xs
xsm
sm
md
lg

ผจญ 4 ยักษ์ใหญ่ใต้ท้องทะเลลึก(ในอดีต)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าให้พูดถึงเรื่องความใหญ่ คงไม่มีใครกล้าขึ้นมาเทียบรัศมีวาฬสีน้ำเงิน ในยุคปัจจุบันเป็นแน่ แต่ถึงอย่างนั้น เจ้าผู้ครองสมุทรก็อาจจะต้องหลีกทางให้ อดีตจักรพรรดิใต้ท้องทะเลลึก ที่มาจากยุคไดโนเสาร์ ถึงแม้ว่าความใหญ่จะไม่เท่าวาฬ แต่ความเก๋านั้นเกินร้อย ลวดลายในการล่าเหยื่อนั้นก็แพรวพราวแบบหาตัวจับได้ยาก

พอได้ยินถึงความยิ่งใหญ่ของสัตว์ดึกดำบรรพ์ในอดีตแล้ว เราก็อดไม่ได้ที่จะทำความรู้จักให้มากขึ้น ซึ่งนิทรรศการ ยักษ์ใหญ่ใต้ท้องทะเลลึกที่จัดแสดงอยู่ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560 ณ อิมแพค เมืองทองธานี ได้ขนสัตว์ยักษ์มาให้เรารู้จัก 4 ชนิด และนับว่าเป็นไฮไลท์ของงานเลยก็ว่าได้ เพราะมีเด็กๆ มาต่อแถวเข้าชมนิทรรศการจนแถวยาวเกินหน้าเกินตานิทรรศการอื่น

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เองไม่พลาดที่จะเข้าไปยลโฉม เจ้ายักษ์ใหญ่ใต้ท้องทะเลลึกนี้เช่นกัน และทราบมาว่าหลังจบงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ แล้วจะจัดนิทรรศการนี้อย่างเต็มรูปแบบโดยมีสัตว์ยักษ์ใต้ทะเลลึกจัดแสดงร่วม 16 ชนิด ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ อพวช.คลองห้า ปทุมธานี

กลับมาที่นิทรรศการภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ทีมข่าวได้ผ่านประตูทางเข้าเพื่อชมนิทรรศการ หลังจากที่ต้องต่อแถวอยู่นาน และพบกับสัตว์ใต้ทะเลลึกที่นำมาจัดแสดง ซึ่งคำว่า “ยักษ์ใหญ่” น่าจะเหมาะสมกับความมหึมาของอสูรกายดึกดำบรรพ์นี้

เริ่มทำความรู้จักกับ “ฉลามเมกาโลดอน” (Megalodon) ที่จำลองมาจากตัวจริงที่มีขนาด 17 เมตร และตั้งเด่นเป็นสง่าต้อนรับผู้เข้าชมนิทรรศการ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่า เจ้าฉลามเมกาโลดอนนี้ล่าเหยื่อที่เป็นไดโนเสาร์ แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ เพราะว่าไดโนเสาร์นั้นสูญพันธ์ไปตั้งแต่ปลายยุคครีเตเชียส ก่อนหน้าฉลามพันธุ์นี้กว่า 36 ล้านปี นั่นจึงทำให้ฉลามนี้เกิดคนละยุคกับไดโนเสาร์

ฉลามเมกาโลดอนตัวนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักล่าที่น่าสะพรึงกลัว เนื่องจากว่ามีฟันคล้ายใบเลื่อยที่เรียงซ้อนชั้นกันเป็นแถว ในการงับเหยื่อมันนั้น สามารถขยับกราม เข้า-ออกและขึ้น-ลง ได้ดั่งใจ โดยเมกาโลดอนจะฉีกเหยื่อออกเป็นชิ้นๆ ด้วยการสะบัดหัวไปมา ก่อนจะดึงกรามกลับเข้าไปตามเดิม เพื่อกลืนเนื้อชิ้นโต...บอกเลยว่างานนี้รอดยาก

ถัดไปเป็น “ดังเคิลออสเดียส” (Dunkleosteous) ปลาหุ้มเกราะที่สูญพันธ์ไปแล้ว ซึ่งเป็นปลาที่มีแผ่นเกล็ดแข็งปกคลุมบริเวณส่วนหัวและอก ขณะที่ส่วนอื่นของร่างกาย อาจจะมีหรือไม่มีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุมอยู่เลยก็ได้ ดังเคิลออสเดียส ถูกจัดเป็นปลายุคแรกที่เริ่มมีขากรรไกร ซึ่งวิวัฒนาการมาจากเหงือกอีกที

เมื่อเดินลึกเข้าไปในนิทรรศการอีกก็จะพบกับ “ไพลโอซอรัส” (Pliosaurus) เจ้าสัตว์ที่เคยได้ฉายาว่า “เพชฌฆาตปริศนา” (Predator X) โดยเจ้าตัวนี้มีรูปร่างที่เอื้อต่อ การเคลื่อนที่ไปมาในน้ำอย่างรวดเร็ว ขาคู่หน้าที่ปรับเปลี่ยนไป เป็นครีบช่วยให้แหวกว่ายไปมาในน้ำได้เป็นอย่างดี โดยเพลซิโอซอรัสน่าจะล่าเหยื่อโดยการว่ายเข้าไปประชิดตัว และใช้ความไวงับเหยื่อให้แน่นิ่งในคราวเดียว

อีกหนึ่งสัตว์ยักษ์ใต้ทะเลคือ “เพลซิโอซอรัส” (Plesiosaurus) เจ้าตัวนี้มีชีวิตที่อาศัยอยู่ภายในน้ำ เพราะจากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ของเพลซิโอซอรัส โดยเปรียบเทียบกับสัตว์ปัจจุบันพบว่า เพลซิโอซอรัสน่าจะอาศัยอยู่ในน้ำตลอดชีวิต เพราะมันไม่น่าจะแบกรับน้ำหนักของตัวเองโดยปราศจากน้ำรองรับได้ และการที่มันอาศัยอยู่ในน้ำตลอด มันจึงน่าจะออกลูกเป็นตัวในน้ำเช่นกัน

ในส่วนของอสูรกายดึกดำบรรพ์ที่นำมาจัดแสดงนั้น ไม่ได้เป็นแค่หุ่นโปสเตอร์แข็งๆ เหมือนแต่ก่อน ทว่าเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถขยับปาก ส่งเสียงคำราม หรือแม้แต่โบกครีบและหางได้ ซึ่งนับเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจที่นำมาจัดแสดงภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแหล่งชาติ ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 17-27 ส.ค.60




กำลังโหลดความคิดเห็น