xs
xsm
sm
md
lg

จารึกโบราณ Timbuktu หลักฐานแอฟริการู้ดาราศาสตร์มา 600 ปี

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

เอกสารแสดงข้อมูลทางคณิตศาสตร์และมรดกทางด้านดาราศาสตร์ของ Timbuktu(By Unknown - EurAstro : Mission to Mali, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=8654070)
Timbuktu เป็นเมืองโบราณในประเทศ Mali (ชื่อเดิมคือ Sudan) ที่เคยรุ่งเรืองมากในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ตัวเมืองตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ Niger และห่างจากทางใต้ของทะเลทราย Sahara ประมาณ 13 กิโลเมตร ในอดีตเวลาชาวยุโรปพูดถึงเมือง Timbuktu เขาหมายถึงเมืองที่อยู่ไกลสุดขอบฟ้า จนผู้ใดที่ไปเยือนอาจไม่มีชีวิตรอดกลับมา

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เมืองนี้เคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่พ่อค้าจากดินแดนทางใต้นำทองคำมาซื้อสัตว์ทะเลทรายไปเลี้ยง และแลกเปลี่ยนงาช้างกับพ่อค้าเกลือที่เดินทางมาจากดินแดนทางเหนือโดยผ่านทะเล Mediteranean ธุรกิจการค้าขายที่รุ่งเรืองได้ทำให้ Timbuktu เป็นศูนย์ประสานอารยธรรมแอฟริกัน และ Mediteranean ทำให้ความรู้ของชาวมุสลิมผสมผสานกับความรู้ของชาวยุโรป จนทำให้มีการเขียนบันทึกเป็นตำรามากมาย และมีห้องสมุดที่เป็นแหล่งสะสมความรู้ ด้านประวัติความเป็นมาของชนชาติต่างๆ ในแอฟริกา และยุโรปตอนใต้ รวมทั้งความรู้ด้านศาสนา คณิตศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ ด้วย

ทว่าความรุ่งเรืองของ Timbuktu คงอยู่ได้ไม่นาน เพราะในปี 1591 เมืองนี้ได้ถูกนักรบชาว Morocco บุกปล้น เข้ายึดครองเมือง และได้เนรเทศ ครู อาจารย์ ออกนอกเมือง อีกทั้งยังได้ขโมยเอกสารต่างๆ ไป แต่ทิ้งบางส่วนไว้ เพราะเจ้าของเอกสารได้นำไปซุกซ่อน และบ้างก็ถูกฝังใต้ดิน หลังจากที่เวลาผ่านไป ต้นฉบับบางเล่มถูกสภาพอากาศที่ร้อน และแล้งแผดเผา ฝุ่นละอองที่เกาะจับเอกสาร ทำให้ต้นฉบับเปราะและเปื่อย ลายหมึกก็ได้ถูกลบเลือนไป กระนั้นข้อมูลที่ยังเหลือก็สามารถแสดงให้โลกรู้เกี่ยวกับสถานภาพของวิทยาการของแอฟริกาในอดีตได้

ดังที่ปรากฏในเอกสารซึ่งบรรยายลักษณะการโคจรของดาวเคราะห์ วิธีรักษาโรคมาลาเรีย การใช้ยาที่บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานที่แสดงว่าชาว Mediteranean ในปี 1467 (สมัยพระบรมไตรโลกนาถ) ได้นำความรู้วิทยาศาสตร์จากเมือง Toledo ในสเปนมายัง Timbuktu เพราะในช่วงเวลานั้นคนสเปนเหล่านั้นได้ถูกบีบคั้น และถูกกดขี่โดยศัตรูฝ่ายตรงกันข้าม

แม้ผู้อพยพเหล่านี้ไม่มีแผ่นดินจะอยู่ และในมือมีแต่หนังสือตำราเท่านั้น ซึ่งนับเป็นหลักฐานว่าเจ้าของเอกสารมาจากที่ใด และเมื่อเดินทางมาถึง Timbuktu ปราชญ์เหล่านี้ก็ได้เขียนหนังสือเพิ่มเติม รวมถึงได้จัดตั้งห้องสมุดเป็นที่เก็บรวบรวม และสะสมความรู้เป็นมรดกสำหรับชนรุ่นหลังด้วย

ปัจจุบันหนังสือบางเล่มในห้องสมุดของ Timbuktu ยังอยู่ในสภาพดี รูปต่างๆ ก็ยังปรากฏให้เห็นชัด ปกหนังสือบางเล่มทำด้วยหนังสัตว์ แต่กระดาษภายในเล่มส่วนใหญ่เปราะหักไปตามอายุขัย ผู้ดูแลห้องสมุดเล่าว่า ตนได้ซื้อหนังสือโบราณเหล่านี้จากคนท้องถิ่นที่ยากจน ซึ่งนำหนังสือเก่าๆ ที่ได้เก็บมาเป็นเวลานานมาแลกเป็นเงิน หนังสือห้องสมุดบางเล่มถูกมอดกิน บางเล่มถูกชาวบ้านยืมไปแล้วไม่คืน และกระดาษในบางเล่มก็เปื่อยเพราะถูกฝน

เมื่อ 40 ปีก่อนนี้ ขณะหนุ่ม Mahmoud Zouber เดินทางข้ามทะเลทราย Sahara ด้วยอูฐ เขามีจุดประสงค์จะเก็บรวบรวม ค้นหา และซื้อหนังสือเก่าที่เขียนโดยชาวแอฟริกัน และได้พบว่า มีหนังสือเป็นจำนวนมากซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ และอายุตั้งแต่ 400-500 ปี เพราะเขาตระหนักในความสำคัญของเอกสารทั้งหมด จึงได้เสนอโครงการจัดตั้งห้องสมุดแห่งเมือง Timbuktu ขึ้นเพื่อจัดนิทรรศการแสดงภูมิปัญญา และประวัติความเป็นมาของชาว Timbuktu รวมถึงชาวแอฟริกาชาติอื่นๆ ให้โลกรู้ โดย Zouber เองเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของห้องสมุด และได้ตั้งปณิธานว่า จะสร้างแรงดลใจให้ชาวเมือง Timbuktu ร่วมกับชาว Mali คนอื่นๆ หันมาอนุรักษ์ และพิทักษ์สมบัติที่มีค่าของชาติให้อยู่คู่โลกตลอดไป

เพราะชาว Timbuktu เป็นคนที่รักทุกสิ่งทุกอย่างที่บรรพบุรุษสร้าง ดังนั้น Zouber จึงหวังว่า การอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้จะเป็นประเพณีที่ชาว Timbuktu ยึดถือและปฏิบัติต่อไปในอนาคต

แต่ความจริงมีว่า ชนชาว Mali รุ่นใหม่ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางเหนือของประเทศมีวิธีคิดไม่เหมือนคนรุ่นเก่า เพราะคนหนุ่มสาวเหล่านี้อ่านหนังสือต้นฉบับภาษาอารบิกไม่ออก ยิ่งเมื่อรู้ว่า เอกสารโบราณมีค่า จึงมีแนวโน้มจะขายเอกสารทันทีที่มีโอกาส เพื่อจะได้เงินมาใช้ และตัดปัญหาในการหาคนมาดูแลเอกสารต่อไปหลังจากที่ตนเสียชีวิต

ณ วันนี้ห้องสมุด Timbuktu ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Ford และองค์การต่างๆ ในสเปน นอร์เวย์ และดูไบ จนมีสภาพเป็นห้องสมุดที่ทันสมัย มีเอกสารที่มีค่าควรเมืองเป็นจำนวนมาก เป็นสถานที่ให้นักทัศนาจรมาเยี่ยมชม และให้นักค้าของเก่ามาซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนเอกสารหรือสิ่งประดิษฐ์

ในประเด็นของการพยายามทนุถนอมเอกสารนั้น ห้องสมุดนี้ได้เคยถูกน้ำท่วม จนทำให้เอกสารประมาณ 700 ชิ้นถูกทำลาย แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพดี

แม้ต้นฉบับดั้งเดิมจำนวนมากจะสาบสูญไปแล้ว แต่ที่ห้องสมุด Ahmed Baba Centre ใน Timbuktu ก็มีเอกสารเหลืออยู่ประมาณ 18,000 ชิ้น อีก 27 ชิ้น อยู่ที่ Mamma Haidara Library และอีก 32 ชิ้นอยู่ที่ห้องสมุด Al Furgan ใน Ghana นอกจากนี้ก็มีในห้องสมุดส่วนบุคคลบ้าง

ในปี 1979 Zouber ได้ไปติดตามซื้อเอกสาร 25 ชิ้น จากลูกสาวของท่านทูตฝรั่งเศสประจำ Mali ซึ่งได้ลอบนำเอกสารออกนอกประเทศ หลังจากที่บิดาหมดวาระการดำรงตำแหน่งแล้วในราคา 25,000 ดอลลาร์ และได้พบว่า ถ้าเธอขายเอกสารนี้ในราคาปัจจุบัน เธอจะขายได้ในราคาสูงกว่าประมาณ 50 เท่า

ความสำคัญของเอกสารโบราณเหล่านี้เกิดขึ้น เมื่อนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัย Cape Town ในแอฟริกาใต้ และมหาวิทยาลัย Bamako แห่ง Mali ได้เริ่มแปล วิเคราะห์ และสังเคราะห์เนื้อหาในเอกสาร ส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อดูว่า นักวิทยาศาสตร์แอฟริกันโดยเฉพาะที่ Timbuktu เข้าใจรูปทรงแท้จริงของโลกเมื่อไร และรู้ว่าโคจรรอบดวงอาทิตย์เมื่อไร มีความรู้เรื่องดาวหาง ฝนดาวตก สุริยุปราคาหรือไม่ สามารถอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ได้หรือไม่ และเคยทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชาติอื่น เช่น จากสเปนและ Morocco หรือไม่ ฯลฯ

การอ่านเอกสารเหล่านี้พบว่าถูกเขียนขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 และมี 37 ชิ้นที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์และโหราศาสตร์

จากเดิมที่ใครๆ ก็คิดว่า ความรู้ดาราศาสตร์ของชาติตะวันตกเป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดโดยนักดูดาวในจีน อินเดีย กรีซ Mesopotamia และ Mesoamerica (Maya, Inca) โดยไม่มีนักดาราศาสตร์แอฟริกาเลย (เพราะดินแดนแอฟริกามีแต่คนเต้นรำและร้องเพลงเท่านั้น)

ครั้นเมื่อความรู้จากเอเชียตะวันออกกลาง และกรีซเดินทางถึงในแอฟริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 นักวิชาการของแอฟริกาได้ดัดแปลงความรู้ (โดยไม่ได้สร้างความรู้ใหม่) แล้วถ่ายทอดต่อให้นักวิชาการในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นยุค Renaissance วิทยาศาสตร์ยุโรปจึงได้รับการปฏิรูป และยืนยงมาจนทุกวันนี้

แต่หลังจากการแปลตำราแห่งเมือง Timbuktu โดย Thebe Medupe ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Cape Town ในแอฟริกาใต้ ในปี 2006 เขากลับพบว่า นักวิชาการแห่ง Timbuktu มีความรู้ดาราศาสตร์มานานแล้ว

ความจริงหนึ่งที่ปรากฏคือ งานแปลนี้มิใช่เรื่องง่าย เพราะภาษาอารบิกที่ใช้เขียนเป็นภาษา Songhou และ Hausa ที่โบราณจนไม่มีใครใช้อีกแล้ว ดังที่เห็นจากโครงสร้างของภาษาว่า ประโยคต่างๆ ไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน เอกสารหลายฉบับไม่มีปกหนังสือ หรือหน้าแรกแต่คณะแปลก็ได้พยายามแปลไปๆ จนได้ประมาณ 14 ฉบับจากทั้งหมด 18,000 ฉบับ และพบว่า

นักปราชญ์แห่ง Timbuktu มีผลงานวิทยาศาสตร์ไม่น้อย ดังเอกสารที่เขียนในปี 1723 โดย Abul Abbas ซึ่งได้อ้างถึงผลงานของปราชญ์ Timbuktu ในอดีตว่า เห็นโลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ นั่นแสดงว่า 300 ปีหลังจากที่ Copernicus พบว่า ดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางของเอกภพ “ปราชญ์” Timbuktu ไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอกเลย

แต่นักวิทยาศาสตร์บางท่านก็ติดต่อกับนักวิชาการในตอนเหนือของแอฟริกาบ้าง ทำให้ได้ความรู้ในการทำปฏิทิน เป็นต้น

ในเอกสารอีกชิ้นหนึ่งที่มีอายุกว่า 600 ปี มีภาพแสดงวงโคจรของดาวเคราะห์ต่างๆ รวมถึงปรากฏการณ์ฝนดาวตกประจำเดือนสิงหาคม ค.ศ.1583 และยังมีเอกสารอีกชิ้นที่กล่าวถึง การใช้อุปกรณ์ดาราศาสตร์ในการหาตำแหน่งของเมือง Mecca

ข้อมูลเหล่านี้แสดงว่า ปราชญ์เมือง Timbuktu รู้ดาราศาสตร์มานานกว่า 600 ปี ไม่ใช่เพิ่งรู้เมื่อ 300 ปีก่อน และคนเหล่านี้จำเป็นต้องรู้ดาราศาสตร์ เพราะเหตุผล 3 ประการคือ

(1) การนับถือศาสนาอิสลามทำให้ชาว Timbuktu ต้องสวดมนตร์ ซึ่งผู้สวดจำเป็นต้องรู้ทั้งทิศของเมือง Mecca และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของ Timbuktu

(2) ผู้สวดมนตร์จำเป็นต้องรู้เวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาเที่ยงวัน ยามบ่าย เวลาดวงอาทิตย์ตก และเย็นเพื่อจะได้สวดมนตร์ตรงเวลา และนักวิชาการ Timbuktu ได้พบว่า วิธีการหาเวลาที่นักดาราศาสตร์กรีกใช้นั้นงุ่มง่าม ยุ่งยาก และเสียเวลามาก จึงได้คิดวิธีหาเวลาใหม่ โดยใช้เทคนิคคณิตศาสตร์คือวิชาตรีโกณมิติช่วย โดยการหาค่าของ sine, cosine, tangent, cotangent, secant และ cosecant ของมุมต่างๆ

และ (3 ) นักวิชาการ Timbuktu ต้องการความรู้ดาราศาสตร์มาช่วยพยากรณ์โชคชะตาของผู้คน ดังนั้น จึงได้สร้างตาราง ตำแหน่งของดาวเคราะห์ ณ เวลาต่างๆ เพื่อช่วยในการทำงานด้านโหราศาสตร์

เอกสารแห่งเมือง Timbuktu ยังมีข้อมูลอีกมากมายที่ทำให้ทุกคนแปลกใจ นั่นคือ ความรู้วิทยาศาสตร์มิได้มีเฉพาะที่ Timbuktu เท่านั้น แต่ยังได้แพร่กระจายไปจนถึง แอฟริกาตะวันตก และ Tanzania ด้วย

ในอนาคตนักวิชาการจะแปลเอกสารในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาพฤกษศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยา ฯลฯ

โดยสรุปการพบเอกสารที่เขียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาในสมัยโบราณ เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เพราะจะทำให้หนุ่มสาวชาวแอฟริกันมีแรงดลใจที่จะทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ดังที่บรรพบุรุษได้เคยทำมาแล้ว

อ่านเพิ่มเติมจาก “Myths of Timbuktu: From African El Dorado to Desertification” โดย Tor A. Benjaminsen ใน International Journal of Political Economy ปี 2010






เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น