xs
xsm
sm
md
lg

แนะเส้นทาง 3 อาชีพวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่ “นักวิทยาศาสตร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์
เชฟรอน-อพวช.เปิดประสบการณ์ 3 อาชีพวิทย์ที่ไม่ใช่ “นักวิทยาศาสตร์” ของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ซึ่งเผยมุมมองความปลอดภัยในที่ทำงาน พร้อมเกษตรกรยุคใหม่ที่ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ทำเกษตรให้ได้ผลดี และวิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติผู้กรุยทางอาชีพซึ่งไม่มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดโครงการ Enjoy Science Careers Year 2: สนุกกับอาชีพวิทย์ ปีที่ 2 เมื่อวันที่ 3 พ.ย.60 ณ The Street รัชดา พร้อมทั้งจัดนิทรรศการแบบอินเทอร์แอคทีฟเพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมงงานได้รู้จัก 10 อาชีพสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิทศวกรรมและคณิตศาสตร์หรือสะเต็ม (STEM) หรือที่กำลังมาแรงในยุค “ประเทศไทย 4.0”

ภายในงานยังได้เชิญบุคคลต้นแบบจุดประกายความสนใจใน 3 อาชีพวิทยาศาสตร์ ได้แก่ นางสิริวิมล ชื่นบาน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด รศ.ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ วิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เกษตรกรยุคใหม่ ผู้ใช้ใช้หลักและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการวัดปริมาณธาตุอาหาร วัดความเค็ม ความเป็นกรดด่างและความชื้นในดิน เพื่อช่วยในการเพาะปลูก

นางสิริวิมล ชื่นบาน เล่าวว่า เข้าเส้นทางเข้ามาสู่สายอาชีพนี้ เริ่มจากจบสายอุดมศึกษาด้านสาธารณสุข จากนั้นไปต่อวิศวกรรมด้านความปลอดภัย งานหลักๆ ก็เป็นการดูแลเรื่องความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน อย่างเช่นเรื่องการวัดแสงสว่างภายในสถานที่ทำงานว่าเพียงพอต่อลักษณะงานหรือไม่ เสียงและอากาศภายในสถานที่ทำงานและการป้องกันตัวเองหากจำเป็นต้องเข้าในทำงานในบริเวณพื้นที่ๆ เป็นอันตราย เพราะสภาพแวดล้อมในการทำงานส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการทำงานและตัวผู้ปฏิบัติงาน

ทางด้านเกษตรกรยุคใหม่อย่าง นายพงษ์พัฒน์ เล่าวว่าพื้นเพเขาเป็นคน จ.มหาสารคาม ซึ่งพ่อแม่ทำอาชีพเกษตรกร และมีความคิดแบบชาวต่างจังหวัดทั่วไปที่อยากให้ลูกเป็น “เจ้าคนนายคน” ไม่ต้องทำเกษตรเหมือนคนรุ่นเก่า แต่ด้วยความตั้งใจที่เขาต้องการเป็นนักปรับปรุงพันธ์พืช เนื่องจากเห็นรุ่นพี่สมัยเรียน ม.3ประสบความสำเร็จ เขาจึงได้แอบพ่อแม่ไปเรียนวิทยาลัยการเกษตรที่ จ.ร้อยเอ็ด

หลังจากที่พงษ์พัฒน์เรียนจบเขาก็ได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอิลราเอล เขาเล่าว่าอิสราเอลนั้นมีชื่อเสียงด้านการจัดการปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประเทศนี้สามารถใช้น้ำทุกหยดได้อย่างคุ้มค่า ตามแนวความคิด ใช้ต้นทุนที่น้อยเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มาก จากนั้นเขาจึงได้กลับมาทำแปลงเกษตรของเขาที่จังหวัดมหาสารคารซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา

พงษ์พัฒน์ใช้หลักและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการวัดปริมาณธาตุอาหาร N P K วัดความเป็นกรดเป็นด่างของดิน และวัดความเค็ม เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าดินที่มีลักษณะธาตุอาหารเช่นนี้เหมาะสำหรับปลูกพืชประเศได้ และถ้าหากต้องการปลูกพืชประเภทอื่นต้องมีการปลุงดินอย่างไรให้มีธาตุอาหารเพียงพอเท่าที่พืชต้องการ

นอกจากนี้พงษ์พัฒน์ยังได้คิดระบบให้น้ำและปุ๋ยแบบอัตโนมัติ ซึ่งระบบนี้จะทำการวัดความชื่นในดินและทำการฉีดพ่นน้ำเมื่อความชื้นในดินลดลงถึงจุดที่ตั้งระบบไว้ โดยระบบที่ว่านี้เป็นระบบแบบอัตโนมัติที่สามารถสั่งการได้ด้วยมือถือ พร้อมยังกล่าวทิ้งท้ายว่าการทำเกษตรนั้นอย่าหวังรวย ให้หวังแค่รวยความสุขก็พอ จากนั้นทุกอย่างก็จะตามมาเอง

มาถึง รศ.ดร.ปัณรสี ซึ่งเล่าว่าในสมัยที่เรียนปริญญาตรีนั้น วิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติยังไม่เป็นที่แพร่หลายและยังไม่มีการเรียนการสอนในสาขาวิชานี้มาก่อน เมื่อจบตรีได้มีอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ในปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ได้เชิญชวนให้เข้ามาทำงานเกี่ยวกับเรื่องหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จากนั้นจึงได้มาเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นการผสานรวมกันของ เครื่องกล คอมพิวเตอร์และวงจรอิเล็กทรอนิกส์

"ในอนาคตอีก 5 ปีหรือ10 ปีข้างหน้าหุ่นยนต์ที่มีระบบอัตโนมัติจะเข้ามาทำงานแทนที่งานบางอย่างของมนุษย์ ซึ่งอาจจะเห็นตัวอย่างในปัจจุบันที่บางบ้านมีหุ่นยนต์สำหรับทำความสะอาด หุ่นยนต์เลี้ยงเด็กและดูแลคนชราบ้างแล้ว โลกของวิศวกรรมและระบบอัตโนมัติกำลังจะฉีกกรอบของสายอาชีพและเชื่อมอาชีพต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันเหมือนเครือข่าย ดูจากสาขาวิศวชีวการแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่ผลิตอุปกรณ์และระบบให้แก่ระบบการแพทย์ วิศวกรเสียง (sound engineer) วิศวกรระบบราง หรือแม้กระทั้งวิศวกรระบบดาวเทียม" รศ.ดร.ปัณรสีกล่าว

สำหรับ 10 อาชีพสาขาสะเต็มที่นำเสนอในนิทรรศการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย, วิศวกรระบบดาวเทียม, วิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิศวกรเสียง (Sound Engineer) นักวิเคราะห์การลงทุน, ผู้ดูแลสมรรถภาพนักกีฬา, นักวิจัยวัสดุนาโน , วิศวกรระบบราง, เกษตรกรยุคใหม่ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
นางสิริวิมล ชื่นบาน
รศ.ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ


###############
เกี่ยวกับโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”

โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น