xs
xsm
sm
md
lg

ระบบศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตฯ ปรับปรุงล่าสุดพร้อมใช้งานแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ระบบศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ปรับปรุงล่าสุด พร้อมใช้งานแล้ววันนี้

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนา “ระบบศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออนไลน์” ช่วยให้ผู้ใช้งานค้นคว้าศัพท์บัญญัติวิชาการได้สะดวก พร้อมใช้งานได้แล้ววันนี้ทางเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

สำนักงานราชบัณฑิตยสภาร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 เม.ย. เพื่อแนะนำระบบศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออนไลน์ ณ หอประวัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

ดร.อลิสา คงทน รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) กล่าวว่า เนคเทค ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการประยุกต์เทคโนโลยีไปสู่งานด้านต่างๆ ซึ่งเป็นการบูรณาการและผสมผลานระหว่างศาสตร์ที่ต่างกันเข้าหากัน

“เราได้พัฒนางานวิจัยทางด้าน เทคโนโลยีกับภาษามากว่า 30 ปี ตั้งแต่การสร้างพจนานุกรมอืเล็กทรอนิกส์ เล็กซิตรอน การประมวลผลภาษาไทย ได้แก่ การตัดคำ การกำกับชนิดของคำ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาไทย ไปจนถึงการประยุกต์ ไปสู่ เทคโนโลยีการแปลภาษา การวิเคราะห์อารมณ์ ระบบแชทบอท การสังเคราะห์ และรู้จำเสียง ไปจนถึง ระบบแปลงเอกสารภาพเป็นข้อความ”

ดร.อลิสากล่าวว่า การได้ร่วมงานกับ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาถือเป็นการร่วมมือที่สำคัญยิ่ง ซึ่งตรงกับแนวคิดของการประยุกต์เทคโนโลยีให้เข้าสู่ผู้ช้งานจริง ปัจจุบันทางเนคเทคเราก็กำลังเตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาสร้างเป็น AI platform เพื่อให้มีการต่อยอดการใช้งานให้มากขึ้น

“สำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในด้านภาษาเป็นอย่างสูง มีผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก มาร่วมกันพัฒนาข้อมูลเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการอ้างอิง เนคเทคได้มีความร่วมมือกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภามาตั้งแต่ ปี 2558 เรามีแนวคิดร่วมกันและตรงกัน ที่จะพัฒนาการพัฒนาทั้งในส่วนของการนำความรู้ไปสู่ผู้ใช้ให้ถึงมือได้ง่ายขึ้นและการปรับปรุงกระบวนการภายในของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้มีความคล่องตัวมากขึ้น”

ในส่วนของการนำความรู้ไปสู่ผู้ใช้ให้ถึงมือได้ง่ายขึ้น ทางเนคเทคได้ร่วมกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา พัฒนาโมไบล์แอปพลิเคชัน ที่สามารถใช้งานได้ทั้ง บนระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ได้แก่

“Royal Society” โมไบล์แอปพลิเคชัน สำหรับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปี พุทธศักราช 2554

“Read and Write” เป็นโมไบล์แอปพลิเคชัน ที่ได้การนำเอาหนังสือ อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร ที่ช่วยในการค้นหา คำที่มักอ่านผิดหรือ สะกดผิด และ

“ชื่อบ้านนามเมือง” โมไบล์แอปพลิเคชัน ที่จะช่วยให้สามารถค้น ชื่อจังหวัด อำเภอตำบล และเมืองสำคัญ ของประเทศต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปี พุทธศักราช 2554 ในรูปแบบ ออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้ามาค้นหาคำศัพท์ผ่านทางเว็บไซต์ มากกว่า 10 ล้านครั้ง ในปีที่ผ่านมา

“ในวันนี้ ศัพท์บัญญัติ ที่อดีตเคยมีเวอรชัน ออนไลน์แต่ไม่ได้รับการปรับปรุง ทางเนคเทคก็เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้สมารถเปิดใช้งานบนออนไลน์ได้ ใน 15 สาขาวิชา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานค้นคว้าและเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญ ในส่วนปรับปรุงกระบวนการภายในไม่ว่าจะเป็นการสร้างฐานข้อมูล การนำเอกสารเก่ามาสแกน ซ่อม เพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาเป็นระบบจดหมายเหตุ และจะเชื่อมโยงไปสู่ ระบบบริหารจัดการการประชุม ที่จะทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลและการสร้างฐานข้อมูลพจนานุกรมที่ทำได้รวดเร็วขึ้น” ดร.อลิสากล่าว

ดร.อลิสาเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่าง เนคเทคและสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตังแต่ อดีต ปัจจุบันและในอนาคต ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่สำคัญ ในการนำฐานรากของเทคโนโลยี มาต่อยอดเพื่อทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในการเปลี่ยนสังคมให้เข้าสู่ยุคการใช้เทคโนโลยีเพื่อนำสู่สังคมที่มีรากฐานของความรู้ ที่เป็นรูปธรรม ได้อย่างแท้จริง

นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า การบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยเป็นภารกิจหลักประการหนึ่งของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เพื่อให้มีคำภาษาไทยใช้แทนศัพท์ภาษาต่างประเทศในสาขาวิชาต่างๆ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ดำเนินงานบัญญัติศัพท์มาตั้งแต่ พ.ศ.2485 เมื่อครั้งเป็นราชบัณฑิตยสถาน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยทำหน้าที่บัญญัติศัพท์คำภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

“จนปัจจุบันสำนักงานราชบัณฑิตยสภาสามารถพัฒนาและขยายงานบัญญัติศัพท์ออกเป็นสาขาวิชาต่างๆ มากมาย โดยมีคณะกรรมการวิชาการเฉพาะสาขาเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ศัพท์บัญญัติสาขาต่างๆ ที่แล้วเสร็จ ได้นำเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์”

ปัจจุบันสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดทำ “ระบบศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออนไลน์” โดยนำข้อมูลศัพท์บัญญัติวิชาการที่ปรับปรุงล่าสุด จำนวน 15 สาขา ได้แก่ ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ศัพท์วิทยาศาสตร์ ศัพท์พลังงาน (เธอร์โมไดนามิกส์) ศัพท์เทคโนโลยีทางภาพ ศัพท์ยานยนต์และเครื่องยนต์ ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ศัพท์นิติศาสตร์ ศัพท์ภูมิศาสตร์ ศัพท์ประกันภัย ศัพท์สังคมวิทยา ศัพท์ภาษาศาสตร์ทั่วไป ศัพท์ภาษาศาสตร์ประยุกต์ ศัพท์ศิลปะ ศัพท์วรรณกรรม และศัพท์สถาปัตยกรรม เรียบร้อยแล้ว

“ตอนนี้พร้อมให้บริการประชาชนผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา www.royin.go.th หากระบบนี้เป็นที่สนใจและมีผู้เข้าใช้งานมากขึ้น สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะนำข้อมูลศัพท์บัญญัติสาขาอื่นเพิ่มเติมลงในระบบต่อไป” นางสาวกนกวลีกล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น