งูจงอาง (King Cobra) พญาอสรพิษที่อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารงูทั้งมวล จัดเป็นงูพิษขนาดใหญ่ โดยทั่วไปมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 3.5 - 4.5 เมตร จึงเป็นงูพิษที่มีขนาดยาวที่สุดในโลก
สถานการณ์ในปัจจุบันงูจงอางถูกจัดอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในบัญชีแดงของสหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN)
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พงศ์เทพ สุวรรณวารี อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและลูกศิษย์จึงได้ใช้ “คลื่นวิทยุ” ติดตามงูจงอาง เพื่อศึกษานิเวศวิทยาเชิงพื้นที่ แหล่งอาศัย และพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของงูจงอาง (Ophiophagus hannah) ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา
สาเหตุที่งูจงอางถูกจัดเข้าไปในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะพื้นที่อาศัยตามธรรมชาติของงูจงอางถูกทำลาย จากพื้นที่อาศัยของผู้คนขยายมากขึ้น เขตเมืองที่ขยายมากขึ้นจนเข้าไปรุกพื้นที่ที่อยู่อาศัยดั่งเดิมของงู ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาตินั้นลดลงไปเรื่อยๆ เมื่องูเข้าไปอยู่ในเขตเมือง บ้างก็ถูกฆ่า บ้างก็ถูกจับไปปล่อยที่อื่น บ้างก็ถูกนำไปรับประทานเป็นยาอายุวัฒนะ หรือไม่ก็อาจจะโดนรถทับ หรือแม้กระทั่งถูกศัตรูทางธรรมชาติอย่างเหยี่ยวจับไปเป็นอาหาร
"แต่เดิมนั้นมีเพียงแค่การไปสำรวจแค่ถิ่นที่อยู่ของงูชนิดต่างๆ เท่านั้น ในส่วนของการใช้วิทยุในการติดตามงูทีมวิจัยของอาจารย์เป็นทีมแรกที่ทำ ทั่วโลกมีการติดตามงูจงอางน้อยมาก มีเพียงแค่สองที่ทำการติดตามงูจงอางและใช้วิทยุในการติดตามคือที่พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะเกราช ประเทศไทยและในประเทศอินเดีย"
สาเหตุที่ต้องใช้วิทยุในการติดตามงูจงอางนั้น ผศ.พงศ์เทพ กล่าวว่าเป็นเพราะมนุษย์เราไม่สามารถติดตามงูจงอางด้วยการมองเห็นด้วยตาเปล่าหรือใช้กล้องส่องได้ โดยธรรมชาติสัตว์เลื้อยคลานจำพวกงูจะอยู่ตามป่าทึบ ตามพุ่มไม้ ประกอบกับการใช้สัญญาณดาวเทียมในการติดตามนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากงูมีขนาดเล็กและไม่สามารถติดตัวส่งสัญญาณภายนอกตัวงูได้ แต่ถ้าหากเป็นสัตว์ขนาดใหญ่อย่างพวกนกหรือเต่าทะเลก็สามารถใช้คลื่นดาวเทียมในการติดตามได้ ดังนั้นการติดตามด้วยวิทยุจึงเป็นวิธีเดียวที่ทำให้เราสามารถติดตามพื้นที่ในการหากินและติดตามเส้นทางการเดินทางของงูจงอางได้
"วิธีการคือ ทางทีมวิจัยจะจับงูมาแล้ววางยาสลบ จากนั้นใส่เครื่องส่งสัญญาณวิทยุเข้าไปในท้องของมัน แล้วใช้เครื่องรับสัญญาณวิทยุในการติดตามงูจงอาง งานวิจัยนี้ทางอาจารย์และลูกศิษย์ได้ทำมาตั้งแต่ปี 2556 รวมแล้วเป็นระยะเวลา 5 ปี และนอกจากที่จะใช้วิทยุในการติดตามงูจงอางได้แล้วยังสามารถมาใช้วิทยุนี้ในการติดตามสัตว์ประเภทอื่นๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น เต่า นก สัตว์ป่าอย่างลิง หมี หรือสัตว์เล็กๆ อย่างกบและเขียด"
หลังจากที่ได้ข้อมูลเส้นทางหากิน แหล่งที่อยู่อาศัยของงูจงอางแล้วก็จะสามารถนำมาวิเคราะห์พื้นที่หากินของงูจงอางว่าครอบคลุมพื้นที่กว้างเท่าใด เนื่องจากงูจงอางเป็นงูขนาดใหญ่และมีพื้นที่ในการหากินเยอะ จากข้อมูลพบว่างูจงอางที่บางตัวก็ชอบที่จะอยู่ในป่า อยู่ตามท้องไร่ ท้องนาหรือชอบที่จะออกหากินในบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ จากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้ผ่านการวิเคราะห์แล้วมาวางแผนเพื่ออนุรักษ์งูจงอาง
"งูจงอางหลายๆ ตัวที่ทีมวิจัยศึกษานั้น มีการออกนอกเขตพื้นที่ของสะแกราช ที่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไปอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้าน ทำให้งูต้องเสี่ยงอันตรายจากการที่ถูกชาวบ้านพบเจอและถูกกำจัด ทำให้งูลดจำนวนลง ดังนั้นทางทีมวิจัยจึงต้องให้ความรู้แก่ชาวบ้านว่าปกติงูเหล่านี้จะไม่เป็นอันตราย เพราะเมื่อเจอผู้คน งูก็จะหนีเอาตัวรอด จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปทำร้ายหรือฆ่าพวกงู เพราะงูจงอางมีประโยชน์ในการควบคุมปริมาณของงูมีพิษชนิดอื่นและควบคุมศัตรูพืชอย่างหนู" ผศ.พงศ์เทพระบุ