ผู้เชี่ยวชาญกลศาสตร์วงโคจรจาก “จิสด้า” เผยสถานการณ์ “เทียนกง-1” สถานีอวกาศจีนที่จะตกสู่โลกโดยไร้การควบคุม ระบุคร่าวๆ ชิ้นส่วนจากอวกาศจะตกราวปลายเดือน ก.พ. ถึงต้นเดือน เม.ย. แต่ยังระบุชัดไม่ได้ว่าจะตกพื้นที่ไหน ต้องรอให้ลงต่ำกว่านี้ก่อน แต่ไม่น่ากังวล เพราะน่าจะตกลงพื้นน้ำที่เป็นพื้นที่มากสุด อีกทั้งในรอบ 60 ปี ยังไม่เคยมีใครได้รับอันตรายจากชิ้นส่วนอวกาศที่มนุษย์สร้างขึ้น
ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญกลศาสตร์วงโคจร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) เผยถึงสถานการณ์ของเทียนกง-1 (Tiangong-1) สถานีอวกาศของจีน ที่จะตกสู่โลกโดยไร้การควบคุมให้ตก ว่า ขณะนี้สถานีอวกาศอยู่ที่ความสูง 280 กิโลเมตร ซึ่งคำนวณได้คร่าวๆ ว่า สถานีอวกาศจะตกในช่วงปลายเดือน ก.พ.- ต้น เม.ย. ซึ่งต้องรอให้สถานีอวกาศลดระดับความสูงลงมาต่ำกว่านี้จึงจะคำนวณเป็นไปได้ว่าจะตกที่ไหนในช่วงเวลาที่แคบลง หากลงมาถึงระดับ 170 - 180 กิโลเมตร ก็เริ่มคำนวณได้ว่าสถานีอวกาศจะตกลงที่ไหน
“เครื่องมือที่ใช้คาดการณ์นั้นแม่นยำแค่ล่วงหน้า 3 - 4 วัน เนื่องจากแรงเสียดทานของอากาศในแต่ละที่ไม่เท่ากัน อีกทั้งลมสุริยะที่มีผลต่อการตกของสถานีอวกาศก็มีความไม่แน่นอน” ดร.สิทธิพร อธิบาย
ส่วนแนวทางการรับมือเมื่อสถานีอวกาศจะตกใส่พื้นที่ไหนนั้น ดร.สิทธิพร ระบุว่า ต้องให้แน่ใจก่อนว่าสถานีอวกาศจะตกที่ไหน เช่น ถ้าตกที่ไทยก็ต้องได้แจ้งจากหน่วยงานนานาชาติที่ยืนยันแล้ว จากนั้นจิสด้าจะแจ้งแก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ถ้าจำเป็นต้องอพยพคนก็ต้องอพยพ ทว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าจะตกทะเล เพราะเป็นพื้นที่มากถึง 3 ใน 4 ของพื้นที่โลกทั้งหมด อีกทั้งยังไม่น่ากังวลนัก เพราะตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เราส่งวัตถุอวกาศที่คนสร้างขึ้น ก็ยังไม่เคยมีรายงานคนได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บจากการตกใส่ของวัตถุเหล่านั้น และสถานีอวกาศหรือดาวเทียมที่เคยตกสู่โลกก่อนหน้านี้ก็มีขนาดใหญ่กว่าเทียนกง-1 มาก
“เมื่อ เทียนกง-1 ตกลงมาจะเหลือขนาดเพียง 40% ของขนาดเดิม และโอกาสที่จะตกใส่คนน้อยมาก คิดเป็นแค่ 1 ในล้านล้าน แต่ที่เป็นกังวลกัน เพราะว่าควบคุมการตกไม่ได้ ถึงอย่างนั้นจิสด้าก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เรามีเครื่องมือติดตามว่าตอนนี้ เทียนกง-1 อยู่ตรงไหนแล้ว ซึ่งมีโอกาสที่จะตกในทะเลมากกว่า และโอกาสที่จะตกในเมืองไทยก็น้อยมาก ยิ่งโอกาสจะตกใส่คนยิ่งน้อยเข้าไปอีก” ดร.สิทธิพร ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวผู้จัดการออนไลน์
เมื้อเร็วๆ นี้ จิสด้ายังได้จัดเสวนา “จับตาสถานการณ์ เทียนกง-1” ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่ง ดร.สิทธิพร กล่าวว่า การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเน้นให้ประชาชนทราบว่า เหตุการณ์นี้ไม่น่าตื่นเต้นหรือตกใจเกินไป แต่ในกรณีแย่สุดๆ ที่สถานีอวกาศตกใส่คนนั้น ก็มีกฎหมายที่จะนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ แต่โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายดังกล่าวนั้นน้อยมากๆ