มาถึงแล้วกับการส่งภาพเข้าร่วมประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2559 กับทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยในกิจกรรมนี้ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจ ประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่น หรือมืออาชีพ ได้ปล่อยของส่งภาพเข้าร่วมประกวด เพื่อร่วมชิงรางวัลทั้งเงินสดรวมกว่า 160,000 บาท และของรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
ในปีนี้ที่ผ่านๆ มา หลายคนคงมีโอกาสได้ออกไปถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นภาพทางช้างเผือก กลุ่มดาว เส้นแสงดาว กาแล็กซี เนบิวลา ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ อาทิ สุริยุปราคาบางส่วน ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ฝนดาวตก ภาพดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ หรือแม้แต่เมฆสี ฟ้าฝ่า และอื่นๆอีกมากมาย ผมหนึ่งผู้ดำเนินโครงการประกวดภาพถ่าย จึงขอเชิญชวนผู้หลงรักการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยของ ภาพถ่ายดาราศาสตร์ของแต่ละคน ซึ่งภาพที่ส่งเข้าประกวดทุกภาพเราจะได้นำไปเผยแพร่ให้แก่สายตาคนไทยทั่วประเทศ
โดยในการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ในปีนี้ เราแบ่งประเภทของภาพถ่ายออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ประเภทภาพถ่าย Deep Sky Objects ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ประเภทภาพถ่ายวัตถุในระบบสุริยะ ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ และประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก
ในคอลัมน์นี้ ผมจึงขออธิบายเกี่ยวกับการภาพถ่ายแต่ละประเภท เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า ภาพถ่ายของเราที่เคยภาพเก็บไว้นั้น เป็นภาพประเภทไหน และสามารถโปรเซสภาพด้วยวิธีการใดได้บ้าง ที่เรียกว่าไม่ผิดกติกา เอาหล่ะครับ เรามาเริ่มกันเลยกับประเภทแรก
1. ประเภทภาพถ่าย Deep Sky Objects ได้แก่ภาพถ่าย กาแล็กซี, เนบิวลา, กระจุกดาว เป็นต้น
ตัวอย่างภาพถ่ายประเภทภาพถ่าย Deep Sky Objects
สำหรับภาพประเภทนี้จะเป็นภาพถ่ายกาแล็กซี, เนบิวลา, กระจุกดาว ในลักษณะมุมแคบ หรือการถ่ายเฉพาะเจาะจงแค่เพียงตัววัตถุเท่านั้น จะไม่มีฉากหน้าเป็นวิวบนพื้นโลกปรากฏอยู่ในภาพ โดยภาพประเภทนี้ผู้ถ่ายต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญทางดาราศาสตร์ และเทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ค่อนข้างมาก รวมทั้งเทคนิคการประมวลผลภาพถ่ายหลายขั้นตอน
ผู้ถ่ายภาพจะต้องบอกรายละเอียดถึงอุปกรณ์ ขั้นตอนการถ่ายภาพ เทคนิคการประมวลผลภาพถ่ายอย่างละเอียดเพื่อสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ เพื่อป้องกันการคัดลอกภาพจากอินเทอร์เน็ตมาส่งประกวด
2. ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ได้แก่ภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก ซูเปอร์มูน ดาวพุธผ่านหนังดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ชุมนุม ดาวเคียงเดือน เป็นต้น
ตัวอย่างภาพถ่ายประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
โดยภาพถ่ายประเภทนี้ผู้ถ่ายสามารถใช้เทคนิคการรวมภาพ (Stacking Images) โดยต้องเป็นภาพถ่ายจากที่เดียวกันสถานที่เดียวกัน และเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ได้ไม่ผิดกติกา นอกจากนั้นภาพประเภทนี้ยังถ่ายได้ทั้งภาพมุมแคบและมุมกว้างได้อีกด้วย ซึ่งผู้ถ่ายสามารถอธิบายเทคนิคการถ่ายภาพและกระบวนการโปรเซสภาพเพื่อใช้ในการตรวจสอบร่วมการพิจารณาด้วย
ในปีนี้หากใครมีโอกาสได้ถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ฝนดาวตกเจมีนิดส์ Super Moon Blue Moon ดาวเคราะห์ชุมนุม ก็สามารถส่งประกวดันได้ครับ (แอบบอกนิดนึง ภาพประเภทนี้คนส่งประกวดค่อนข้างน้อยครับ)
3. ประเภทภาพถ่ายวัตถุในระบบสุริยะ ได้แก่ภาพถ่ายดาวเคราะห์ ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เป็นต้น
ตัวอย่างภาพถ่ายประเภทภาพถ่ายวัตถุในระบบสุริยะ
ภาพประเภทวัตถุในระบบสุริยะ ถือเป็นอีกประเภทภาพถ่ายที่มีความหลากหลายในวิธีการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะถ่ายด้วยกล้องดิจิตอล SLR หรือถ่ายดาวเว็ปแคมในรูปแบบวีดีโอแล้วนำมา Stacking หรือถ่ายด้วยอุปกรณ์อื่นๆ ก็ไม่ถือว่าผิดกติกา เนื่องจากปัจจุบันนักถ่ายภาพดาวเคราะห์มีการใช้เทคนิคที่หลากหลายในการถ่ายภาพรวมทั้งเทคนิคการโปรเซสภาพที่ซับซ้อน ดังนั้นผู้ถ่ายภาพปรเภทนี้ควรอธิบายเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพมาโดยละเอียด เพื่อประกอบการพิจารณาด้วยครับ
4. ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ ได้แก่ภาพถ่ายที่ประกอบด้วยวัตถุบนพื้นโลกกับวัตถุบนท้องฟ้าที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ เช่น ภาพทางช้างเผือก กลุ่มดาวกับวิวทิวทัศน์ แสงจักรราศี เส้นแสงดาว ดวงอาทิตย์ตกดิน เป็นต้น
ตัวอย่างภาพถ่ายประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
สำหรับภาพประเภทนี้น่าจะได้รับความนิยมกันมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นภาพทางช้างเผือก แสงจักรราศี หรือเส้นแสงดาว ที่มักเป็นภาพที่หลายๆคนชื่นชอบในการเริ่มต้นถ่ายภาพทางดาราศาสตร์กันมากที่สุด และก็เป็นภาพที่ส่งเข้าร่วมประกวดกันมากที่สุด ดังนั้นช่วงเวลาที่เหลือนี้ก่อนปิดรับสมัครส่งภาพ หากวันไหนฟ้าใสไร้เมฆ ไร้แสงรบกวนอาจลองออกไปเก็บภาพทางช้างเผือกในช่วงเวลาที่เหมาะกับการถ่ายภาพทางช้างเผือกมาร่วมส่งประกวดกันได้นะครับ ไม่แน่ภาพของคุณอาจกลายเป็นภาพที่ดีที่สุดของการประกวดในปีนี้ก็ได้
โดยผู้ถ่ายสามารถใช้เทคนิคการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการซ้อนภาพ การถ่ายภาพแบบ HDR ได้ทั้งสิ้น รวมทั้งกระบวนการโปรเซสภาพต่างๆ แต่ภาพถ่ายนั้นต้องไม่ใช้ภาพที่เกิดจากการรัทัช ตัดแปะ หรือถ่ายต่างที่ต่างเวลากัน แบบนี้ผิดกติกาครับ
5.ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ได้แก่ภาพเมฆสี ดวงอาทิตย์ทรงกลด ดวงจันทร์ทรงกลด รุ้งกินน้ำ ฟ้าผ่า พายุงวงช้าง หรือปรากฏการณ์ทางแสงต่างๆ เป็นต้น
ตัวอย่างภาพถ่ายประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก
ภาพถ่ายประเภทสุดท้ายนี้ ค่อนข้างหลากหลาย และสามารถถ่ายได้หลายโอกาศ หลายช่วงเวลา และถ่ายได้ทั้งบนบก บนฟ้า ได้ทั้งนั้น หากเป็นภาพที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ซึ่งภาพประเภทนี้บางครั้งก็ถ่ายได้แบบง่ายๆ ปกติทั่วไป บางภาพก็ต้องใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องแล้วนำภาพมารวมกัน เช่น ภาพฟ้าผ่า หรือการถ่ายภาพแบบพาโนรามา ก็ทำได้ไม่ผิดกติกาครับ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผมขออนุญาตสรุปแบบโดยรวม ว่าผู้ส่งภาพเข้าประกวดสามารถถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์ถ่ายภาพอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น CCD กล้องดิจิตอล SLR กล้องดิจิตอลแบบคอมแพค หรือแม้แต่กล้องจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟนก็ไม่ถือว่าผิดกติกาครับ
ตัวอย่างอุปกรณ์ถ่ายภาพที่สามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพได้โดยไม่ผิดกติกาการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์
นอกจากนั้นกระบวนการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคและการโปรเซสภาพนั้น ผู้ส่งภาพเข้าประกวดสามารถใช้เทคนิคและกระบวนการได้อย่างหลากหลาย ทั้งการซ้อนภาพที่ถ่ายจากวันและเวลาเดียวกัน การถ่ายภาพแบบต่อเนื่องแล้วนำมารวมกัน การถ่ายภาพแบบพาโนรามา การถ่ายภาพแบบ HDR หรือการถ่ายภาพที่ค่าแสงแตกต่างกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งถือว่าไม่ผิดกติกา
***แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ การคัดลอกภาพผู้อื่นมาส่งประกวด การตัดแปะภาพ หรือการแต่งภาพที่ไม่เป็นความจริง สิ่งเหล่านี้จะถูกตัดสิทธิ์ทันทีก่อนการคัดเลือกจากคณะกรรมการ
ตัวอย่างการถ่ายภาพและเทคนิคการประมวลผลภาพแบบต่างๆ ที่ไม่ถือว่าผิดกติกา
ตัวอย่างการถ่ายภาพประเภท Deep Sky Object ที่ต้องถ่ายภาพทั้ง Light Frame, Dark Frame, Flat Field และยังต้องนำภาพต่างมาประมวลผลอีกมากมาย
ตัวอย่างภาพถ่าบปรากฏการร์ฝนดาวตก ที่ถ่ายภาพแบบต่อเนื่องในตำแหน่งเดียวกันแล้วนำภาพจำนวนหลายร้อยภาพมารวมกัน เพื่อให้ได้ภาพฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายตัวที่ชัดเจน
ตัวอย่างภาพถ่ายทางช้างเผือกแบบตามดาว โดยถ่ายภาพมา 2 ภาพ ภาพแรกเป็นภาพที่กล้องถ่ายเก็บฉากหน้านิ่งอยู่กับที่ และภาพที่ 2 เป็นภาพที่ถ่ายแนวทางช้างเผือกแบบตามดาว แล้วนำภาพทั้งคู่มารวมกันใน Photoshop เพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้น
ตัวอย่างภาพถ่ายทางช้างเผือกแบบพาโนรามา โดยการถ่ายภาพมาทั้งหมดกว่า 20 ภาพ แล้วนำภาพทั้งหมดมาต่อกันใน Photoshop เพื่อเก็บท้องฟ้ามุมกว้าง
ตัวอย่างภาพถ่ายด้วยเทคนิค HDR โดยถ่ายภาพในค่าแสงที่แตกต่างกัน แล้วนำภาพทั้งหมดมารวมกันเพื่อให้ได้รายละเอียดทั้งส่วนมืดและส่วนสว่างในภาพเดียวกัน
ตัวอย่างการถ่ายภาพฟ้าผ่า โดยการถ่ายภาพฟ้าผ่าแบบต่อเนื่องหลายๆชั่วโมงในสถานที่และตำแหน่งเดียวกัน และวันเดียวกัน จากนั้นนำภาพมารวมกันเพื่อให้ได้ภาพเส้นสายฟ้าที่เด่นชัดมากขึ้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงการแนะนำเพื่อให้เข้าใจกฏและกติการของการถ่ายภาพ คงทำให้หลายคนที่คิดดอย่างจะร่วมกิจกรรมส่งภาพเข้าร่วมประกวดสบายใจกันมากขึ้นนะครับ เพราะเทคนิคในการถ่ายภาพและกระบวนการในการโปรเซสภาพถ่ายดาราศาสตร์นั้น เปิดกว้างมากกว่าประเภทอื่นๆ ดังนั้น คุณสามารถคิดนอกกรอบและใส่ไอเดียใหม่เข้าไปในภาพถ่ายของคุณ และส่งประกวดให้ชาวโลกได้ชื่นชมกันได้ กับโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ในหัวข้อมหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2559 กันได้ครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน