ฮอนด้า มอเตอร์ดันตัวเองเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และรถยนต์อัตโนมัติเต็มตัว ด้วยการเบนเข็มสู่เส้นทางการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อจุดประกายจิตวิญญาณนวัตกรรมที่เคยขับเคลื่อนบริษัทในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สุดล้ำอย่างเช่นหุ่นยนต์อาซิโม และอุปกรณ์เคลื่อนที่ส่วนตัว ยูนิ-คับ ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง
ปลายเดือนที่ผ่านมา ฮอนด้าได้ฤกษ์นำนักข่าวเข้าชมอินโนเวชัน แล็บ โตเกียวเป็นครั้งแรก และถือโอกาสประกาศข่าวการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) แห่งใหม่ในชื่ออาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ เอ็กซ์ เพื่อรับมือเทคโนโลยียุคต่อไปที่จะเน้นที่ซอฟต์แวร์และเป็นเฟืองจักรสำคัญสำหรับอนาคตของยานยนต์
อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ เอ็กซ์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับอินโนเวชัน แล็บ จะเริ่มดำเนินงานในเดือนเมษายนโดยเน้นที่หุ่นยนต์ ระบบเคลื่อนที่ การจัดการพลังงาน และเอไอ
โยชิยูกิ มัตสึโมโตะ ประธานฮอนด้า อาร์แอนด์ดี และกรรมการผู้จัดการอาวุโสของฮอนด้า มอเตอร์ เผยว่า หน่วยงานอาร์แอนด์ดีแห่งใหม่จะคลอดผลงานแรกคือหุ่นยนต์ในปีหน้า และระบบขับขี่อัตโนมัติในปี 2020
อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ เอ็กซ์จะโฟกัสที่การร่วมมือกับบริษัทภายนอกและการตัดสินใจกระชับฉับไวสไตล์บริษัทน้องใหม่มาแรงในซิลลิคอนแวลลีย์
ในส่วนการร่วมมือกับคนนอก ฮอนด้าเตรียมว่าจ้างเอ็ดเวิร์ด ไฟเกนโบม ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเอไอจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของอเมริกา เป็นที่ปรึกษาให้อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ เอ็กซ์ โดยไฟเกนโบมนั้นมองว่า ฮอนด้าและญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันยุคสมัยด้วยการทุ่มเทกับซอฟต์แวร์มากขึ้น
การประกาศข่าวนี้ของฮอนด้ามีขึ้นขณะที่ผู้ผลิตรถทั่วโลกกำลังขมีขมันเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และเอไอที่จำเป็นสำหรับรถขับขี่อัตโนมัติและระบบความปลอดภัยขั้นสูง
เฉพาะในบ้านเกิด ฮอนด้าต้องฟาดฟันกับทั้งโตโยต้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ ที่ต่างกระโจนลงสนามนี้อย่างรุกกร้าว
เริ่มจากโตโยต้าที่ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ในสถาบันวิจัยโตโยต้าในอเมริกา เพื่อพัฒนาไออีสำหรับหุ่นยนต์และรถยนต์ ด้านนิสสันเพิ่งเผยโฉมเทคโนโลยี “Seamless Autonomous Mobility” หรือการเคลื่อนที่อัตโนมัติแบบไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเอไอในรถยนต์และการสนับสนุนของคนขับเพื่อช่วยให้รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติสามารถตัดสินใจในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง
ส่วนที่อเมริกา ฟอร์ด มอเตอร์มีแผนลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้าในอาร์โก เอไอ ซึ่งเป็นบริษัทด้านเอไอในพิตส์เบิร์ก
ความที่เป็นบริษัทรถยนต์ขนาดกลางที่มีทรัพยากรจำกัด อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ เอ็กซ์จึงเป็นเดิมพันสำคัญสำหรับฮอนด้าในการยืนยันสถานะของตนเองในยุคสมัยแห่งซอฟต์แวร์ และเพื่อดึงดูดพันธมิตรใหม่ๆ
มัตสึโมโตะย้ำว่า ฮอนด้าเปิดกว้างและพร้อมร่วมมือกับทุกคนและทุกบริษัท โดยขณะนี้ มีบุคคลและบริษัทราว 800 รายแสดงความสนใจเข้าร่วมกับอาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ เอ็กซ์
แนวทางดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรของฮอนด้าที่แต่ไหนแต่ไรมา ค่ายรถอันดับ 3 ของญี่ปุ่นแห่งนี้มักยึดมั่นถือมั่นกับอุปกรณ์ของตัวเองในการพัฒนาเทคโนโลยีภายในองค์กรเท่านั้น
ทว่า อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการถาโถมของเทคโนโลยีใหม่ๆ และการรุกล้ำท้าทายของคู่แข่งจากซิลลิคอนแวลลีย์ที่ทำให้ฮอนด้าสารภาพว่า คงลุยเดี่ยวต่อไปไม่ไหว
เคิร์ต แซงเกอร์ นักวิเคราะห์ยานยนต์ของดอยช์ ซีเคียวริตี้ส์ เจแปน เห็นด้วยว่า ภารกิจอาร์แอนด์ดีเป็นงานหนัก แถมพันธมิตรเจ้าประจำของฮอนด้ายังมีแต่พวกตัดเชื่อมโลหะ จึงถึงเวลาแล้วที่บริษัทรถแห่งนี้จะต้องมองหาเพื่อนใหม่
การร่วมมืออย่างเปิดกว้างและการปลูกฝังจิตวิญญาณของการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ คือกุญแจสำคัญของศูนย์วิจัยล่าสุด ยิ่งไปกว่านั้น X ในชื่อของเซ็นเตอร์ เอ็กซ์ยังหมายถึง “การไม่เป็นที่รู้จัก” เพื่อสะท้อนว่า ฮอนด้ากำลังกระโจนลงสู่การสร้างสรรค์ตัวเองในรูปโฉมใหม่
ตัวอย่างเช่น ในการเสาะแสวงหา “สิ่งใหม่” นั้น ฮอนด้าเลือกใช้คำว่า “ความเป็นอัจฉริยะแบบร่วมมือร่วมใจ” มากกว่าปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากความเป็นอัจฉริยะแบบร่วมมือร่วมใจหมายถึงแนวทางที่มนุษย์และเครื่องจักรกลเติบโตไปด้วยกันและรู้ใจกันผ่านประสบการณ์ที่มีร่วมกัน
อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ เอ็กซ์จะเป็นฮับอาร์แอนด์ดีระดับโลก และเป็นเอกเทศจากศูนย์วิจัยเดิม 6 แห่งที่มุ่งเน้นเซ็กเมนต์ต่างๆ เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และผลิตภัณฑ์พลังงาน แต่จะใช้ทรัพยากรบางอย่างร่วมกับอินโนเวชัน แล็บ โตเกียวที่ฮอนด้าตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้วเพื่อโฟกัสด้านเอไอโดยเฉพาะ
ไฟเกนโบมทิ้งท้ายว่า การเลือกที่ตั้งในโตเกียวแทนที่จะเป็นซิลลิคอน แวลลีย์ ทำให้อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ เอ็กซ์สามารถดึงดูดบัณฑิตหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียเวลาไปรบราฆ่าฟันกับบริษัทไฮเทคเพื่อแย่งชิงคนเก่งเหมือนบริษัทรถบางแห่งที่ไปตั้งศูนย์วิจัยในซิลลิคอนแวลลีย์