเชี่ยวแรงของน้ำในบริเวณเขื่อนได้ชะนำเกลือใต้ท้องน้ำขึ้นมาในปริมาณมาก ทำให้ริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองข้างเป็นดินเสีย จนเกษตรกรทำการเกษตรกรรมไม่ได้ผล ครั้นเมื่อพืชริมฝั่งต้องล้มตาย ปลาที่อาศัยอยู่ในลำน้ำก็ขาดแคลนอาหารจะบริโภค ทำให้ต้องตายตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก
แต่ผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านจำนวนมากต้องอพยพ ทำให้ต้องมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะบ้านที่เคยอยู่ได้ถูกน้ำท่วม และความช่วยเหลือจากทางการในรูปแบบของการให้เงินเป็นค่าชดเชยที่ไม่พอเพียง นอกจากนี้ผู้คนกลุ่มนั้นยังต้องประสบปัญหาในการปรับตัวในสถานที่ใหม่ และต้องหาอาชีพใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย
รายงานการวิจัยเกี่ยวกับสถานภาพของเขื่อนในสวีเดนที่ C. Nilsson แห่ง Umea University ได้ทำในอดีตเมื่อ 15 ปีก่อนแสดงให้เห็นว่า กรณีเขื่อนที่มีอายุกว่า 70 ปี จะมีจำนวนสายพันธุ์ของพืชในบริเวณเขื่อนลดลงถึง 15% และพื้นที่ๆ เหมาะสำหรับเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์และพืชก็ลดลงด้วย นั่นคือ เขื่อนยิ่งมีขนาดใหญ่ จำนวนสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตก็ยิ่งมีแนวโน้มจะลดลงมากด้วย
ในปี 2000 เมื่อจีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ Yangtze (แม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสามของโลก) เพราะจีนต้องการจะให้การคมนาคมทางน้ำในประเทศมีคุณภาพดีขึ้น ให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้มากขึ้น โครงการมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท มีชื่อว่า เขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) เป็นเขื่อนที่สูง 185 เมตร และยาว 1,600 เมตร โดยใช้คนงานในการก่อสร้างจำนวนหลายหมื่นคน และเมื่อสร้างเสร็จ เขื่อนสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 18,200 เมกะวัตต์
ความจริงจีนได้เคยดำริจะสร้างเขื่อนสามผาตั้งแต่ปี 1959 เพราะ ณ เวลานั้นชาวจีนกว่า 30,000 คน ได้เสียชีวิตเพราะถูกน้ำท่วม รัฐบาลจีนจึงอนุมัติให้สร้างโครงการเขื่อนสามผาเพื่อลดภัยพิบัติ ท่ามกลางเสียงคัดค้านทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติ (เพราะรัฐบาลคอมมิวนิสต์ไม่ชอบให้ใครคัดค้าน) โดยประชาชนที่ค้านได้ให้เหตุผลว่า เขื่อนจะทำให้สายน้ำที่ไหลผ่านเมือง จุงกิง (Chungging) ซึ่งเป็นเมืองท่าใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจียหลิง (Jialing) ไม่สามารถไหลไปรวมกับสายน้ำในแม่น้ำแยงซีได้อีก (เพราะเขื่อนทำให้แม่น้ำเปลี่ยนเส้นทางการไหล) และหนทางเดียวที่สามารถจะลดระดับความร้ายแรงนี้ได้ คือ ทางการต้องลดระดับความลึกของน้ำในเขื่อน แต่การลดน้ำที่มีปริมาตร 10 ล้านลูกบาศก์เมตรจะทำให้ความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้า ลดลงถึง 13% นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่มีน้อยในเขื่อนจะทำให้เรือขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าที่เมืองจุงกิงไม่ได้ แต่ด้านดีก็มีเพราะการลดระดับน้ำจะทำให้พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมลดลง มีผลทำให้คน 5 แสนคนไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน
แต่รัฐบาลจีนก็ยังยืนยันให้น้ำในเขื่อนคงระดับความลึกเท่าเดิม เพราะคิดว่าน้ำลึกจะทำให้ธุรกิจการเดินเรือเพิ่มขึ้น 4 เท่า และค่าโดยสารเรือลดลง 30% นอกจากนี้การสร้างเขื่อนยังทำให้รัฐบาลจีนสามารถประหยัดถ่านหินได้ปีละ 50 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ปีละ 100 ล้านตัน เมื่อเหตุผลด้านบวกมีค่า “มากกว่า” ด้านลบ เขื่อนสามผาจึงถือกำเนิด
รายงานการประชุมเรื่อง World Commission on Dam ของธนาคารโลก ซึ่งได้ประเมินสถานภาพของเขื่อนทั้งโลก ตลอดเวลา 40 ปีที่ผ่านมาแสดงว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ใช้เงิน 1.6 แสนล้านบาทต่อปีในการสร้างเขื่อน ทำให้ผู้คนกว่า 80 ล้านคนต้องอพยพหาที่อยู่ใหม่ แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่สุด คือบรรดาประเทศเจ้าของเขื่อนไม่ติดตามวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อน เพราะตัวเลขที่ได้แสดงให้เห็นชัดว่า 25% ของเขื่อนที่สร้าง มีปริมาณน้ำโดยเฉลี่ยต่ำกว่าเป้า 50% และเขื่อนมีตะกอนที่เป็นดินโคลนมาก ซึ่งจะเพิ่มขึ้นๆ ตามกาลเวลา จึงต้องมีการควบคุมการเคลื่อนที่ของตะกอน และได้พบว่าตะกอนทำให้บริเวณฝั่งทั้งสองข้างที่มันอยู่ ลดความอุดมสมบูรณ์ จนการทำกสิกรรมกับเกษตรกรรมให้ผลไม่เต็มที่ แต่ข้อมูลนี้รัฐบาลมักไม่ได้รายงานให้ประชาชนรู้
ข้อดีของเขื่อนก็มีเช่น ให้กำเนิดโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ทำให้สามารถจ่ายไฟฟ้าให้ภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนได้ แต่คนจนอีกเป็นจำนวนมากไม่อยู่ในฐานะจะซื้อความสะดวกสบายนี้ได้ ดังนั้นคนจนในที่ห่างไกลจึงแทบไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากเขื่อนเลย
รายงานฉบับเดียวกันนี้ยังชี้แจงว่า บางเขื่อนถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย แต่ผลที่ได้รับกลับเป็นว่าได้ทำให้ นก กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์อีกหลายชนิด รวมทั้งพืชหลายชนิดสูญพันธุ์ จนธรรมชาติขาดความสมดุลเชิงชีวภาพ
ลาวเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน และมีความมุ่งหวังจะเป็น “แบตเตอรี่ผลิตไฟฟ้าให้แก่ประชากรในดินแดนแถบนี้ จึงมีโครงการสร้างเขื่อนจำนวนมากเพิ่มเติมจาก 5 เขื่อนที่ Manwan, Xiaowan, Nuozhadu, Dachaoshan กับ Jinghong Nuozhadu และกำลังสร้างเพิ่มที่ Ganlanba Pak Beng, Xayaburi, Don Sahong และสุดท้ายที่ Pak Lay ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนไทย 11 กิโลเมตร โดยจะเริ่มต้นสร้างในปี 2022 ด้วยงบประมาณ 58,000 ล้านบาท เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 1320 MW ให้ได้ภายในปี 2029
รัฐบาลลาวได้อ้างว่า นอกจากเขื่อนนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อขาย นำเงินเข้าประเทศแล้ว การมีเขื่อนจะช่วยให้ทางการสามารถควบคุม และกำกับบริเวณที่จะมีน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ อีกทั้งทำให้สามารถอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมทางน้ำของผู้คนได้ด้วย
แต่ก็ได้กล่าวถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นด้วย คือ ประชาชน 3,500 คนต้องอพยพย้ายถิ่น เพราะพื้นที่ 485,000 ไร่จะถูกน้ำท่วม และที่ร้ายแรงที่สุดคือ จะมีการสูญพันธ์ของสัตว์หลายชนิด การสูญเสียทรัพยากรทางน้ำ และการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างชนิดกู่ไม่กลับ ซึ่งในที่สุดก็จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชนลาวไม่มากก็น้อย
เพราะในแม่น้ำมีปลาบึก ปลาดุกยักษ์และปลาชนิดต่างๆ ที่ใช้แม่น้ำในการหาอาหาร สืบพันธุ์ และวางไข่ จนได้กลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวลาวมานานหลายพันปี ในปี 2014 เมื่อเขื่อนที่ Don Sahong สร้างเสร็จ ตัวเขื่อนได้ขัดขวางเส้นทางการไปมา ขึ้น-ล่องตามแม่น้ำของปลา รบกวนการวางไข่ของปลาในฤดูสืบพันธุ์ จนชาวประมงจับปลาแทบไม่ได้เลย จึงต้องเลิกอาชีพไปประกอบอาชีพอื่น
องค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของลาวจึงพยายามให้บริษัทที่สร้างเขื่อนติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อปลา โดยการเปิดช่องระหว่างประตูน้ำเพื่อให้ปลาสามารถว่ายทะลุไป-มาได้ตลอดเวลา แต่ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่า แม้ปลาจะว่ายผ่านไปได้ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน พฤติกรรมการวางไข่ของปลาก็จะมีการปรับเปลี่ยนจนไม่เหมือนเดิมอีก และในที่สุดจำนวนประชากรปลาก็จะลด
นอกจากนี้ที่บริเวณใกล้ปากแม่น้ำโขง เมื่อน้ำที่จะไหลลงทะเลจีนมีปริมาณน้อยลง เพราะถูกเขื่อนจำนวนมากทั้งในจีน ลาว และเขมรสกัดกั้น น้ำทะเลก็จะไหลรุกเข้าไปในแผ่นดินมากขึ้น และเมื่อโลกยิ่งร้อน ระดับน้ำทะเลก็ยิ่งสูง การชะล้างทำลายฝั่งก็จะมีมากขึ้น ดินที่เค็มจะทำให้การทำเกษตรกรรมเป็นไปได้อย่างยากลำบากขึ้น
เมื่อถึงปี 2030 นักอนุรักษ์คาดหมายว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในลาวจะลดลง 42% ปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาบึก ปลาดุกยักษ์ และปลาคาร์ฟก็อาจจะสูญพันธุ์ และถ้าความวุ่นวายเหล่านี้เกิดขึ้นจริง องค์การอนุรักษ์ธรรมชาติจะนำเรื่องนี้ฟ้องรัฐบาลลาวต่อศาลโลก
อ่านเพิ่มเติมจาก International Commission on Large Dams: www.icold-cigb.org/GB/world_register/general_synthesis.asp(2016)
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์