xs
xsm
sm
md
lg

“แอนโทรโปซีน” ยุคที่กำหนดขึ้นใหม่เมื่อมนุษย์ครองโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขยะล้นเมืองในยุคมนุษย์ครองโลก
“อ่อนแอก็สูญพันธ์ไป ถ้าไหวก็ครองโลก” ไม่มีวลีไหนอีกแล้วที่เหมาะสำหรับอธิบาย ยุคที่พวกเราเหล่ามนุษย์ เป็นคนกำหนดอนาคตของโลก ยุคที่มนุษย์เป็นใหญ่สุดในระบบสิ่งมีชีวิตอย่างแท้จริง ยิ่งใหญ่ขนาดวงการธรณีวิทยาต้องมีการบัญญัติติศัพท์ใหม่ออกมาว่า “แอนโทรโปซีน”

“แอนโทรโปซีน” (Anthrophocene) ถูกกล่าวถึงโดย พอล ครูตเซน (Paul Crutzen) นักฟิสิกส์เคมีชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี จากงานวิจัยด้านเคมีในบรรยากาศ ระหว่างการบรรยายทางวิชาการครั้งหนึ่งเมื่อปี 2000 เขาเสนอว่า แอนโทโปรซีน อาจเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ที่อุณหภูมิสูงขึ้น มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากพลาสติก และความเสื่อมถอยของระบบนิเวศปะการัง รวมถึงการสูญพันธ์ของสัตว์และพืชจำนวนมาก

เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่นี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2560 ที่จัดขึ้นระหว่าง 17-27 ส.ค.60 ณ ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยนิทรรศการได้บอกเล่า เรื่องการวิวัฒนาการของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอดีตจนถึงปัจจุบันผ่านนิทรรศการในรูปแบบ Carbon Playground

นิทรรศการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญอยู่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ ปัญหามลพิษ ภาวะโลกร้อน ปะการังฟอกขาว ผ่านทางรูปแบบของหนังสือพิมพ์เหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางน้ำที่มาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหาร และการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการซักผ้าและล้างจาน

เมื่อเกิดปัญหาย่อมต้องหาทางแก้ไข ดังนั้น มาตรฐานเพื่อโลกอย่าง ฉลากคาร์บอน ฉลากเขียว และมาตรฐานการประเมินอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม (LEED Building Standard) จึงเกิดขึ้นมา ซึ่งมาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อมนี้เอง นำไปสู่วิถีคาร์บอนต่ำ หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือการอุดหนุนแฟชั่นที่ยั่งยืนจากธรรมชาติ โดยเสื้อผ้าตัวที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนั้น เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากใยไผ่ หรือการใช้วัสดุสร้างบ้านจากกากเบียร์ ซึ่งให้ลักษณะและความรู้สึกเหมือนไม้อัด แต่มีข้อดีกว่าคือกันชื้น กันน้ำ กันปลวก ไม่ติดไฟ และมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี นอกจากจะช่วยประหยัดเงินจากการซ่อมบ้านแล้ว ยังเป็นการนำของเสียอย่างกากเบียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกด้วย และยังมีสินค้าคาร์บอนต่ำอย่างกระเป๋าโซล่าเซลล์ และบ้านที่สามารถปิดเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านทางแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน

นอกเหนือจากส่วนผลิตภัณฑ์แล้วนั้นยังมี โมเดลเมืองในอุดมคติอย่าง Venus project ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกออกแบบเป็นรูปวงกลม ด้วยสาเหตุที่ว่าสามารถเพิ่มเติมส่วนพื้นที่สีเขียว และยังทำให้การคมนาคมสะดวกลื่นไหลได้มากกว่าแบบสี่เหลี่ยม มีระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และเมืองแบบ นี้เกิดขึ้นจริงแล้วเมื่อปี 2538 โดยตั้งอยู่ในรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ จากการก่อตั้งโดย แจ๊ค เฟรสโก ซึ่งเมืองต้นแบบนี้สร้างบนพื้นที่ขนาด 62 ไร่ แต่ตอนนี้ยังไม่มีผู้อาศัยอยู่จริง คาดว่าเมืองอนาคตแห่งนี้ จะนำไปสู่โครงสร้างเมืองสีเขียวต่างๆ เช่น ถนนแห่งอนาคตที่เป็นทางจักรยานพลังงานแสงอาทิตย์ บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคตที่บรรจุน้ำใส่ในฟิล์มสาหร่าย เพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก

เรื่องราวที่เล่ามานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ Anthropocene เท่านั้น ถ้าหากต้องการรู้ว่านิทรรศการนี้จะบอกเล่าเรื่องราวอะไรอีก ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ขอแนะนำให้ไปสัมผัสด้วยตัวเองในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2560 ณ. อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี ตั้งแต่ เวลา 9:00 – 19:00 น. ถึงวันที่ 27 ส.ค.60
การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในยุคมนุษย์ครองโลก
แฟชันรักษ์โลกด้วยเสื้อผ้าเส้นใยไผ่
วัสดุสร้างบ้านจากสิ่งของรีไซเคิล




นิทรรศการมลภาวะจากเครื่องซักผ้า

ของใช้รักษ์โลกย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ

กำลังโหลดความคิดเห็น