ช่วงบ่ายในวันนั้นอุณหภูมิรอบกายไม่ร้อนอบอ้าวเท่าใดนัก ผิดวิสัยของพื้นที่ที่หนาแน่นไปด้วยพื้นและอาคารคอนกรีต ลมอุ่นเอื่อยๆ พัดผ่านตัวเป็นระลอกๆ จากลานจอดรถฝั่งตรงข้ามมาถึงอาคารเรียนรวมไม่ต้องคำนวณก็รู้ว่าระยะทางห่างกันไม่ถึงร้อยเมตร ถ้าไม่อุตริเดินให้แสงแดดแผดเผาแล้วผมเองคงไม่รู้สึกร้อนจนเม็ดเหงื่อซึมออกมาจากผิวหนังเป็นความคิดที่ดังอยู่ในหัว
“เดี๋ยวก่อนครับ มาทำอะไรครับ? มีธุระอะไรหรือเปล่า?” เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยร้องทักทันท่วงทีเมื่อเห็นว่าผมกำลังจะเดินไปยังประตูด้านหน้าของตัวอาคาร
“วันนี้ผมมาบรรยายในชั้นเรียนครับ” ผมตอบตรงตามวัตถุประสงค์ของการมายังสถานที่แห่งนี้ตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย “เชิญครับ...เชิญครับ” เจ้าหน้าที่ท่านนั้นตอบกลับมา แน่นอนคำขอบคุณจากผมถูกกล่าวตอบกลับไปอย่างทันท่วงที
เสียงโหวกเหวกโวยวายดังตามมาจากข้างหลังเมื่อผมก้าวข้ามประตูหน้า กระนั้นเสียงที่ดังมาจากเบื้องหน้าก็ไม่แพ้กันนัก ภาพนิสิตร่วมหลายสิบซึ่งอาจจะเกือบร้อยคนยืนคอยรอต่อแถวรอใช้ลิฟต์และที่กำลังเคลื่อนที่มาสมทบเพิ่มเติมจากด้านหลังทำให้ผมเลือกที่ใช้แรงจากสองขาพาร่างขึ้นไปยังชั้นที่ 5 ของตัวอาคารด้วยขั้นบันไดหลายสิบ ถึงแม้จะเป็นการเพิ่มความเหนื่อยล้าให้แก่ร่างกายแต่มันก็เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ทำให้ผมไปถึงห้องบรรยายทันเวลาที่ถูกกำหนดมาให้
“ใครตอบผมได้บ้างว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ มีประโยชน์อย่างไร” เป็นคำถามแรกที่ผมเอ่ยถามนิสิตในห้องบรรยายหลังจากอธิบายความหมายในภาพรวม
“......” ความสงัดเงียบเป็นคำตอบที่ดังสนั่น ตามความคิดที่คาดการณ์ไว้และเป็นที่เข้าใจในเบื้องต้นถึงมัน อาจจะเพราะไม่กล้าตอบคำถามอันเป็นพฤติกรรมที่ทราบกันดีของคนไทยในความเขินขวยเอียงอายที่จะแสดงออกในเรื่องที่ควร อาจจะเป็นเพราะเหนื่อยอ่อนจากการเดินทางมายังอาคารเรียนในช่วงระอุร้อนที่สุดของวัน อาจจะเป็นเพราะมื้ออาหารกลางวันที่กำลังถูกย่อยและดูดซับในกระเพาะส่งผลให้เลือดถูกส่งมาบริเวณดังกล่าวมากกว่าจะถูกสูบฉีดขึ้นไปยังอวัยวะสำคัญที่อยู่เหนือลำคอด้านบนของร่างกาย
“ความหลากหลายทางชีวภาพให้ประโยชน์อะไรกับพวกเราบ้างครับ” ผมเอ่ยทวนคำถามอีกครั้งพร้อมยื่นไมค์ไร้สายที่ใช้อยู่ไปยังนิสิตหลายๆ คน ถึงคำตอบที่ได้รับกลับมาจะไม่ใช่ความว่างเปล่าแต่ผมเองเกิดความฉงนสงสัยในใจว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีกว่าจริงหรือ?
“ไม่รู้ครับ” “ไม่ทราบค่ะ” “ทวนคำถามใหม่ได้ไหมครับ?” แม้รอยยิ้มเปื้อนใบหน้าผมนั้นไม่ได้จางหายไปแต่ในใจไม่ได้เป็นเช่นนั้น
การบรรยายตลอดช่วงบ่ายหลังจากนั้นหมดไปกับการใช้เครื่องมือสื่อความหมายหลายหลากในการอธิบายเรื่องเพียงเรื่องหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากต่อลมหายใจ ต่อชีวิต ต่อตัวตน และต่ออนาคตข้างหน้าไม่ว่าจะตัวผมเอง ของนิสิตในห้องนั้น หรือแน่นอนว่าพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยหลบภัย ยารักษาโรค ปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของเรานั้นไม่ได้มาจากที่ใดเลยถ้าไม่ใช่จากสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัว ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพเองก็เป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่ทำให้เรามีตัวเลือกหรือทางเลือกที่หลากหลายมากกว่าหนึ่งทางในการนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ซึ่งก็เปรียบได้เป็นความมั่นคงในการดำรงเผ่าพันธุ์ของเรานั่นเอง การยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวที่อาจจะมีประสบการณ์ร่วมกันเช่น การเลือกเดินขึ้นบันไดแทนต่อแถวใช้ลิฟต์เพื่อให้ทันเวลาเริ่มบรรยายก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใช้สร้างความเข้าใจได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยผมก็หวังให้เป็นเช่นนั้น
ความคิดหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างทางเดินกลับไปยังรถที่จอดไว้ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างบ้าคลั่งไร้ทิศทางและความตระหนักรู้ในประเทศ (จากทั้งภาครัฐ เอกชน และตัวบุคคล) นี้มีส่วนสืบเรื่องต่อเนื่องมาจากคำตอบที่ผมได้รับกลับมาจากคำถามในการบรรยายที่เพิ่งพ้นผ่านมานี้หรือไม่ อย่างไร มากน้อยขนาดไหน? ซึ่งคงจะเป็นเรื่องที่น่ารันทดใจอย่างหาที่สุดไม่ได้แน่นอนถ้าคำว่า “ใช่” คือคำตอบ
ทับถม หมักหมม ยุ่งเหยิง คาราคาซัง พันพัลวันมั่วซั่วเลอะเทอะเละเทะจนเป็นปัญหาที่ไม่มีใครอยากจะแก้นี้ใช่ว่าจะไม่สามารถ ติดเพียงเมื่อไหร่ที่เราจะเริ่มตระหนักเห็นไปในทางเดียวกัน
แม้จะไร้ซึ่งคนตระหนักเห็นคุณค่าของความหลากหลายที่มีต่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ของเรา
สำหรับตัวผมเพียงการได้พบเจอนกกระจาบตัวหนึ่งบินผ่านตัวเหี้ยที่กำลังว่ายน้ำอยู่ในสระจะยังไม่ให้เห็นเป็นประโยชน์อันใด สำหรับผมแล้วดีต่อใจก็พอเพียงแก่เหตุผล ช่างน่าเศร้าถ้าสำหรับคุณแล้วนั้นมันไม่ใช่
หวังเหลือเกินสิ่งที่ผมกล่าวไว้ในครานี้มันจะผิด
เกี่ยวกับผู้เขียน
จองื้อที
แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ
"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"
พบกับบทความ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน