xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งทอบังกลาเทศอ่วม หลังอียูตั้งกฎแบบไม่อธิบาย “สินค้าธากาทุกชนิดต้องตรวจหาระเบิดก่อนเข้าประเทศ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอพี - กลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สิ่งทอบังกลาเทศออกมายืนยันเมื่อวานนี้ (8 มิ.ย.) ว่า คำสั่งสหภาพยุโรปให้ตรวจหาวัตถุระเบิดกับสินค้าทุกชนิดของธากาก่อนเข้า สร้างความเสียหายจำนวนมหาศาลต่อกลุ่มอุตสาหกรรมรายได้หลักประเทศ พบต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 วันในการตรวจเช็กในประเทศที่ 3 แถมอียูออกคำสั่งแบบไม่มีคำอธิบาย

เอเอฟพีรายงานเมื่อวานนี้ (8 มิ.ย.) ว่า ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของบังกลาเทศวิตกถึงผลกระทบมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่จะเกิดขึ้น หลังถูกทางสหภาพยุโรปออกคำสั่งให้ตรวจเช็กล็อตสินค้าสัญชาติบังกลาเทศต้องตรวจหาการซุกซ่อนของวัตถุระเบิดล่วงหน้า

โดยในแถลงการณ์จากตัวแทนสหภาพยุโรปประจำกรุงธาการะบุว่า “การตรวจเช็กสามารถกระทำได้ที่ต้นทาง (บังกลาเทศ) หรือจุดทรานซิตก่อนที่สินค้าจะถูกส่งเข้ายุโรปต่อไป”

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ยังระบุต่อว่า การบังคับใช้กฎเกณฑ์นี้จะเป็นหน้าที่ของบริษัทสายการบินและบริษัทลอจิสติกส์ต่างๆ

แต่อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีชี้ว่า ถึงแม้มูลค่าการค้าระหว่างบังกลาเทศที่ส่งเข้าสหภาพยุโรปต่อปีจะสูงเกือบ 19 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทอส่งเข้า 28 ประเทศสมาชิกอียู แต่ทว่า บังกลาเทศยังไม่มีความพร้อมในระบบและอุปกรณ์ตรวจหาวัตถุระเบิดในขณะนี้ซึ่งหมายความว่า สินค้าส่งออกไปยังสหภาพยุโรปจากธากาจะต้องถูกตรวจที่ประเทศที่ 3 แทน

ด้านอับดุส ซาลาม มูร์เชดี (Abdus Salam Murshedy) เจ้าของกลุ่มเอนวอยกรุ๊ป (Envoy Group) ผู้นำการส่งออกสิ่งทอบังกลาเทศได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้กับเอเอฟพีว่า “ปัญหาไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะราคาที่ต้องเพิ่มขึ้น แต่เป็นที่เวลาด้วย และยังเป็นการตบหน้าบังกลาเทศครั้งใหญ่”

เขาให้ความเห็นว่า การล่าช้าอาจทำให้ลูกค้าบริษัทแบรนด์ชื่อดังเช่น H&M หันไปหาชาติอื่นแทน

สอดคล้องกับ เมอร์ โมบาเชอร์ อาลี (Mir Mobasher Ali) ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าบังกลาเทศมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ต่อปีเข้ายุโรปและแคนาดาได้ให้ความเห็น จากการรายงานของเอพี ในเรื่องนี้ว่า “การตรวจหาวัตถุระเบิดสำหรับล็อตสินค้านั้นต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 10 วัน ในช่วงเวลาที่พวกเราต่างพยายามที่จะส่งสินค้าให้ทันตามกำหนดด้วยเหตุผลต่างๆ” และกล่าวต่อว่า “และทำให้พวกเราต้องพึ่งกับประเทศที่ 3 ในการตรวจเช็กซึ่งถือเป็นเรื่องที่เลวร้ายสำหรับพวกเราเป็นอย่างมาก”

ในขณะที่ชาฮิดุล อิสลาม (Shahidul Islam) เจ้าของบริษัท รูปา นิตแวร์ (Rupa Knitwear) ที่มีสัญญาการค้ากับบริษัทซารา และ Lidl. ออกมายอมรับเช่นกันว่าจำเป็นที่ต้องส่งสินค้าไปทางอากาศแทนเรือคาร์โกตามปกติ เพื่อให้ทันตามกำหนดออร์เดอร์

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เอพีรายงานในวันพุธ (7) ว่า สหภาพยุโรปออกคำสั่งให้สินค้าจากบังกลาเทศที่ถูกส่งเข้าสหภาพยุโรปผ่านทางอากาศ ทางทะเล จะต้องได้รับการตรวจสอบหาวัตถุระเบิดจากสุนัขดมกลิ่น หรือจากเครื่องมือหาวัตถุระเบิด

ความเคลื่อนไหวล่าสุดส่งผลทำให้ “บังกลาเทศตกอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูง” สำหรับการค้าของอียู โดยแหล่งข่าวธากาออกมายอมรับกับเอพีว่า เป็นการประกาศที่ออกมาแบบคาดไม่ถึงจากทางฝั่งยุโรป และชี้ว่า การแจ้งถูกส่งมายังบังกลาเทศในวันจันทร์ (5 มิ.ย.) ก่อนหน้าโดยที่ทางสหภาพยุโรปไม่ได้อธิบายหรือให้เหตุผลใดๆ

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บังกลาเทศถูกอังกฤษ เยอรมนี และออสเตรเลีย แบนการส่งสินค้าโดยตรงออกจากท่าอากาศยานนานาชาติบังกลาเทศเข้าสู่พรมแดนประเทศเหล่านี้ โดยอ้างเหตุผลด้านระบบความปลอดภัยที่มีต่ำของบังกลาเทศ

อย่างไรก็ตาม เอพีรายงานว่าในความเคลื่อนไหวพบว่ามีเที่ยวคาร์โกทางอากาศจากบังกลาเทศได้ถูกเปลี่ยนเส้นทาง โดยกำหนดให้ผ่านทางนครอิสตันบูลของตุรกี หรือกรุงโดฮาของกาตาร์ เพื่อทำการตรวจเช็กหาวัตถุระเบิดตามข้อกำหนดใหม่ของอียูแล้ว

ส่วนเส้นทางขนส่งทางเรือ เอพีชี้ว่ามีบางบริษัทได้เริ่มต้นส่งผ่านไปยังสิงคโปร์ หรือโคลอมโบเพื่อทำการตรวจหาวัตถุระเบิดก่อนเข้าสู่ยุโรปเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น