งานวิจัยใหม่สนับสนุนแนวคิด “ดวงจันทร์” ไม่ได้แล้งอย่างที่เชื่อมานาน โดยพบว่าบริวารของโลกมีน้ำมหาศาลอยู่ใต้ดิน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะเป็นแหล่งน้ำดับกระหายให้แก่นักสำรวจที่เดินทางจากโลกได้ในอนาคต
ซุย หลี่ (Shuai Li) หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) สหรัฐฯ ซึ่งศึกษาพบน้ำใต้ผิวดวงจันทร์ บอกเอเอฟพีว่า พวกเขาอาศัยข้อมูลดาวเทียมศึกษาพบว่า มีสัญญาณของน้ำอยู่ใต้ผิวดวงจันทร์
หลี่ซึ่งเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii) และเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบราวน์ บอกอีกว่าน้ำดังกล่าวจะเป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์ต่อการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต
เมื่อประมาณสิบปีก่อนนักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อกันว่าดวงจันทร์นั้นแห้งสนิท จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ได้พบหลักฐานบ่งชี้ถึงการมีน้ำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต โดยหลักฐานดังกล่าวเป็นเม็ดกรวดที่ลูกเรือในปฏิบัติการอะพอลโล (Apollo) เก็บจากดวงจันทร์กลับมายังโลก
การค้นพบของทีมมหาวิทยาลัยบราวน์นั้นเผยให้เห็นหินตะกอนภูเขาไฟจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วพื้นผิวดวงจันทร์นั้นกักเก็บน้ำปริมาณมหาศาลไว้ มากกว่าบริเวณอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบ ซึ่งการค้นพบน้ำในแหล่งกักเก็บเก่าแก่นี้ ได้จุดประกายแนวคิดที่ว่า เปลือกดวงจันทร์นั้นอุดมด้วยน้ำปริมาณมหาศาล โดยเชื่อว่าหินตะกอนเหล่านี้ก่อตัวขึ้นจากการปะทุของหินหนืดใต้พื้นผิวดวงจันทร์
ด้าน ราฟ มิลลิเกน (Ralph Milliken) หัวหน้าทีมวิจัยใหม่ซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ (Nature Geoscience) กล่าวว่ามีคำถามสำคัญคือ ตัวอย่างจากปฏิบัติการอะพอลโลนั้น เป็นหลักฐานของน้ำมหาศาลใต้ผิวดวงจันทร์ หรือเป็นเพียงตัวอย่างของบริเวณที่มีน้ำมากผิดปกติอยู่ภายใต้เปลือกอันแห้งสนิทของดวงจันทร์
ทว่าการกระจายตัวหินตะกอนที่อุดมน้ำนั้นเป็นสิ่งสำคัญ โดยมิลลิเกนอธิบายว่าหินตะกอนเหล่านี้กระจายทั่วพื้นผิวดวงจันทร์ จึงเป็นสิ่งที่บอกเราว่าน้ำที่พบในตัวอย่างจากปฏิบัติการอะพอลโลนั้นไม่ใช่ตัวอย่างที่แตกต่างไปจากตัวอย่างอื่นๆ
มิลลิเกนซึ่งเป็นรองศาสตราจารย์ของภาควิชาโลก สิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ดวงดาว ของมหาวิทยาลัยบราวน์กล่าวว่า จากข้อมูลการโคจรนั้นช่วยให้เราตรวจสอบบหินตะกอนภูเขาไฟปริมาณมากที่ปฏิบัติการอะพอลโลกหรือภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของอดีตสหภาพโซเวียตเข้าไม่ถึง
“จากข้อเท็จจริงว่าหินตะกอนเกือบทั้งหมดแสดงสัญญาณจำเพาะของน้ำ บ่งบอกว่าตัวอย่างจากปฏิบัติการอะพอลโลไม่ได้พิเศษกว่าตัวอย่างอื่น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเปลือกชั้นในของดวงจันทร์นั้นชุ่มน้ำ” มิลลิเกนกล่าว
นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่ออีกว่า ดวงจันทร์นั้นก่อตัวขึ้นจากเศษซากที่หลงเหลือหลังจากมีวัตถุขนาดประมาณดาวอังคารพุ่งชนโลกในช่วงที่ระบบสุริยะเพิ่งก่อเกิด ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ว่า ไฮโดรเจนที่จำเป็นต่อการสร้างน้ำนั้นเหลือรอดหลังดวงจันทร์ถูกพุ่งชน
หลักฐานที่มีมากขึ้นเกี่ยวกับน้ำใต้ดวงจันทร์นั้น บอกว่าน้ำอาจคงเหลือหลังการชน หรืออาจเป็นไปได้ว่าดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางนำน้ำมาในช่วงเวลาไม่นาน หลังการพุ่งชนก่อนที่ดวงจันทร์จะแข็งตัว และแม้ว่าหินตะกอนนั้นจะมีน้ำในปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่ตะกอนเหล่านั้นมีขนาดใหญ่ จึงน่าจะสกัดเอาน้ำออกมาได้ไม่ยาก
หลี่กล่าวว่ามีการศึกษาอื่นที่ชี้ว่ามีน้ำอยู่บริเวณเงาที่ขั้วดวงจันทร์ แต่กินตะกอนภูเขาไฟนั้นในพื้นที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า ซึ่งอะไรก็ตามที่ช่วยให้นักสำรวจดวงจัจทร์ในอนาคตไม่ต้องแบกน้ำปริมาณมากไปจากโลกนั้นถือเป็นก้าวใหญ่ที่สำคัญ และการศึกษานี้ก็เป็นอีกทางเลือกใหม่