“อยู่ดี๊กิ๊นว้าน” เสียงกังวาลของหญิงสูงวัยในชุดชนเผ่าไตลื้อยืนเรียงแถวต้อนรับนักท่องเที่ยว ขนาบข้างด้วยแถวหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในชุดนักศึกษา เสมือนจะบอกเราว่าแหล่งท่องเที่ยวชุมชนนี้ ได้สอดผสานความเก่าและใหม่อย่างลงตัว
ณ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ ใน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็น 1 ในพิพิธภัณฑ์ชุมชน 6 แห่ง ที่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการข้อมูลและเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ และเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
แม้ไม่มีมัคคุเทศน์นำเที่ยวชมแต่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงวิถีชีวิตของชาวไตลื้อได้ไม่ยาก เมื่อเปิดแอปพลิเคชัน MuseumPool แล้สแสกนเครื่องหมาย QR Code ที่ติดอยู่ข้างๆ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ตั้งแต่อุปกรณ์สาวไหม ปั่นไหม เครื่องทอผ้า เครื่องตำข้าว หรือเครื่องโม่ ก็จะปรากฏรายละเอียดของเครื่องใช้ต่างๆ เหล่านั้น พร้อมเสียงคำบรรยายทั้งภาษากลางและภาษาถิ่น
ศูนย์การเรียนรู้บ้านใบบุญมี 10 แหล่งการเรียนรู้ไว้รองรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ บ้านไตลื้อ หลอวข้าวอุ้ยติ๊บ ผามหลัว ผามมอง ก๋างสวน ก๋างข่วง ปั้นหลองข้าว ปั้นกะล่างบ้าน น้ำเหมือง บ้านปอกระดาษสา บ้านตุ๊กตาไม้ และบ้านแกะสลักไม้ และยังมีหลักสูจรอาหารการกินให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองทำและทดลองชิม เช่น ไข่ป่าม ข้าวจี่ตี้ปั้นกับมือ ข้าวหนมวง ซึ่งบ้านใบบุญได้กลายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้เนื่องจากลูกหลานพ่อพรมมา-แม่อุสา บุญชุ่มใจ และแม่อุ้ยจันทร์ติ๊บ บัวมะลิ และป้าสุคำ ยานะ ต้องการแสดงความกตัญญูต่อบรรพชน รวมทั้งเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับการบ่มเพาะจากบรรพชน
สำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้ในศูนย์การเรียนดังกล่าวเกิดจากความช่วยเหลือจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีความร่วมมือกับ สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
สำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาใช้ภายในบ้านใบบุญซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อมี 2 ส่วน คือ ระบบพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Museum) และระบบนำชมพิพิธภัณฑ์ (Museum Pool) ซึ่ง ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย นักวิจัยอาวุโส ผอ.หน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ เนคเทค ระบุว่าการนำระบบทั้งสองไปใช้นั้นมีเป้าหมายเพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับการท่องเที่ยวท้องถิ่น โดยนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศ
ดร.ชัยอธิบายถึงระบบที่ใช้ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนว่า ระบบพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการประยุกต์เทคโนโลยีการจัดเก็บ บริหารจัดการ และแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้ของพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ข้อมูลพิพิธภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบของดิจิทัลและก่อให้เกิดสังคมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพิพิธภัณฑ์ และผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ และการสร้างพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นสร้างได้ทั้งแบบที่มีสถานที่จริง หรือผู้ที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับชิ้นงานที่สะสมโดยไม่มีพิพิธภัณฑ์จริงให้เข้าชม
ส่วนระบบนำชมพิพิธภัณฑ์เป็นโมบายแอปพลิเคชัน MuseumPool ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลให้แก่ผู้เข้าชมพิพิพิธภัณฑ์ โดยสามารถใช้แอปพลิเคชันเดียวเพื่อเข้าถึงข้อมูลพิพิธภัณฑ์หลายแห่งโดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใหม่ทุกครั้ง ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการข้อมูลนำชม และช่วยพิพิธภัณฑ์ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างทำแอปพลิเคชันใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลงเนื้อหา
ด้าน น.ส.วัชชิรา บูรณสิงห์ หัวหน้าโครงการระบบพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เนคเทค อธิบายถึงระบบดังกล่าว เป็นระบบที่อำนวยความสะดวกแก่ชุมชน เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสิ่งของต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบดิจิทัล ผู้ใช้งานสามารถใส่ภาพ ข้อมูล รวมถึงข้อมูลเสียงในระบบอีก อีกทั้งยังมีระบบสร้างภาพ 360 องศา ที่ผู้ใช้งานเพียงแค่ใส่ข้อมูลภาพถ่ายของสิ่งที่ต้องการในมุมต่างๆ ตามคำแนะนำ จากนั้นระบบจะประมวลเป็นภาพ 360 ของวัตถุนั้นๆ ซึ่งระบบนำชมพิพิธภัณฑ์ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการประยุกต์ใช้งานระบบพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
ส่วนนายภัทร์นิธิ กาใจ และ น.ส.เมธิณี ศรีบุญเรือง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวัฒนธรรมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของทีมนักศึกษาที่เข้าไปจัดเก็บข้อมูลของศูนย์การเรียนรู้บ้านใบบุญให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เล่าให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ก่อนหน้านี้มีรุ่นพี่ได้เข้ามาจัดเก็บข้อมูลอยู่ก่อนแล้ว แต่พวกเขาได้เข้ามาจัดเก็บข้อมูลให้สมบูรณ์ขึ้น โดยระบบได้เพิ่มเติมในส่วนของข้อมูลเสียงและข้อมูลภาพถ่าย 360 องศา ซึ่งหน้าที่ของพวกเขาคือสำรวจชิ้นงาน ทำความสะอาด ปัดกวาด คัดแยกวัตถุ วัดขนาด ถ่ายภาพ และบันทึกข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล โดยมีภาระในการจัดเก็บข้อมูลชิ้นงานทั้งหมด 50 ชิ้น
“ข้อมูลที่เราได้รับเป็นข้อมูลดิบจากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ เมื่อได้รับข้อมูลแล้วเราก็ส่งให้อาจารย์ตรวจสอบ แล้วให้ สวทช.ตรวจสอบอีกที ก่อนที่เราจะบันทึกเสียงบรรยายเป็นภาษาถิ่น และภาษากลาง” ภัทร์นิธิกล่าวและบอกด้วยว่าการลงพื้นที่ชุมชนนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนหลักที่ทุกคนในในสาขาวัฒนธรรมศึกษาต้องเรียน
ภัทร์นิธิบอกอีกว่าดีใจมากที่ได้ลงพื้นที่มาเก็บข้อมูลที่บ้านใบบุญ เพราะตัวเขาเองนั้นก็มีเชื้อสายไตลื้ออยู่ด้วย ทำให้ซาบซึ้งต่อวัฒนธรรมชุมชนที่เขาได้มีส่วนช่วยเผยแพร่ออกไปในรูปแบบดิจิทัล และบอกอีกว่าระบบนำชมพิพิธภัณฑ์นี้ช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบรายละเอียดของชิ้นงานต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาไกด์นำเที่ยว เพราะใช้แค่มือถือก็สแกนรับทราบข้อมูลต่างๆ ได้
สำหรับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ใน จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจัดทำระบบนำชมพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง อ.สันทราย วัดดอกเอื้อง อ.เมือง วัดมงคล(ทุ่งแป้ง) อ.สันป่าตอง พิพิธภัณฑ์วัดน้ำจำ อ.สันกำแพง และพิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม อ.เมือง