xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยพบโครงสร้างสมองเปลี่ยนแม้เริ่มหัดอ่านตอนเป็นผู้ใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ภาพประกอบข่าวนักวิจัยพบว่าการฝึกอ่านในผู้ใหญ่วัย 30 ปีขึ้นไปช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองได้ (Timothy A. CLARY / AFP)
นักวิจัยศึกษาผู้หญิงอินเดียที่เริ่มหัดอ่านตอนอายุในวัย 30 ปีขึ้นไป พบว่าสมองของพวกเธอเปลี่ยนแปลงอย่างอัศจรรย์ ทั้งการจัดระบบและการเปลี่ยนรูปร่างตัวเอง โดยการศึกษาดังกล่าวเลือกผู้หญิงอินเดียซึ่งเป็นชาติที่มีอัตราการอ่านออกเขียนได้เพียง 39% เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์จะได้พิจารณาสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน

เริ่มต้นของการศึกษาตามรายงานของเอเอฟพีระบุว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านภาษาแม่ของตัวเองได้นั่นคือภาษาฮินดี แต่หลังจากผ่านไป 6 เดือน ผู้หญิงที่เข้ารับการฝึกฝนมีความสามารถเทียบเท่านักเรียนชั้น ป.1

ฟาล์ก เฮือททิก (Falk Huettig) จากสถาบันมักซ์พลังก์ด้านการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา (Max Planck Institute for Psycholinguistics) หัวหน้าทีมศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสารไซน์สแอดวานซ์ (Science Advances) กล่าวถึงการศึกษาครั้งนี้ ความรู้ที่เพิ่มพูนของอาสาสมัครนั้นน่าทึ่ง

“ขณะที่การเรียนรู้ภาษาใหม่เป็นเรื่องยากสำหรับเรา แต่ปรากฏว่าการเรียนรู้ที่จะอ่านเป็นเรื่องง่ายกว่า สมองของผู้ใหญ่พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถยืดหยุ่นได้อย่างน่าประหลาด” เฮือททิกกล่าว

อีกเรื่องสำคัญที่ทีมวิจัยได้ค้นพบจากการศึกษาครั้งนี้คือสมองชั้นนอกที่เรียกว่า “คอร์เทกซ์” (cortex) ซึ่งมีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างฉับไวเมื่อเจอความท้าทายใหม่ๆ กลับไม่ใช่บริเวณที่สมองเกิดการเปลี่ยนแปลง

ตรงกันข้ามนักวิจัยได้พบว่าการจัดระเบียบใหม่ของสมองนั้นเกิดขึ้นที่ชั้นในของสมอง บริเวณบางส่วนของก้านสมองและสมองส่วนธาลามัส (thalamus) โครงสร้างสมองที่มีขนาดเท่าลูกวอลนัทซึ่งถ่ายทอดข้อมูลการรับรู้และการเคลื่อนไหว

ไมเคิล สไกด์ (Michael Skeide) นักวิจัยวิทยาศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังก์ด้านวิทยาการรับรู้และสมองของมนุษย์ กล่าวว่าพวกเขาพบว่าสมองในส่วนของก้านสมองบริเวณที่เรียกว่า “คอลลิคูลิซูพีเรียร์ส” (colliculi superiores) และ “พัลวินาร์” (pulvinar) ในส่วนของธาลามัสนั้น ทำงานสอดคล้องกับเปลือกสมองส่วนการมองเห็น (visual cortex)

“โครงสร้างที่อยู่ลึกในธาลามัสและก้านสมองนั้น ช่วยให้เปลือกสมองส่วนการมองเห็นคัดกรองข้อมูลสำคัญ จากปริมาณข้อมูลการมองเห็นที่ท่วมท้นเข้ามา ก่อนที่เราจะได้ทันรับรู้อย่างตั้งใจ” สไกด์กล่าว

นักวิจัยยังพบว่ายิ่งมีสัญญาณจัดระเบียบอยู่ในบริเวณสมองที่ได้รับผลกระทบมาก ยิ่งมีความสามารถในการอ่านได้ดีขึ้น โดยสไกด์เสริมว่าระบบสมองยิ่งปรับปรุงการสื่อสารให้ดีขึ้นเมื่อผู้ฝึกฝนการอ่านมีความช่ำชองมากขึ้น ซึ่งอธิบายได้ว่าทำไมคนอ่านที่มีประสบการณ์ยิ่งมีความช่ำชองในการอ่านมากขึ้น

รายงานระบุว่าการค้นพบนี้นับว่ามีความสำคัญต่อการบำบัดโรคบกพร่องในการอ่าน (dyslexia) ซึ่งนักวิจัยบางส่วนกล่าวโทษว่าเป็นผลจากการทำงานของสมองส่วนธาลามัสที่บกพร่อง และสไกด์ก็บอกว่าสิ่งที่พวกเขาได้พบคือการฝึกผนการอ่านเพียงไม่กี่เดือนก็ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของสมองส่วนธาลามัสได้ ดังนั้นพวกเขาจะต้องศึกษาสันนิษฐานนี้ต่อไปอย่างรอบคอบ

สำหรับการศึกษาครั้งนี้ยังมีความร่วมมือกับศูนย์วิจัยชีวการแพทย์อินเดีย (Centre of Bio-Medical Research: CBMR) ในลัคเนา (Lucknow) อินเดีย และ มหาวิทยาลัยไฮเดอราบัด (University of Hyderabad) อินเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น