xs
xsm
sm
md
lg

มอบใบรับรองวิจัยและพัฒนาให้ "เอสซีจี" ใช้ยกเว้นภาษี 300% เป็นรายแรกของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายไปขวา) ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ, ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล และ ดร.วิไลพร เจตนจันทร์
สวทช. จับมือ วว. มอบใบรับรองระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้กับ เอสซีจี ใช้สิทธิยกเว้นภาษี 300% ได้ด้วยตนเอง (Self-Declaration) เป็นรายแรกของไทย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดพิธีรับมอบใบรับรองระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เมื่อ 18 สิงหาคม 2560 ณ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) อาคารกลุ่มนวัตกรรม2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ให้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (เอสซีจี) สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษี 300% ได้ด้วยตนเอง (Self-Declaration) สำหรับโครงการวิจัยฯ ที่มีมูลค่าโครงการไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยการขอรับรองระบบบริหารการวิจัยฯ เป็นรายบริษัท แทนการรับรองโครงการวิจัยฯ เป็นรายโครงการแบบเดิม (Pre-approval)

ทั้งนี้ สวทช. และ วว. ได้ร่วมทำหน้าที่ตรวจประเมินระบบบริหารการวิจัยฯ ตามข้อกำหนดที่พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสะดวกและมั่นใจในการขอใช้สิทธิยกเว้นภาษี 300% พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนทำวิจัยมากขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมและยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศต่อไป

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ในการดำเนินการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยฯ ในรูปแบบ Pre-Approval เริ่มตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการยื่นขอรับรองโครงการวิจัยเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวน 352 ราย

"มีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการที่เคยยื่นขอรับรองโครงการวิจัยฯ ในปีแรกจะกลับมายื่นขอรับรองในปีต่อๆ ไปเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีโครงการที่ได้รับยื่นฯ จากผู้ประกอบการ 3,940 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 15,500 ล้านบาท และโครงการที่ผ่านการพิจารณาแล้ว 3,633 โครงการ รวมมูลค่าการรับรองกว่า 12,500 ล้านบาท โดยผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ เฉพาะในปี 2558 และ 2559 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท"

ดร.ณรงค์กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 2559 สวทช. ยังมีบทบาทเกี่ยวกับการตรวจประเมินและรับรองระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ (Research, Technology Development and Innovation Management System: RDIMS) ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองระบบ RDIMS และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ใช้สิทธิกับ สวทช. สามารถรับรองตนเอง สำหรับโครงการวิจัยฯ ที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยไม่ต้องขอการรับรองเป็นรายโครงการ แล้วยื่นใช้สิทธิยกเว้นภาษี 300% ในรูปแบบ Self-Declaration ได้อีกช่องทางหนึ่ง

"นอกจากสร้างความสะดวกของผู้ประกอบการในการใช้สิทธิยกเว้นภาษีแล้ว การนำระบบดังกล่าวไปใช้ในกิจการจะทำให้ผู้ประกอบการมีการบริหารงานวิจัยที่เป็นระบบและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อพัฒนาเป็นสินค้า หรือบริการนวัตกรรม โดยเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต"

ดร.ณรงค์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สวทช. และ วว. ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการตรวจประเมินและรับรองระบบ RDIMS เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีในรูปแบบ Self-Declaration และเกิดความมั่นใจว่าผู้ประกอบการจะสามารถดำเนินงานและประยุกต์ใช้ระบบ RDIMS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการโครงการนำร่องในการตรวจประเมินระบบ RDIMS ให้กับผู้ประกอบการเอกชนอาสาสมัครอีกด้วย ซึ่งผลจากการดำเนินงานได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการอาสาสมัครได้เป็นอย่างดี

"ขอแสดงความยินดีกับ เอสซีจี ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการตรวจประเมินและรับรองระบบ RDIMS และได้รับผลการรับรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นบริษัทรายแรกที่สามารถนำข้อกำหนดของระบบไปประยุกต์ใช้ให้เกิดความสอดคล้องกับการดำเนินการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของตนเองได้ และได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการยกเว้นภาษี 300% ด้วยวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นบริษัทตัวอย่างที่ลงทุนการวิจัยและพัฒนาด้าน วทน. มาใช้ประโยชน์และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล"

ด้าน ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. มีสำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรอง (Certification Body; CB) ที่ให้บริการตรวจประเมินและรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐานสากล อาทิ ISO 9001, ISO 14001, OHSAS 18001, GMP, HACCP และ ISO 22000 เป็นต้น ให้กับภาคอุตสาหกรรมมากว่า 15 ปี จึงมีความสามารถ ความชำนาญ และประสบการณ์ด้านงานตรวจประเมินเป็นอย่างดี

"ดังนั้น การที่ วว. ได้มีโอกาสมาร่วมทำงานกับ สวทช. ครั้งนี้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าจะส่งเสริมและพัฒนาระบบบริหารการวิจัยฯ ให้มีประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรฐานการดำเนินการวิจัยและพัฒนา เป็นประโยชน์ต่อองค์กรที่นำระบบนี้ไปประยุกต์ใช้ และเชื่อมโยงในการใช้สิทธิยกเว้นภาษี 300% เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการผลักดันด้านการลงทุนงานวิจัยมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นต่อระบบเศรษฐกิจของชาติต่อไป”

ส่วน ดร.วิไลพร เจตนจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (เอสซีจี) กล่าวว่า สำนักงานเทคโนโลยี เอสซีจี ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value-Added) ตามกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจของเอสซีจีผ่านการทำ R&D โดยมีระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ “Innovation management” ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ออกสู่ท้องตลาด ผ่านระบบการดำเนินงานภายในที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านบัญชีและการเงิน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ที่เริ่มตั้งแต่การรับพนักงานที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม และการพัฒนา skill & competency ที่จำเป็น มาโดยตลอด

"โอกาสนี้ เอสซีจี รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนภาคเอกชนรายแรกที่ผ่านการประเมินโครงการการตรวจรับรองระบบ RDIMS ในรูปแบบ self-declaration ตามเกณฑ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐในครั้งนี้จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้เกิดความคล่องตัวและประสิทธิภาพสูงสุดในการผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป และบริษัทฯ มุ่งหวังว่าจะสามารถเป็นแนวทางให้กับภาคเอกชนรายอื่นๆ เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกันในอนาคต”
กำลังโหลดความคิดเห็น