xs
xsm
sm
md
lg

นาซาส่องเข้าไปใน “จุดแดงใหญ่” พายุมหึมาบนดาวพฤหัสสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดาวพฤหัสฯ ที่เผยให้เห็นจุดแดงใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์พลเมือง (citizen scientist) นามว่า โรมัน คาเชนโก (Roman Tkachenko) ประมวลภาพโดยอาศัยข้อมูลจากกล้องจูโนแคม (JunoCam) บนยานจูโน ที่บันทึกภาพไว้เมื่อ 11 ธ.ค.2016 (Handout / NASA / AFP)
ยานจูโนของนาซาส่องเข้าไปที่ “จุดแดงใหญ่” พายุขนาดยักษ์บนดาวพฤหัสบดีที่สร้างความสงสัยมานานหลายร้อยปี คาดว่าภาพแรกที่จะได้เผยให้ชมเร็วๆ นี้

ยานอวกาศจูโน (Juno) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ เพิ่งผ่านเข้าไปใกล้จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) บนดาวพฤหัสมากที่สุดที่ระยะห่าง 9,000 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2017 เวลา 08.55 น. ซึ่งยังไม่เคยมียานจากโลกลำใดเข้าใกล้เท่านี้มาก่อน

จุดแดงใหญ่เป็นพายุขนาดใหญ่ซึ่งมองจากโลกคล้ายดวงตาสีส้มตรงกลางดาวก๊าซยักษ์ โดยรายงานจากเอเอฟพีอ้างข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญว่า พายุดังกล่าวกว้างประมาณ 16,000 กิโลเมตร และสร้างความงุนงงมาหลายร้อยปีแล้ว แต่เรายังมีความเข้าใจเกี่ยวกับพายุนี้น้อยมาก

คนบนโลกสังเกตเห็นพายุลูกใหญ่บนดาวพฤหัสฯ นี้มาตั้งแต่ปี 1830 แล้ว และเป็นไปได้ว่าพายุนี้อาจมีอยู่บนดาวเคราะห์ยักษ์ใหญ่นี้มากว่า 350 ปีแล้ว อีกทั้งเชื่อว่าพายุมีขนาดเล็กลงๆ ทุกปี

สก็อต โบลตัน (Scott Bolton) หัวหน้าทีมศึกษาในโครงการจูโนกล่าวว่า เป็นเวลาหลายชั่วอายุคนที่คนทั่วโลกพิศวงงงงวยต่อจุดแดงใหญ่นี้ และในที่สุดเราก็เราได้มองเข้าไปดูพายุลูกนี้เป็นอย่างชัดๆ

ทางด้านนาซาระบุว่าจะเผยภาพดิบของจุดแดงใหญในเร็วๆ นี้ และสำหรับยานจูโนนั้นได้ถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.2011 จากเคปคานาเวอรัล ฟลอริดา และไปถึงวงโคจรของดาวพฤหัสฯ ได้ปีกว่าๆ แล้ว
ภาพส่วนหนึ่งดาวพฤหัสที่เผยให้เห็นจุดแดงใหญ่ (NASA)
ภาพส่วนหนึ่งดาวพฤหัสที่เผยให้เห็นจุดแดงใหญ่ (NASA)
กำลังโหลดความคิดเห็น