มากกว่าแข่งขันเพราะนี่คือการประเมินศักยภาพของงานวิจัย สู่การใช้จริง การแข่งขันประลอง “โดรน” อากาศยานไร้คนขับฝีมือไทย บนสนามแข่งขันภายใต้สถานการณ์จำลองที่อาจจะได้พบเจอในชีวิต
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมติดตามคณะจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งร่วมกับกองทัพบก จัดการประกวด “อากาศยานไร้คนขับ Unmanned Aerial Vehicle: UAV)” ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 13 ส.ค.60 ณ สนามบินมณฑลทหารบกที่ 14 ภายในค่ายนวมินทราชินี กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ในสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ อ.เมือง จ.ชลบุรี
ถึงแม้นว่าสถานที่จัดการแข่งขันจะมีอากาศร้อนจัด แต่บรรยากาศภายในงานที่เป็นไปอย่างคึกคัก ทำให้เราลืมความร้อนแต่หันมาจดจ่อกับความระอุของบรรยากาศการแข่งขัน ที่มีทีมผ่านเข้ารอบชิงแชมป์ถึง 11 ทีม โดยก่อนการแข่งขันจริงแต่ละทีมได้ซักซ้อมกันหลายต่อหลายรอบ เพื่อให้แน่ใจว่ายานไร้คนขับหรือ UAV ของทีมนั้นจะพาพวกเขาคว้าแชมป์มาครองได้
เมื่อถึงเวลาทีมที่เข้าแข่งขันนำ UAV มาตั้งตรงจุดที่ใช้ออกตัว จากนั้นแต่ละทีมมีเวลาตรวจเช็คสภาพ และทดสอบระบบได้อีกประมาณ 1 นาที ก่อนที่คณะกรรมการจะให้สัญญาณและทำการออกตัว โดยระบบที่ใช้ในการบังคับ UAV นั้นมีทั้งระบบ Autonomous (อัตโนมัติ) Semi- Autonomous (กึ่งอัตโนมัติ) และ Manual (บังคับโดยผู้ควบคุม)
สิ้นเสียงสัญญาณการออกตัว ทีมที่เข้าแข่งขันจะบังคับ UAV ให้ค่อยๆ ลอยตัวขึ้นไปในอากาศ ซึ่งมีระดับความสูงจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 2 เมตรตามแต่ภารกิจ โดยในการแข่งขันจะเป็นการแข่งขันทีละทีม โดยแต่ละทีมจะต้องทำการบินออกไปทำภารกิจแต่ละด้าน และลงจอดภายในเวลา 5 นาทีเท่านั้น
ภารกิจในการแข่งขันมีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ การควบคุม UAV เข้าไปสำรวจแผ่นป้ายซึ่งจำลองเป็นพื้นที่สิ่งแวดล้อมในการแข่งขันด้านทรัพยากรธรรมชาติ การควบคุม UAV เข้าไปฉีดยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยในแปลงเกษตร สำหรับการแข่งขันด้านการเกษตร การควบคุม UAVบินสำรวจพื้นที่ชุมนุมหรือพื้นที่อันตราย ในการแข่งขันด้านความมั่นคง และการควบคุม UAV เพื่อส่งของให้ตรงจุดซึ่งเป็นภารกิจสำหรับ ด้านการขนส่งและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่ง UAV ของทีมใดสามารถทำภารกิจได้สำเร็จและรวดเร็วที่สุดก็จะได้แชมป์ไปครอง
ในการแข่งขันครั้งนี้นอกจากผู้ชนะในแต่ละด้านแล้ว มีทีมที่ได้รางวัลพิเศษและเป็นสุดยอดแชมป์ในฐานะ “แชมป์ออฟเดอะแชมป์” (Champ of the Champ) นั่นคือทีม โดรนยุทธการและควบคุมฝูงชน ของโรงเรียนจ่าอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ซึ่งเป็นทีมที่ใช้เวลาในการทำภารกิจน้อยที่สุดในการแข่งขัน
เรืออากาศเอกหญิงวรรษพร แก้ววัฒนะ ครูแผนกวิชาช่างอากาศ กองการศึกษาโรงเรียนจ่าอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ผู้คุมทีม โดรนยุทการและควบคุมฝูงชน ให้สัมภาษณ์พิเศษทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมของทีม และจุดเด่นของทีมที่ทำให้คว้าชัยมาได้
“การทำงานของทีมเราจะพยายามทำงานให้ตอบสนองต่อความต้องการ โดยโรงเรียนจ่าอากาศนั้นส่งมาสองทีม เป็นทีมทางด้านสิ่งแวดล้อม 1 ทีม และทีมทางด้านความมั่นคง 1 ทีม โดยโดรนที่นำมาแข่งนั้น เป็นโครงงานของนักเรียน และมีการนำเอามาประยุกต์ปรับแต่งเพย์โหลดให้เหมาะสมกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย” เรืออากาศเอกหญิงวรรษพรกล่าว
ในส่วนภารกิจด้านความมั่นคงนั้น จุดเด่นของทีมโรงเรียนจ่าอากาศจะอยู่ในส่วนของวอกระจายเสียง ตัวจับระเบิดควัน และการส่องกล้องเวลากลางคืนที่ทำให้เห็นในเวลากลางคืน ส่วนโดรนทางสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นการป้องกันคนบุกรุกป่า ซึ่งตรวจพบจากการตรวจควัน ความร้อนการเผาไฟ โดยการประมวนผลนั้นจะดูจากกล้องอย่างเดียว เมื่อมีไฟขึ้นผู้ควบคุมจะหมุนกล้องเข้าไปดูไฟ เมื่อตรวจพบว่ามีผู้บุกรุกก็จะจุดพลุ
สำหรับจุดเด่นของทีมนั้น เรืออากาศเอกหญิงวรรษพรระบุว่า เน้นความคิดสร้างสรรค์ ราคาประหยัดและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่นำไปใช้ได้ UAV ด้านความมั่นคงที่ชนะนั้น สามารถใช้ในการกระจายเสียงได้ และในตัวเพย์โหลดนั้น มีต้นทุนต่ำแต่ใช้งานได้ดี ส่วนตัวเครื่องนั้นเป็นเครื่องมือสอง และมีการดัดแปลงให้เป็นนวัตกรรมที่บินเร็วขึ้น บินดีขึ้น และแม่นยำขึ้น
“การแข่งขันโดรนในครั้งนี้เป็นการขยับขึ้นไปอีกขั้นของการวิจัย เพิ่มจากงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทางวิชาการ เนื่องจากเห็นว่าอากาศยานไร้คนขับหรือ UAV ประเทศไทยได้สร้างศักยภาพมาระยะหนึ่งแล้ว จากเดิมที่ประเทศไทยมีทั้งคนทั้งความรู้แล้ว จึงอยากท้าทายนักวิจัยและนักประดิษฐ์ ทั้งจากภาพรัฐและภาคเอกชนว่าถ้าหากนำมาใช้งานในสภาวะจริงจะเป็นเช่นไร ในการประกวดครั้งนี้จึงมีความคาดหวังว่าจะได้ขยับจากงานวิจัยจากงานวิจัยเพื่อความรู้ไปสู่งานวิจัยที่สามารถใช้งานได้จริง” ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติกล่าว
สำหรับความท้าทายของ UAV ในสภาวะจริงนั้น ศ.นพ.สิริฤกษ์แจงว่า มีความท้าทายทั้งในเรื่องของสภาพลม สภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศ และยังมีเรื่องความเร็วและความแม่นยำในการบินและส่งของบรรทุก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระยะเวลาในการบิน รวมถึงเรื่องอายุการใช้งานของแบตเตอรี ว่า เพียงพอต่อภารกิจหนึ่งๆ หรือไม่ พร้อมทั้งแสดงความคาดหวังว่า ต้องการให้ UAV ฝีมือคนไทยพัฒนาความสามารถทั้งสี่ด้านคือ ด้านโครงสร้างและความแม่นย่ำ ด้านการพัฒนาพลังงานให้เพียงพอต่อการทำภารกิจ ด้านวัตถุที่มีน้ำหนักเบา และด้านเทคโนโลยีที่จะมาสนับสนุนความสามารถของ UAV อย่างการใช้นาโนเทคโนโลยี