xs
xsm
sm
md
lg

"ดาวเทียมกระป๋อง” จุดประกายเด็กไทยสู่อวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การส่งดาวเทียมกระป๋องด้วยโดรน
เป็นครั้งแรกสำหรับประเทศไทยเมื่อ ก.วิทย์ผนึกกำลังกับกองทัพอากาศและองค์การอวกาศญี่ปุ่น จัดการแข่งขัน “ดาวเทียมกระป๋อง” คัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติ หมดเขตรับสมัคร 15 ก.ค.นี้

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ร่วมกับโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ในสังกัดกองทัพอากาศ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ภายใต้การสนับสนุนของกองทัพอากาศ และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) จัดการแข่งขัน “CanSat Thailand 2017” หรือ “ดาวเทียมกระป๋อง” ครั้งแรกของประเทศไทย โดย เปิดรับสมัครเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมแข่งขัน ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ก.ค.60

พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ อธิบายว่า CanSat หรือ “ดาวเทียมกระป๋อง” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จำลองการทำงานของดาวเทียมที่มีขนาดเล็กเท่ากระป๋องน้ำอัดลม เป็นโครงการอวกาศขนาดเล็กที่มุ่งเน้นการปฎิบัติจริง เพื่อใช้ในการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านอวกาศ โดยดาวเทียมกระป๋องจะถูกปล่อยจากแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เครื่องบิน จรวด หรือบอลลูน

"ระหว่างที่กางร่มชูชีพร่อนลงมา ดาวเทียมกระป๋องจะปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์ที่กำหนดไว้ ก่อนที่จะตกถึงพื้นดิน ซึ่งดาวเทียมกระป๋องจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในหลายด้าน เช่น การออกแบบดาวเทียม การกำหนดภารกิจ การสร้างและประกอบดาวเทียม การทดสอบ การเตรียมตัวปล่อยขึ้นสู่อวกาศ และการวิเคราะห์ปัญหา" พลอากาศเอก จอมอธิบาย

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าการแข่งขัน “ดาวเทียมกระป๋อง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศ และเทคโนโลยีดาวเทียมได้โดยง่าย โดยบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในสังกัด รวมไปถึงองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น เพื่อผนึกกำลังกันสร้างให้กิจกรรมนี้มีความยิ่งใหญ่ และดึงดูดให้เยาวชนสนใจที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ

“กิจกรรมนี้ยังถือเป็นการอธิบายการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาได้อย่างชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นต้องบูรณาการความรู้ทั้ง 4 ศาสตร์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาใช้ในการประดิษฐ์และแก้ปัญหาโดยไม่แยกส่วนหรือแยกศาสตร์ เป็นการเรียนรู้แบบไม่เน้นท่องจำทฤษฎีหรือกฎทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจทฤษฎีหรือกฏเหล่านั้นผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะการคิด ตั้งคำถาม แก้ปัญหา หาข้อมูล วิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ๆ ด้วยตนเอง" ดร.อรรชกากล่าว

ทั้งนี้ เยาวขนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันดาวเทียมกระป๋องภายในการประชุมเครือข่ายองค์กรเทคโนโลยีทางอวกาศเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Space Agency Forum: APRSAF) โดยจัดการแข่งขันดาวเทียมกระป๋องเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเยาวชนที่สนใจเข้าสมัครร่วมแข่งขันได้ถึงวัน 15 ก.ค.60 และคณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเข้ารอบจำนวน 5 ทีม เพื่อเข้าอบรมพัฒนาฝีมือเพิ่มเติม ณ อพวช. ตำบลคลองห้า จังหวัดปทุมธานี ก่อนจะทำการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 28 ต.ค.60 ที่โรงเรียน นายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราชต่อไป
ตัวอย่างดาวเทียมกระป๋อง
นักเรียนให้ความสนใจในการส่งดาวเทียมกระป๋อง
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพร้อมตัวแทนเยาวชน ระหว่างเปิดโครงการรับสมัครแข่งขันดาวเทียมกระป๋อง
หมายเหตุ

ขั้นตอนและรายละเอียดการสมัคร

1. กรอกรายละเอียดลงใบสมัคร (ข้อมูลผู้สมัคร / แบบร่างโมเดล CanSat / แนวคิดการออกแบบและเป้าหมายของภารกิจ)
2. ส่งไฟล์ใบสมัครมาทางอีเมล cansat@nstda.or.th
3. คณะกรรมการโครงการพิจารณาคัดเลือกใบสมัคร เพื่อเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย
4. ทีมที่ผ่านเข้ารอบ ต้องมาเข้าร่วมกิจกรรมอบรมการสร้าง CanSat จำนวน 3 วัน 2 คืน
ทางโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าอบรม และเงินสนับสนุนสำหรับการจัดหาอุปกรณ์สร้าง CanSat 1 ชุด ต่อ 1 กลุ่ม
5. ทุกทีมจะต้องสร้าง CanSat ให้เสร็จสมบูรณ์ ก่อนเดินทางมาเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม Website : www.nsm.or.th, www.nstda.or.th/cansat และ Facebook : Thai Space Education โทร 0 2577 9999 ต่อ 1411-1416
กำลังโหลดความคิดเห็น