xs
xsm
sm
md
lg

งานที่น่ายกย่องของคนและ "ลาเก็บขยะ" ที่เมืองมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ชุดเขียวเทขยะใส่ตะกร้าบนหลังลา (RYAD KRAMDI / AFP)
“งานเก็บขยะ” เป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำแต่ต้องมีใครสักคนหรือสักตัวต้องทำ และที่เมืองมรดกโลก “คัสบาห์” ในแอลจีเรีย ลาและคนลากจูงต้องแบกขยะนับสิบๆ เที่ยวออกจากเมืองโบราณ รวมๆ แล้วมากถึงวันละ 2 ตัน

ในแต่ละวันลาและคนเก็บขยะในชุดเครื่องแบบสีเขียวต้องเดินเท้าเข้าไปตามตรอกของเมืองมรดกโลกคัสบาห์ (Kasbah) ในเมืองหลวงแอลเจียร์ของแอลจีเรีย เพื่อรวบรวมของเสียจากบ้านเรือนใส่ในตะกร้าเก็บขยะที่เรียกว่า “ชูออริส” (chouaris) ซึ่งวิธีเก็บขยะนี้มีย้อนไปถึงศตวรรษที่ 16 ในยุคที่แอลเจียร์ยังอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน

ทีมคนและลาเก็บขยะแยกเป็นหลายทีม โดยแต่ละทีมมีเส้นทางเฉพาะ ซึ่งลาแต่ละตัวต่างก็รู้เส้นทางของตัวเองดี รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า การเก็บขยะนี้กินพื้นที่ถึง 260 เอเคอร์ หรือกว่า 1 ล้านตารางเมตร ซึ่งเมืองเก่านี้เต็มไปตึกที่สร้างบนที่ลาดชัน ที่บางแห่งเป็นที่ลาดชันสูงถึง 118 เมตร

คนเก็บขยะใช้ถุงรวบรวมขยะหรือบางครั้งก็ใช้มือเปล่า และหลังจากขยะจนเต็มตะกร้าแล้วลาก็จะแบกขยะเหล่านี้ไปยังจุดถ่ายเทขยะสู่รถบรรทุก ซึ่งลาแต่ละตัวต้องแบกขยะในแต่ละรอบถึง 50 กิโลกรัม รวมๆ แล้วแต่ละวันมีขยะให้เก็บมากถึง 2 ตัน

ไม่ว่าฝนตก แดดออกหรืออากาศที่ร้อนจนแทบเผาไหม้ แต่หน่วยม้าคัสบาห์ (Kasbah Horse Unit) ซึ่งทำหน้าที่เก็บขยะนี้ต้องทำงานสัปดาห์ละ 7 วันโดยไม่หยุดพัก วันหนึ่งๆ พวกเขาต้องเดินขึ้นเดินลงเพื่อขนขยะวันละ 7-8 ชั่วโมง ก่อนที่จะพาลาเข้าคอก

อาเมอร์ มูสซา (Amer Moussa) พนักงานเก็บขยะของหน่วยม้าคัสบาห์ วัย 57 ปี ผู้โทรมกว่าอายุจริง ให้ข้อมูลผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีว่า พวกเขาต้องเก็บขยะกันวันละ 10 รอบ เขาเผยด้วยว่า รอคอยวันที่จะเกษียณ แม้ว่างานจะไม่ยากแต่เขานั้นเหน็ดเหนื่อยกับขยะที่ถูกทิ้งไปทั่ว ทั้งยางเก่า เฟอร์นิเจอร์เก่าๆ ถูกทิ้งขวางไปพร้อมกับขยะตามบ้านเรือน

สำหรับพื้นที่ทิ้งขยะคือพื้นที่ว่างเปล่าที่เคยเป็นบริเวณที่มีบ้านเรือน และตอนนี้ยังเป็นแหล่งให้แมวจรออกมาคุ้ยขยะหากิน ซึ่งทันทีที่ขยะถูกเก็บไปเพียงในพริบตาขยะเหล่านี้ก็ทับถมขึ้นอีกครั้ง

กาดัวร์ ฮานาฟี (Kadour Hanafi) อดีตคนเก็บขยะในคัสบาห์และปัจจุบันคือผู้บริหารเนตคอม (Netcom) ผู้ดูแลการเก็บขยะในเมืองโบราณแห่งนี้ กล่าวว่าชาวคัสบาห์บางส่วนก็มองพวกเขาอย่างดูแคลน บางครั้งก็พูดล้อพวกเขาเมื่อเดินผ่านอย่างไม่รักษาน้ำใจ

ด้าน อับเดลลาห์ เคนฟูซี (Abdellah Khenfoussi) เจ้าหน้าที่เนตคอมผู้เติบโตในเมืองคัสบาห์ และยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น ย้อนความทรงที่งดงามเมื่อครั้งที่ชาวเมืองยังช่วยกัดกวาดล้างถนนกันทุกๆ เช้า

แฟตมา (Fatma) หญิงชาวแอลจีเรียวัย 74 ปี เล่าย้อนถึงว่า เมื่อปี 1957 เมืองคัสบาห์อยู่ใจกลางการรบเพื่อเอกราชและเรียกคืนอิสรภาพจากฝรั่งเศส ระหว่างสงครามในช่วงปี 1954-1962 ในยุคนั้นชาวเมืองต่างรู้จักกันและกันดี และต่างช่วยกันรักษาความสะอาด แต่ตอนนี้ชาวเมืองเก่าๆ ส่วนใหญ่นั้นได้ย้ายออกไป และพลเมืองใหม่ที่เข้ามาต่างก็ไม่เข้าใจถึงคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ของเมืองคัสบาห์

ปัจจุบันมีลาประจำในหน่วยม้าคัสบาห์ 52 ตัว และลาแต่ละตัวต้องมีรูปร่างดี ซึ่งลาตัวหนึ่งสูงได้ถึง 1.5 เมตร และหนักได้ถึง 100 กิโลกรัม โดยลาที่จะเข้ามาทำหน้าที่มาทำหน้าที่แบกตะกร้าขยะนี้ได้ต้องมีอายุระหว่าง 4-8 ปี หลังจากเข้ามาในหน่วยแล้วจะทำหน้าที่ต่อไปราวๆ 20 ปี ทว่าบั้นปลายของลาเก็บขยะจะไม่ได้พักผ่อนให้สมกับที่โหมงานหนักมาทั้งชีวิต เพราะสุดท้ายจะกลายเป็นอาหารสำหรับสิงโตต่อไป
เจ้าหน้าที่ชุดเขียวจูงลาเก็บขยะไปตามเส้นทางของคัสบาห์เมืองเก่าในเมืองหลวงแอลเจียร์ (RYAD KRAMDI / AFP)
เจ้าหน้าที่ชุดเขียวจูงลาเก็บขยะไปตามตรอกที่เป็นทางชันของเมืองเก่า (RYAD KRAMDI / AFP)
เจ้าหน้าที่ชุดเขียวเทขยะใส่ตะกร้าบนหลังลา (RYAD KRAMDI / AFP)
พวกเขาเดินขึ้นเดินลงทางชันวันละ 10 รอบ นาน 7-8 ชัวโมง และทำงานตลอดทั้งสัปดาห์ 7 วัน (RYAD KRAMDI / AFP)
ทั้งคนและลาเก็บขยะต้องขึ้นลงไปตามตอกของเมืองโบราณวันละหลายรอบ (RYAD KRAMDI / AFP)
ลาตัวหนึ่งแบกขยะหนักถึง 50 กิโลกรัม (RYAD KRAMDI / AFP)
แม้เป็นงานที่ช่วยรักษาเมืองโบราณให้สะอาด แต่ชาวเมืองบางส่วนกลับดูแคลนคนในอาชีพนี้ (RYAD KRAMDI / AFP)
กำลังโหลดความคิดเห็น