xs
xsm
sm
md
lg

พร้อมใช้แล้ว...โรงรมลำไยส่งออกผลงานนักวิจัยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐมนตรี ก.วิทย์เปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อส่งออก จ.ลำพูน ควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเนื้อลำไยให้ไม่เกินมาตรฐาน กลิ่นไม่เล็ดลอดจากโรงอบลำไย

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก เมื่อวันที่ 26 พ.ย.59 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่ายาว อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออกดังกล่าวดำเนินการจัดสร้างโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตามนโยบายรัฐบาล ด้วยงบประมาณ 65 ล้านบาท โดยใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นต้นแบบและเพิ่มขีดความสามารถของเอกชน ชุมชน และเกษตรกรลำไย

ภายในศูนย์ถ่ายเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก เป็นที่ตั้งโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้นแบบ ซึ่งมี 3 ระบบคือ ระบบรมควันควบคุมปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในเนื้อลำไย ระบบป้องกันการรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากกระบวนการทำงานและในพื้นที่ทำงาน และระบบควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกนอกโรงงาน ภายในระบบไม่ระบายน้ำทิ้งแต่หมุนเสียนกลับมาใช้ใหม่ โดยมียิปซั่มเป็นผลพลอยได้ที่นำไปใช้เป็นวัสดุปรับปรุงสภาพดินได้

ด้าน ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว.กล่าวว่า นอกจากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยจะเป็นที่ตั้งของโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้นแบบแล้ว ยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ของ วว.ด้านเทคโนโลยีการจัดการสวน เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวลำไยสด และเทคโนโลยีการรมควันลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์

ส่วนนายสายันต์ ตันพานิช ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. กล่าวว่า ส่วนสำคัญของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ คือการบริหารจัดการ โดยผู้ดำเนินการต่อจากนี้ คือกลุ่มเกษตรกรซึ่งอาจจะจัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้ปลูกลำไย โดยสมาชิกสหกรณ์ต้องมีสวนลำไย แต่จะพื้นที่เล็กหรือใหญ่ก็ได้ และวว.จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงด้านเทคนิค เมื่อกลุ่มเกษตรกรทำได้แล้วจะค่อยๆ ปล่อยมือ แต่ยังคงมาตรวจเพื่อให้ได้มาตรฐานการส่งออก

สำหรับต้นทุนในการรมลำไยอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 สตางค์ ส่วนค่าจ้างรมลำไยทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งนายสายันต์กล่าวว่า การดำเนินการของสหกรณ์ในการรับบริการรมลำไยอาจจะมีราคาต่ำกว่าท้องตลาดเล็กน้อยเพื่อให้สหกรณ์ได้มีกำไรบ้าง และใช้เป็นทุนดำเนินการต่อไป

นายสายันต์ระบุว่าโรงรมลำไยมีห้องรมลำไยทั้งหมด 6 ห้อง ซึ่งทำจากสแตนเลสทั้งหมด ทำให้ไม่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เล็ดลอดสู่ภายนอกและเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน ใน 1 ห้องนั้นจะรมลำไยได้ 8-10 รอบ แต่ละรอบใช้เวลา 1 ชั่วโมง รมลำไยได้ 2 ตัน โดยจะรมลำไยในช่วงกลางคืน หลังการเก็บเกี่ยวในช่วงกลางวันของเกษตรกร

"ปกติมีผลผลิตลำไยแค่ 3 เดือน ในช่วงนั้นโรงรมจะมีคิวยาว เกษตรกรต่อคิวรมลำไยกันแน่น แต่ตอนนี้ผลิตลำไยนอกฤดูได้แล้ว ทำให้ขายได้ราคา" ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. กล่าว

สำหรับการเลทอกพื้นที่ตั้งโรงรมลำไยนั้น นายสายันต์กล่าวว่า วว.มีความร่วมมือกับจังหวัดลำพูน โดยให้ทางจังหวัดสนับสนุนพื้นที่ตั้งโรงรม และจากการศึกษาพบว่า พื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลเหล่ายาวได้อันดับสูงสุด เนื่องจากอยู่ไกลชุมชน และอยู่ใกล้ผลผลิต ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยสำคัญเพื่อความปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม












กำลังโหลดความคิดเห็น