xs
xsm
sm
md
lg

โชว์ "เอนไซม์เอนอีซ" ปฏิวัติวงการสิ่งทอไทย ใช้ลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกในขั้นตอนเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.วิทย์ฯ สวทช. โชว์เทคโนโลยี “เอนไซม์เอนอีซ” ทู อิน วัน ใช้ในกระบวนการผลิตสิ่งทอ ทดแทนสารเคมีในกระบวนการผลิตแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกได้ในขั้นตอนเดียว ลดต้นทุนการผลิต-เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มสิ่งทอไทย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) จัดสัมมนา “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีเอนไซม์” เพื่อถ่ายทอดความรู้การใช้เทคโนโลยีผลงานวิจัย “เอนไซม์เอนอีซ” ผลงานนักวิจัย สวทช. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ณ ห้องเจ้าพระยาบอลรูม ชั้น 2 โรงแรมเจ้าพระยา ปาร์ค กรุงเทพฯ

ผลงานดังกล่าวจะนำไปใช้ในวงการสิ่งทอไทย นั่นคือ “เอนไซม์เอนอีซ” สำหรับทดแทนสารเคมีในกระบวนการผลิตแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกได้ในขั้นตอนเดียว ทำให้ประหยัดพลังงาน ลดการใช้สารเคมีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมี นายณัชนพงศ์ วชิรวงษ์บุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานและมีผู้ประกอบการสิ่งทอตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กว่า 200 ราย เข้าร่วมฟังสัมมนาเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีเอนไซม์เอนอีซของ สวทช.

นายณัชนพงศ์ วชิรวงษ์บุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเปิดสัมมนา ว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อันดับต้นที่มีการจ้างงานสูงก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ประชากร ทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจในหลายส่วน ตั้งแต่การผลิตเส้นด้าย การทอผ้าผืน จนถึงการตัดเย็บเสื้อสำเร็จรูปเพื่อการจำหน่าย ทั้งนี้การส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากคู่แข่งขันในตลาดระดับล่าง ซึ่งมีความได้เปรียบเชิงต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่าประเทศไทย อันได้แก่ ประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ดังนั้นเพื่อให้การส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในตลาดโลก จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการในอุตสาสหกรรมสิ่งทอไทย ต้องนำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากระบวนการผลิตให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพรวมถึงการสร้างอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์

"ตัวอย่างของงานวิจัยที่ผู้ประกอบการจะได้รับรู้และเข้าถึงนวัตกรรมในวันนี้ ถือเป็นความสำเร็จของวงการวิจัยไทย เนื่องจาก “เทคโนโลยีเอนไซม์เอนอีซ” ได้ผ่านมาตรฐานการทดสอบการใช้งานในการลอกแป้งและการกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียว ทั้งในระดับอุตสาหกรรมจากโรงงานนำร่อง กระบวนการของวิสาหกิจชุมชน รวมถึงร่วมทดสอบกับสถาบันพัฒนาสิ่งทอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นตัวช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย ที่สำคัญช่วยลดการนำเข้าเอนไซม์จากต่างประเทศมีมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ลดการใช้สารเคมีและช่วยประหยัดพลังงานในกระบวนการผลิตได้อย่างดีหากผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้อย่างแพร่หลาย เชื่อว่าจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านราคาของผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย และสามารถที่จะแข่งขันในตลาดระดับบน จากการเพิ่มมูลค่าสิ่งทอด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน" นายณัชนพงศ์กล่าว

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัย สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และโรงงานสิ่งทอธนไพศาล ได้บูรณาการองค์ความรู้ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อพัฒนา “เอนอีซ” เอนไซม์อัจฉริยะ ทู อิน วัน ให้สามารถใช้เพื่อกำจัดแป้งและสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้ ทั้ง 2 ขั้นตอนในครั้งเดียว ทดแทนสารเคมีในกระบวนการผลิต นอกจากนั้นกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายโดยใช้เอนไซม์เอนอีซ ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทดแทนกระบวนการผลิตผ้าแบบดั้งเดิมในระดับอุตสาหกรรมได้ง่าย ลดระยะเวลา พลังงาน แรงงาน และช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการผลิตฝ้าฝ้าย เพราะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรใดๆ เป็นผลดีให้ผู้ประกอบการเพิ่มกำลังการผลิตผ้าฝ้ายต่อวันได้มากขึ้น และค่าใช้จ่ายโดยรวมในการผลิตลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของกระบวนการแบบดั้งเดิม โดยที่ผ่านมาทีมวิจัยได้นำไปเทคโนโลยีดังกล่าว ทดสอบภาคสนามแล้ว ที่ โรงงานสิ่งทอธนไพศาล, วิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ, ผู้ประกอบการร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น จ.แพร่ และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

“ผลการทดสอบภาคสนาม พบว่าผ้าที่ได้มีระดับการลอกแป้งและการซึมน้ำที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีความนุ่ม ความแข็งแรง และความสามารถในการติดสีย้อมที่มากกว่าผ้าที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยวิธีทางเคมี และสามารถนำเข้าสู่กระบวนการฟอกย้อมและพิมพ์ลายต่อไปได้ ดังนั้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอนไซม์ดังกล่าว ในอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยปฏิวัติกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเอนไซม์เอนอีซให้กับบริษัท เอเซีย สตาร์ เทรด จำกัด เพื่อผลิตเอนไซม์สูตรน้ำขายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะวางขายในท้องตลาดได้ภายในปีนี้ โดย สวทช. หวังว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยลดการขาดดุลทางการค้า ที่ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการนำเข้าเอนไซม์จากต่างประเทศปีละ 2,600 ล้านบาท และมีอัตราการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง 8.4 % ต่อปี อย่างไรก็ตามการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ ทีมวิจัย สวทช. ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอนไซม์ การนำเอนไซม์ประยุกต์ใช้เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ตลอดจนช่วยสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการสิ่งทอที่มุ่งเน้นกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน ลดการใช้สารเคมี ทำให้กระบวนการผลิตสิ่งทอเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป” ผู้อำนวยการสวทช. กล่าว
ผู้บริหาร สวทช. นักวิจัย และ ผู้ประกอบการที่ ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีเอนอีซ
กำลังโหลดความคิดเห็น