xs
xsm
sm
md
lg

ทางช้างเผือกกับแสงจักรราศี

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายแนวทางช้างเผือกกับแสงจักรราศี ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ช่วงเวลา 20.00 น. (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 2500 / Exposure : 30sec)
สำหรับคอลัมน์นี้ขอแนะนำการถ่ายภาพแสงจักรราศีกับแนวทางช้างเผือก โดยจะสามารถถ่ายภาพนี้ได้ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้เท่านั้น หลังจากนี้ก็จะเป็นช่วงที่มีแสงดวงจันทร์รบกวน และตำแหน่งของใจกลางทางช้างเผือกก็จะอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ จนไม่สามารถถ่ายภาพ “ทางช้างเผือกเคียงคู่กับแสงจักรรราศีได้” ดังนั้นเราอาจพูดได้ว่าถือเป็นช่วงสุดท้าย และท้ายสุดของการถ่ายภาพทางช้างเผือกแล้วก็ว่าได้

ในการถ่ายภาพนั้น สามารถเริ่มถ่ายได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า โดยจะเริ่มสังเกตเห็นแนวแสงจักรราศีและแนวทางช้างเผือก ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในเวลา 19.30 น.โดยประมาณ ซึ่งใน 1 ปี ก็จะมีโอกาสถ่ายภาพแบบนี้ได้เพียงช่วงเดียวและในช่วงสั้นๆ ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น เพราะในช่วงต้นกุมภาพันธ์ ภาพก็ไม่สวยเท่าช่วงนี้ครับ ดังนั้นภาพแบบนี้ก็น่าบันทึกไว้เป็นอีกคอเลคชั่นหนึ่งของภาพถ่ายดาราศาสตร์ของเรากันได้ครับ มาเริ่มกันเลยดีกว่า

แสงจักราศี (Zodiacal Light) คืออะไร ?
แสงจักรราศีเป็นแสงเรืองจางๆ โครงรูปสามเหลี่ยมหยาบๆ ที่กฎบนท้องฟ้าในช่วงหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว โดยจะปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยะวิถี
แสงจักราศี เป็นแสงสว่างเรืองจางๆ รูปสามเหลี่ยมที่ปรากฏบนท้องฟ้ามืดสนิทในทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าและทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 30 นาที ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากอนุภาคของฝุ่นละอองในอวกาศกระทบกับแสงดวงอาทิตย์แล้วสะท้อนออกมารอบทิศทาง โดยในช่วงนี้ เราจะสามารถสังเกตเห็นแสงจักรราศีพาดทับบริเวณใจกลางทางช้างเผือกดังภาพตัวอย่างดังกล่าว

เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ

สำหรับเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องหาสถานที่ที่สามารถสังเกตเห็นทั้งแสงจักรราศีให้ได้ก่อน ซึ่งจำเป็นต้องเป็นที่ที่มีความมืด ประกอบกับทัศนวิสัยของฟ้าที่ใสเคลียร์ไม่มีเมฆที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ให้ได้ก่อน เมื่อหาสถานที่ได้แล้วตอนนี้เรามาดูวิธีการถ่ายภาพและวิธีการตั้งค่ากล้องถ่ายภาพดูกันบ้างครับ

1. โฟกัสภาพที่ดาวศุกร์ โดยใช้ Live view ช่วยในการโฟกัสดาวให้คมชัดที่สุด โดยการซูมที่ Live view 10X เพื่อดูว่าดาวเป็นจุดเล็กที่สุดหรือไม่ หลังจากโฟกัสได้แล้วก็สามารถนำกล้องไปถ่ายดาวบริเวณอื่นๆของท้องฟ้าได้ทั้งหมด เพราะดาวอยู่ที่ระยะอินฟินิตี้นั่นเองครับ (อย่าลืมปรับกล้องเป็นระบบถ่ายภาพแบบแมนนวล โหมด M และปิดระบบกันสั่นด้วยนะครับ)
ภาพตัวอย่างการโฟกัส โดยใช้ดาวศุกร์และซูมภาพด้วย Live view และปรับภาพให้ดาวเป็นจุดเล็กที่สุด
2. ใช้สูตรการคำนวณ Rule of 400/600 ในการคำนวณเวลาการถ่ายภาพ (รายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/5fUlJF) มาใช้ร่วมด้วย เพื่อให้เราสามารถถ่ายภาพให้ดาวยังเป็นจุดในเวลาที่นานที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เราเลือกใช้ค่า ISO ที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพ และทำให้ได้ Signal to Noise ที่ดี

3. ใช้เลนส์มุมกว้าง เพื่อให้สามารถเก็บภาพทั้งแสงจักรราศีและแนวทางช้างเผือกไว้ด้วยกัน เพราะแนว แสงจักรราศีนั้นสูงจากขอบฟ้ามากพอสมควร โดยมีทิศทางตามแนวเส้นสุริยะวิถี

4. ใช้รูรับแสง (Aperture) ที่กว้างที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรับแสงมากยิ่งขึ้น

5. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) สูงๆ ไว้ก่อน เมื่อถ่ายติดแล้วจึงค่อยๆ ลดค่า ISO ลงมาเพื่อให้ได้ภาพที่เหมาะสมไม่มีสัญญาณรบกวนมากเกินไป ซึ่งในการเลือกใช้ค่า ISO นั้น เราอาจเริ่มจาก ISO 2000 ถ่ายภาพดูก่อนว่าได้รายละเอียดที่ดีไม่

6. เปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction และ High ISO Speed Noise Reduction เพื่อให้กล้องช่วยลดสัญญาณรบกวนของภาพได้ดีขึ้น และการเปิดระบบ High ISO นั้นระบบของกล้องก็จะช่วยลดสัญญาณรบกวนในส่วนเงามืดทำให้ได้รายละเอียดที่ดีขึ้น เมื่อใช้ความไวแสงสูง

7. ปรับเร่ง Contrast อันนี้สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยถ่ายภาพแสงจักรราศีนะครับ เพราะบางคนอาจมองไม่ออกว่าอันไหนคือแสงจักราศี ก็สามารถใช้วิธีการปรับเร่ง Contrast ในเมนูหลังกล้องได้ครับ

สุดท้ายสำหรับสิ่งที่อยากแนะนำจากประสบการณ์ส่วนตัวคือ ในการถ่ายภาพผมจะถ่ายไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่หมดแสงสนธยา ก็จะถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับปรับตั้งค่า WB และค่า ISO ตามสภาพแสงที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่สามารถถ่ายได้ แล้วค่อยนำภาพมาเลือกในภายหลัง ด้วยวิธีนี้ผมคิดว่าน่าจะทำให้ได้ภาพที่ดีที่สุดครับ
ภาพถ่ายแนวทางช้างเผือกกับแสงจักรราศี ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ช่วงเวลา 18.56 น. (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 35 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 1600 / Exposure : 15sec)

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน








กำลังโหลดความคิดเห็น